posttoday

‘ประยุทธ์’ เตรียมเปิดตัว ชิงจังหวะ ลดแรงกดดัน

27 มิถุนายน 2561

“ผมสามารถที่จะให้คำตอบได้ในเดือน ก.ย. ผมจะให้ความชัดเจนกว่านี้เมื่อถึงเวลานั้น ผมยังมีเวลา”

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์​

“ผมสามารถที่จะให้คำตอบได้ในเดือน ก.ย. ผมจะให้ความชัดเจนกว่านี้เมื่อถึงเวลานั้น ผมยังมีเวลา”

สัญญาณชัดเจนจากปาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในการให้สัมภาษณ์กับบลูมเบิร์กต่อการตัดสินใจว่าจะลงเล่นการเมืองหรือไม่ 

แม้ทาง พล.อ.ประยุทธ์​ จะตอบแบบแบ่งรับแบ่งสู้ว่า “เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับคนไทย”  แต่หากถอดนัยทางการเมืองที่ระบุว่า “เมื่อผมเดินทางมาต่างประเทศ คนไทยบางส่วนที่ผมพบ ต้องการให้นโยบายของผมเดินหน้าต่อไปในประเทศไทย” ก็พอจะคาดเดาเส้นทางอนาคตทางการเมืองของ พล.อ.ประยุทธ์ ได้ไม่ยาก

ทว่าเส้นทางที่ให้เลือกเดินสู่สนามการเมืองของ พล.อ.ประยุทธ์ เหลืออยู่ไม่มากนัก

ทั้งเรื่องการตัดสินใจลงสมัครรับเลือกตั้ง ซึ่งเป็นที่พรรคการเมืองต่างๆ พยายามเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ เข้าสู่สนามการเมืองอย่างเท่าเทียม และให้ประชาชนเป็นคนตัดสินใจชี้ขาดในการลงคะแนนเลือกตั้ง

แต่แน่นอนว่าเส้นทางปิดตายไปแล้วด้วยเงื่อนไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งกำหนดว่าหาก พล.อ.ประยุทธ์ จะลงสมัครรับเลือกตั้ง สส. ต้องลาออกภายใน 90 วัน ภายหลังจากรัฐธรรมนูญบังคับใช้ ซึ่งจะครบกำหนดภายในวันที่ 5 ก.ค.ที่ผ่านมา ​

ทางเลือกจึงเหลืออยู่แค่ “นายกรัฐมนตรีคนใน” และ “นายกรัฐมนตรีคนนอก”

ในจังหวะที่กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งใกล้ประกาศใช้ จำเป็นที่ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องตัดสินใจว่าจะก้าวสู่ถนนการเมืองอย่างไร เพราะหากช้าเกินไปก็จะไม่เป็นผลดี 

โดยเฉพาะหาก​ พล.อ.ประยุทธ์ จะเลือกเปิดตัวในฐานะตัวเลือกนายกรัฐมนตรี 1 ใน 3 รายชื่อของพรรคใดพรรคหนึ่ง ที่จะเสนอให้ประชาชนพิจารณาก่อนการเลือกตั้ง ก็ต้องรีบตัดสินใจประกาศตัวเอง

เส้นทางนี้มีความเป็นไปได้สูงเพราะหากคำนวณจากตัวช่วยจาก 250 เสียง ของ สว.ชุดเฉพาะกาลแล้ว การจะเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล​ สามารถใช้เสียง สส.เพียงแค่ 126 เสียง 

ล่าสุด ของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่กล่าวกับคนไทยในฝรั่งเศส ว่า “ขอเวลา 5 ปีแรก จะมีการคัดสรร สว. 200 คน และอีก 50 คน ไปคัดสรรมาจากประชาชน 200 คน ผมขอเลือกเองก็แล้วกัน คำว่าผมเลือกเองไม่ใช่ไปเลือกคนเดียว 200 คน ผมไม่รู้จัก ผมก็ต้องตั้งคณะทำงานไปเลือกคนแต่ละกลุ่ม แต่ละฝ่ายมา ซึ่งมีทุกกลุ่ม เพื่อให้เกิดการสอบทาน ตรวจสอบถ่วงดุลกัน”

อีกด้านหนึ่งจะเห็นการขยับเคลื่อนไหวตั้งพรรคพลังประชารัฐของคนใน คสช. ด้วยรูปแบบการดูด สส.จากพรรคต่างๆ และระยะหลังเริ่มเห็นปรากฏการณ์การขยายฐานเสียง ด้วยการดึงแนวร่วมจากการเมืองท้องถิ่น ด้วยการต่อสายผ่านนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ 

ยังไม่รวมกับ “กองหนุน” บรรดาพรรคการเมืองที่ประกาศตัวสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์​ ให้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรี สานต่อภารกิจการปฏิรูปที่เริ่มต้นไว้แล้วให้เดินไปจนถึงจุดหมายปลายทาง 

รวมทั้งล่าสุดกับการเปิดตัวพรรครวมพลังประชาชาติไทย ที่ได้ สุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตแกนนำ กปปส.​ ซึ่งถูกมองว่าจะเป็นอีกกำลังสำคัญที่จะมาสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ ก้าวสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง 

การเตรียมประกาศความชัดเจนทางการเมืองของ พล.อ.ประยุทธ์  ในเดือน ก.ย. จึงอาจเป็นช่วงเวลาที่สุกงอมเพียงพอจะเห็นความชัดเจน ทั้งในแง่ความพร้อม คะแนนนิยม เรื่อยไปจนถึงบริบทอื่นๆ ​

ที่สำคัญการรีบประกาศความชัดเจนทางการเมืองด้านหนึ่งย่อมเป็นประโยชน์กับ คสช. ทั้งในแง่ความชัดเจนสำหรับการหาเสียงเพื่อให้บรรดากองเชียร์ได้ตัดสินใจถูกว่าจะเลือกสนับสนุนพรคใด ไม่ทำให้เสียงกระจัดกระจายในวันที่หลายพรรคประกาศสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ 

อีกด้านความชัดเจนจะช่วยลดแรงเสียดทานที่ย้อนกลับมายัง คสช. ซึ่งถูกมองว่าพยายามชิงความได้เปรียบพรรคการเมืองอื่นๆ ในแง่มุมต่างๆ ในวันที่มีทั้งอำนาจรัฐและงบประมาณในมือ

แต่อีกด้านการเปิดหน้าสร้างความชัดเจนว่าจะลงสู่สนามการเมือง ย่อมหนีไม่พ้นที่จะเป็นเป้าให้ถูกฝ่ายการเมืองรุมถล่มในช่วงการหาเสียงในปมประเด็นความล้มเหลวในการบริหารงานที่ผ่านมา รวมทั้งเป้าใหญ่เรื่องการสืบทอดอำนาจที่อาจเป็นแรงฉุดย้อนกลับมาในอนาคต 

แต่อย่างน้อยการเปิดหน้าเป็น 1 ใน 3 รายชื่อแคนดิเดตนายกฯ ย่อมสง่างาม เพราะอย่างน้อยก็ผ่านฉันทามติของประชาชนมากกว่าการเป็นนายกฯ คนนอกที่จะลอยมาโดยขาดการยึดโยง

​ทั้งหมด ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ เตรียมตัวต้องประกาศความชัดเจนกับการก้าวสู่สนามการเมืองเต็มตัว