posttoday

การเมืองฝุ่นตลบ ยกแรกการปั่นราคา

28 มิถุนายน 2561

บรรยากาศการเมืองเริ่มเข้าสู่โหมดฝุ่นตลบอีกครั้ง ในวันที่เส้นทางเลือกตั้งมีความชัดเจนมากขึ้น

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

บรรยากาศการเมืองเริ่มเข้าสู่โหมดฝุ่นตลบอีกครั้ง ในวันที่เส้นทางเลือกตั้งมีความชัดเจนมากขึ้น เริ่มตั้งแต่ในแง่กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งรัฐบาลได้นำร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง สส. และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว.​ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายตั้งแต่เมื่อวันที่ 15 มิ.ย.ที่ผ่านมา

สอดรับกับที่ พล.อ.ประยุทธ์​ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)​ กล่าวยืนยันกับเทเรซา เมย์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ว่า ต้นปีหน้าจะมีการเลือกตั้งอย่างแน่นอน เพราะกฎหมายที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งต่างๆ หลายฉบับทยอยประกาศมีผลบังคับใช้แล้ว และการเดินหน้าเข้าสู่ประชาธิปไตยของไทยจะต้องมีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับและเหมาะกับบริบทของความเป็นไทยด้วย

ขณะที่กระบวนการเตรียมความพร้อมเริ่มขยับ ล่าสุด การหารือ 4 ฝ่าย ระหว่างรัฐบาล คสช. คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) และพรรคการเมือง เพื่อรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับการเตรียมการเลือกตั้งที่สโมสรทหารบก ซึ่ง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณรองนายกฯ และ รมว.กลาโหม เป็นประธาน ทำให้เริ่มเห็นทิศทางความชัดเจนตามลำดับ

กรอบเวลาเลือกตั้งที่มีการพูดถึงในที่ประชุมอยู่ในช่วง​เดือน ก.พ.-พ.ค. โดยยึดเอาทุกวันอาทิตย์สิ้นเดือนมาเป็นกรอบ​ทั้งวันที่ 24 ก.พ. 2562 วันที่ 31 มี.ค. 2562 และวันที่ 28 เม.ย. 2562 ​ส่วนจะช้าหรือเร็วขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งต้องพิจารณาประกอบ

ความชัดเจนที่ปรากฏขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ช่วงที่ผ่านมาเริ่มการเคลื่อนไหวของอดีตนักการเมืองที่เริ่มขยับขยายทั้งการตั้งพรรคใหม่ หรือการย้ายไปสังกัดพรรคอื่นจนทำให้อดย้อนนึกถึงบรรยากาศ​การเมืองแบบเดิมๆ ซึ่งวนเวียนย้อนกลับมาอีกครั้ง

ก่อนหน้านี้ปรากฏการณ์ดูดที่หนักหน่วงของพรรคพลังประชารัฐ​ ส่งผลให้การเมืองภายในพรรคหลายพรรคสั่นคลอน เกิดการไหลออกของอดีต สส.จนทางแกนนำ ผู้บริหารต้องรีบหามาตรการออกมาสกัดเป็นการด่วน 

นำมาสู่เสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงถึงรูปแบบการเมืองที่มีแต่จะเดินถอยหลัง และสวนทางกับการปฏิรูปที่รัฐบาล คสช.​กำลังเดินหน้าปลุกปั้น หวังว่าจะเดินหน้าวางบรรทัดฐานการเมืองในรูปแบบที่ควรจะเป็น

เดิมพันสำคัญของพรรคประชารัฐในการก้าวสู่สนามเลือกตั้งครั้งนี้คือเป้าหมายเอาชนะคู่แข่งคนสำคัญอย่างพรรคเพื่อไทยที่ผูกขาดชนะการเลือกตั้งอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

แน่นอนว่าเวลานี้ ทั้งอำนาจรัฐและงบประมาณที่อัดฉีดลงพื้นที่อย่างต่อเนื่อง​ ทำให้พรรคพลังประชารัฐย่อมถูกมองว่าได้เปรียบ จนทำให้กลุ่มทุนไม่น้อยหันมาเลือกข้างสนับสนุนที่ยิ่งทำเป็นต่อในสนามเลือกตั้งครั้งใหม่ 

การทยอยเปิดตัวของอดีต สส.​ที่เข้ามาร่วมงานกับพรรคพลังประชารัฐ จึงคล้ายเป็นโดมิโนตัวแรกดึงดูดให้บรรดาอดีต สส.ที่มั่นอกมั่นใจในฐานเสียงของตัวเองย้ายมาร่วมงานกับพรรคพลังประชารัฐที่มีกระสุนดินดำพร้อมเพรียง

​ยิ่งล่าสุดการออกมาขยับของกลุ่ม “สามมิตร” สมศักดิ์ เทพสุทิน สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ และสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ส่งสัญญาณเดินหน้าเอาจริงในการเลือกตั้งรอบนี้ยิ่งปลุกให้การย้ายพรรคช่วงนี้คึกคักมากขึ้น

แต่ทุกอย่างก็ยังไม่ชัดเจนโดยเฉพาะกระแสข่าวอดีต สส.กว่า 40 คน จากเพื่อไทยที่เตรียมย้ายไปสมทบกับพรรคพลังประชารัฐ เพราะหากเช็กยอดจริงๆ หลายคนยังไม่ได้ประกาศตัวแสดงความชัดเจน

ไม่ต่างจากบรรยากาศเลือกตั้งที่ผ่านมา ซึ่งมองว่าปรากฏการณ์ทำนองนี้เป็นเพียงแค่การปั่นราคาให้กับตัวเอง ก่อนที่จะชี้ขาดกันในช่วงโค้งสุดท้ายที่ต้องตัดสินใจเลือกพรรคใดพรรคหนึ่ง 

อย่าลืมว่าแม้พลังประชารัฐจะมีทั้งอำนาจรัฐและอำนาจทุน แต่ด้วยฐานเสียงของเพื่อไทยที่เหนียวแน่นมายาวโดยเฉพาะพื้นที่อีสานและภาคเหนือ การย้ายออกไปลงสนามกับพรรคอื่นอาจไม่ใช่เรื่องง่ายในการรักษาพื้นที่ของตัวเอง ในวันที่กระแสนิยม ทักษิณ 
ชินวัตร อดีตนายกฯ ยังไม่ลดเลือนไป

การให้สัมภาษณ์กับบีบีซีไทย ล่าสุดของทักษิณ ยังระบุว่า เพื่อไทยจะชนะที่หนึ่งแน่นอน เมื่อเข้าคูหาแล้วประชาชนคิดอย่างไร อย่าประเมินประชาชนต่ำไป

“สส.ที่ออกจากเพื่อไทยมีน้อย ส่วนใหญ่ก็มีคดี จะได้หลุดคดีซะทีไปเหอะ ไปเข้าข้างนั้นเหอะ เพราะเขาเอาคดีมาขู่แล้ว กับอีกประเภทคือเป็นหนี้เป็นสิน อยู่ๆ เอาเงินก้อนใหญ่มาให้ก็น่าสนใจอยู่ กับอีกประเภทคืออาจจะมั่นใจตัวเองว่าตัวเองเป็นที่นิยมดีและคิดว่าได้ตังค์เยอะด้วยก็น่าจะไป”

สัญญาณเหล่านี้ย่อมกระตุกให้อดีต สส.ที่คิดจะย้ายพรรคต้องคิดหนักขึ้น โดยเฉพาะกับอนาคตทางการเมืองที่ไม่ได้จบแค่เพียงการเลือกตั้งครั้งนี้ ​การออกมาส่งสัญญาณย้ายพรรคบางครั้ง จึงอาจเป็นเพียงแค่การเช็กกระแสวัดการตอบรับในพื้นที่ว่าคิดเห็นอย่างไร

อีกด้านหนึ่งอาจถูกมองว่าเป็นการปั่นราคาตัวเองให้ได้มากที่สุดในสถานการณ์ที่พรรคไหนๆ ก็ต้องการชัยชนะในการเลือกตั้งครั้งนี้ และจำเป็นต้องทำทุกวิถีทางเพื่อจะทำให้ตัวเองไปถึงจุดหมายที่ต้องการ

นี่จึงเป็นเพียงแค่ยกแรก​ที่ไม่อาจด่วนสรุปได้ว่าใครจะย้ายเข้าย้ายออกไปพรรคไหนอย่างไร การแข่งขันจากนี้น่าจะดุเดือดขึ้นเรื่อยๆ และทั้งหมดต้องรอจนถึงเดดไลน์สุดท้ายที่แต่ละคนต้องตัดสินใจ