posttoday

'สามมิตร' เขย่าเพื่อไทย 

03 กรกฎาคม 2561

ร้อนจนเพื่อไทยต้องรีบออกมาร้องให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เร่งตรวจสอบปฏิบัติการดูดของกลุ่มสามมิตรที่ทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย​์ 

ร้อนจนเพื่อไทยต้องรีบออกมาร้องให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เร่งตรวจสอบปฏิบัติการดูดของกลุ่มสามมิตรที่ทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ถึงขั้น​หากปล่อยให้เป็นเช่นนี้ต่อไปย่อมมีแต่จะสั่นคลอนความเป็นเอกภาพภายในพรรค ที่นับวันมีแต่จะถูกกัดเซาะหนักขึ้นเรื่อยๆ ในหลายพื้นที่

​ที่สำคัญปฏิบัติการดูดแบบเปิดเผยที่ท้าทายคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งสะกดไม่ให้พรรคการเมืองออกมาเคลื่อนไหวตลอด 4 ปีที่ผ่านมา แต่เหมือนคำสั่งนี้จะไม่มีผลกระทบต่อการเคลื่อนไหวของกลุ่มสามมิตรที่เดินเกมหนักขึ้นเรื่อยๆ

​อีกทั้ง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ​ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ยังให้สัมภาษณ์ถึงกรณีนี้ว่า​ “เขาไม่ได้ไปหาเสียงอะไร ขณะนี้พรรคการเมืองยังไม่มีการเปิดตัว เขาไม่ได้คุยกันเรื่องต่อต้านอะไร ไม่ได้รวมตัวกันเพื่อปั่นป่วนทำให้เกิดความวุ่นวายในรัฐบาล ซึ่งการพูดคุยดังกล่าวเป็นเรื่องของบุคคล ไม่ใช่เรื่องการทำงานทางการเมือง”

ยิ่งเสมือนเป็นใบเบิกทางให้การเคลื่อนไหวของกลุ่มสามมิตรรุกหนักได้มากขึ้น โดยไม่ต้องกังวลต่อกฎกติกาที่มีโทษถึงขั้นยุบพรรค 

ที่ผ่านมา “เพื่อไทย” พยายามแสดงความเป็นปึกแผ่นภายในพรรคโต้กระแสเลือดไหลไม่หยุด โดยยืนยันว่ากลุ่มที่ไหลออกแบบชัดเจนมีเพียงแค่ จ.เลย ส่วนที่เหลือเป็นเพียงแค่กระแสข่าว หลายคนยังยืนยันอยู่กับพรรคในเวลานี้​

อีกทั้งกลุ่มที่ไปอยู่กับพรรคพลังประชารัฐหลายคนเป็น​แค่อดีต สส.-สว.ที่ห่างพื้นที่ไปนาน รวมไปถึงกลุ่มที่มีปัญหาส่วนตัว มีคดีความ ​บางส่วนเป็นเรื่องของการทับซ้อนในพื้นที่จากระบบเขตเลือกตั้งที่ลดลง 400 เขต เหลือ 350 เขต หลายคนที่อาจไม่ได้ลงระบบเขตจึงย้ายออกไป

พร้อมแสดงความมั่นใจว่าเลือกตั้งครั้งหน้าอย่างไรก็ยังจะชนะการเลือกตั้งเหมือนที่ผ่านมา

แต่จากการขยับที่ปรากฏก็แสดงให้เห็นว่าเพื่อไทยไม่อาจนิ่งนอนใจการรุกคืบของกลุ่มสามมิตรในฐานะแกนนำ​ที่กำลังขยับดึงอดีต สส.เพื่อไทย ไปเสริมทัพให้กับพรรคพลังประชารัฐที่มีความเข้มแข็ง ทั้งอำนาจรัฐ อำนาจทุน จนเรียกได้ว่าเป็นคู่แข่งที่น่ากลัวกว่าที่ผ่านมาของ​เพื่อไทย

ดังจะเห็นจากการตัดไฟแต่ต้นลม ยื่นเรื่องต่อ กกต.​ ทั้งให้ระงับ ไม่อนุญาตให้จัดตั้งพรรคพลังประชารัฐ และตรวจสอบกรณีกลุ่มสามมิตรที่นำโดย ​สมศักดิ์ เทพสุทิน ​สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ และสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เนื่องจากมีการดูดอดีต สส.เพื่อไปร่วมพรรคพลังประชารัฐ 

อันอาจเข้าข่ายความผิดตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 169 (4) ที่บัญญัติห้ามมิให้คณะรัฐมนตรีใช้ทรัพยากรของรัฐ หรือบุคลากรของรัฐ เพื่อกระทำการใดอันอาจมีผลต่อการเลือกตั้ง และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 30, 31 ที่ห้ามมิให้พรรคการเมืองหรือผู้ใด ให้ เสนอให้ หรือสัญญาว่าจะให้เงิน หรือประโยชน์อื่นใด ไม่ว่าโดยตรง หรือโดยอ้อมเพื่อจูงใจให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดสมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรค และห้ามมิให้ผู้ใดเรียก รับ หรือยอมรับเงิน ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด จากพรรคการเมือง หรือจากผู้ใดเพื่อสมัครเข้าเป็นสมาชิก โดยจะมีโทษจำคุก 5-10 ปี ปรับ 1-2 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง

นอกจาก ปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข เปล่งมณี เร่งสมบูรณ์สุข และวันชัย บุษบา อดีต สส.เลย ที่เปิดตัวย้ายซบพรรคพลังประชารัฐอย่างเป็นทางการแล้ว หลายพื้นที่เริ่มเห็นการขยับ​ต่อสายพูดคุยจาก “กลุ่มสามมิตร” และอยู่ระหว่างการตกลงในรายละเอียด 

ไม่ว่าจะเป็น สันติ พร้อมพัฒน์ อดีต รมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ไปจนถึงอดีตสส.ทั้งใน จ.ชัยภูมิ กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด อุบลราชธานี อุดรธานี ​แม้แต่นครปฐมของตระกูลสะสมทรัพย์ เวลานี้ก็ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะเหนียวแน่นอยู่กับเพื่อไทยแค่ไหน

นับจากนี้จึงมีโอกาสที่เห็นการทยอยเปิดตัว สส.​ที่ย้ายจากเพื่อไทยไปอยู่กับพลังประชารัฐ

เมื่อฝั่งพลังประชารัฐเองก็ต้องเร่งสร้างราคาให้เห็นว่าเป็นเป้าหมายที่หลายคนต้องการย้ายเข้า ทั้งดึงดูดคนที่กำลังคิดหนักว่าจะย้ายหรือไม่ย้าย อีกด้านหากตัดสินใจย้ายช้าเกินไปย่อมอาจไม่ทันคนอื่นที่ได้รับการทาบทามจนเกิดการทับซ้อนในเรื่องพื้นที่

​ช่วงโค้งสุดท้ายปรากฏการณ์ไหลออกจึงน่าจะหนักขึ้นในช่วงใกล้เดดไลน์ที่ต้องแสดงความชัดเจนว่าแต่ละคนจะลงสมัครในนามพรรคใด