posttoday

เปิดถกพรรคการเมือง คสช.ลดอุณหภูมิเดือด

25 มิถุนายน 2561

การออกเปิดเวทีให้กับพรรคการเมืองก่อนกำหนดในครั้งนี้ของคสช. จึงเป็นเหมือนการทอดไมตรีไปยังพรรคการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากในอนาคตมีความจำเป็นที่จะต้องมาจับมือร่วมกันเป็นรัฐบาล

การออกเปิดเวทีให้กับพรรคการเมืองก่อนกำหนดในครั้งนี้ของคสช. จึงเป็นเหมือนการทอดไมตรีไปยังพรรคการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากในอนาคตมีความจำเป็นที่จะต้องมาจับมือร่วมกันเป็นรัฐบาล

*******************************

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

นับตั้งแต่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) เข้ามาบริหารประเทศเป็นเวลา 4 ปี มีน้อยครั้งที่จะตั้งโต๊ะคุยกับพรรคการเมือง ส่วนใหญ่หนักไปทางเชิญนักการเมืองมาปรับทัศนคติมากกว่า เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับการทำงานของ คสช.

มีบางครั้งที่ คสช.เชิญพรรคการเมืองไปอย่างเป็นมิตร เมื่อครั้งเชิญไปหารือกันเรื่องการสร้างความปรองดอง แต่กระบวนการดังกล่าวเป็นเพียงแค่พิธีกรรมที่ไม่ได้ดำเนินการให้เกิดรูปธรรมเท่าใดนัก

คราวนี้ วันที่ 25 มิ.ย. เป็นอีกครั้งที่ คสช.และพรรคการเมืองเปิดห้องนั่งคุยกันเรื่องการเมืองเกี่ยวกับการเลือกตั้งที่สโมสรกองทัพบก ซึ่งเป็นสถานที่เมื่อ 4 ปีที่แล้ว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง ผบ.ทบ. ได้ปิดประตูตีแมวนักการเมืองและทำการรัฐประหาร ทั้งๆ ที่เวลานั้นเชิญนักการเมืองเพื่อมาหาทางออกให้กับประเทศ

การประชุมร่วมกันระหว่าง คสช.และพรรคการเมือง วันที่ 25 มิ.ย. นับว่ามีนัยสำคัญทางการเมืองไม่น้อย เพราะจะเป็นวันที่คนไทยทั้งประเทศจะได้เห็นความชัดเจนทางการเมืองมากขึ้น แม้จะยังไม่ได้ความชัดเจนถึงการประกาศวันเลือกตั้ง แต่อย่างน้อยที่สุดก็เป็นสัญญาณที่ดีว่าการเลือกตั้งจะไม่ถูกบิดพลิ้วอีกครั้ง

สำหรับปัญหาที่พรรคการเมืองต่างต้องการได้ความชัดเจนมากที่สุดในเวลานี้ คือ จะปลดล็อกให้กับพรรคการเมืองหรือไม่ เพราะการปลดล็อกหรือไม่ปลดล็อกจะมีผลโยงไปถึงการทำไพรมารีโหวตของพรรคการเมือง

การทำไพรมารีโหวตเป็นหนึ่งในหัวใจสำคัญของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองพ.ศ. 2560 กล่าวคือ เป็นเงื่อนไขที่พรรคการเมืองต้องทำ เพราะหากพรรคการเมืองไม่ทำตาม จะมีผลให้พรรคการเมืองไม่สามารถส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งนั้นได้

ยิ่งไปกว่านั้นการจะทำไพรมารีโหวตได้ จะต้องเริ่มจากการมีสาขาพรรคการเมืองและตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด โดยจะได้มาซึ่งสาขาและตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด จำเป็นต้องมีสมาชิกพรรคการเมืองเพื่อทำการเลือกบุคคลมาทำหน้าที่ดังกล่าว แต่ทั้งหมดก็ติดหล่มใหญ่ ตรงที่ไม่สามารถประชุมพรรคการเมือง เพราะ คสช.ยังไม่ยอมให้ทำกิจกรรมการเมือง

ด้วยเหตุนี้เองทำให้ที่ผ่านมาพรรคการเมืองพยายามเรียกร้องและกดดันให้ คสช.ปลดล็อก แต่ดูไม่มีท่าทีที่ คสช.จะยอมถอยให้กับพรรคการเมืองเท่าใดนัก โดยอ้างว่าจะปลดล็อกให้ก็ต่อเมื่อร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง สส.และร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว.จะประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาเท่านั้น

เมื่อการทำกิจกรรมทางการเมืองยังมีความคลุมเครืออยู่ ส่งผลให้ตัวแทนของพรรคการเมืองใหญ่อย่าง “พรรคประชาธิปัตย์-พรรคเพื่อไทย” ไม่ค่อยให้ความร่วมมือมากนัก

กรณีของพรรคประชาธิปัตย์ แทนที่จะเป็น “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” หัวหน้าพรรคเดินทางมาเอง กลับส่ง “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” รองหัวหน้าพรรค และ “น.ต.สุธรรม ระหงษ์”

ส่วน “พรรคเพื่อไทย” ยืนยันชัดเจนไม่ขอร่วมสังฆกรรมกับ คสช.ทุกประการ เช่นเดียวกับ “พรรคอนาคตใหม่” ที่ไม่เข้าร่วมเหมือนกัน เพราะมองเห็นว่า คสช.ไม่มีความเป็นกลางทางการเมืองมากพอที่จะมากำหนดแนวทางการเลือกตั้ง

ขณะที่พรรคการเมืองขนาดกลางและเล็กต่างให้ความร่วมมือพอสมควร โดยส่งผู้มีอำนาจเข้ามาร่วมหารือ เช่น พรรคชาติไทยพัฒนา นำโดย “วราวุธ ศิลปอาชา” พรรคชาติพัฒนา จะเป็น “นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล” หัวหน้าพรรค นำมาเอง ไม่ต่างกับ “อนุทิน ชาญวีรกูล” หัวหน้าพรรคภูมิใจไทยที่จะมาด้วยตัวเอง

แน่นอนว่าการหารือในครั้งนี้คงเป็นไปได้ยากที่จะได้ข้อสรุป หรือได้สิ่งที่พรรคการเมืองต้องการทั้งหมด เพราะ คสช.ก็ยังคงหวงอำนาจทางการเมืองพอสมควร

อย่างไรก็ตาม หากจะบอกว่าวัตถุประสงค์หลักของ คสช.ที่ดำเนินการเปิดโต๊ะคุยกับพรรคการเมืองก่อน ทั้งที่คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 53/2560 กำหนดให้หารือกันภายหลังกฎหมายเลือกตั้งประกาศในราชกิจจานุเบกษาครบ 4 ฉบับ คือ ต้องการลดอุณหภูมิการเมืองให้เย็นลง

อย่างที่ทราบกันดีว่าพรรคการเมืองกดดัน คสช.มาเป็นระยะเกี่ยวกับความชัดเจนต่างๆ ในการเลือกตั้ง แต่ คสช.กลับมีท่าทีที่ไม่เป็นมิตรมากนัก แถมออกอาการขู่ว่าจะเลื่อนการเลือกตั้งหลายครั้ง เพราะมองว่าประเทศยังไม่มีความสงบ มีผลให้บรรยากาศการเมืองไม่ค่อยดีมากนัก

ไม่เพียงเท่านี้ ยังทำให้ คสช.ตกเป็นเป้าโจมตีทางการเมืองด้วย อันมีผลไปถึงการเก็บแต้มการเมืองของพล.อ.ประยุทธ์ ที่กำลังเดินสายทั่วประเทศอยู่ในขณะนี้

ดังนั้น การออกเปิดเวทีให้กับพรรคการเมืองก่อนกำหนด จึงเป็นเหมือนการทอดไมตรีไปยังพรรคการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากในอนาคตมีความจำเป็นที่จะต้องมาจับมือร่วมกันเป็นรัฐบาลภายหลังการเลือกตั้ง

เพราะถึงอย่างไรเสีย การเมืองย่อมไม่มีมิตรและศัตรูถาวร