posttoday

ถกพรรคการเมือง เปิดรูคลายแรงกดดัน

21 มิถุนายน 2561

กระบวนการเชิญนักการเมืองมาร่วมพูดคุยช่วงปลายเดือน มิ.ย.นับเป็นอีกหนึ่งในความพยายามสลายแรงกดดันที่ถาโถมมายังรัฐบาลคสช.

ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

กระบวนการเชิญนักการเมืองมาร่วมพูดคุยช่วงปลายเดือน มิ.ย. นับเป็นอีกหนึ่งในความพยายามสลายแรงกดดันที่ถาโถมมายังรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หลังจากไม่อาจสร้างความเชื่อมั่นว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นได้ตามโรดแมปที่เคยประกาศเอาไว้ก่อนหน้านี้หรือไม่

ยิ่งหากจับ “ท่าที” ช่วงที่ผ่านมาของคนใน คสช. ไล่มาตั้งแต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะพบสัญญาณการแบ่งรับแบ่งสู้ที่พร้อมจะขยับการเลือกตั้งออกไปได้เรื่อยๆ หากมีเงื่อนไขหรือ ปัจจัยใหม่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันจะถูกหยิบยกมาเป็นข้ออ้างได้

สอดรับไปกับท่าทีการเลื่อนเลือกตั้งที่ร่นเวลามาเรื่อยๆ จนมีแนวโน้มว่าจะเกินเดือน ก.พ. 2562 ตามเดดไลน์สุดท้ายที่เคยประกาศเอาไว้ 

โดยเฉพาะกับหลายปัญหาที่ยังไม่คลี่คลายง่ายๆ จนหลายฝ่ายเริ่มห่วงว่าอาจส่งผลกระทบต่อการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นระบบใหม่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ในขณะที่พรรคการเมืองเองก็ถูกแช่แข็งมานานกว่า 4 ปี และยังไม่เห็นสัญญาณจาก คสช.ว่าจะปลดล็อกให้ดำเนินกิจกรรมได้เมื่อไหร่ อย่างไร 

ล่าสุดมีแนวโน้มที่ คสช.จะปลดล็อกทีละขั้น เริ่มจากให้พรรคการเมืองสามารถจัดประชุมใหญ่สามัญประจำปี เลือกกรรมการบริหารพรรค แก้ไขหรือยกร่างข้อบังคับพรรคการเมือง ซึ่งเป็นไฟต์บังคับที่ทุกพรรคการเมืองต้องทำเพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายพรรคการเมืองใหม่และรัฐธรรมนูญปัจจุบัน

จากนั้นจึงมาพิจารณากระบวนการเตรียมความพร้อมสำหรับการจัดทำไพรมารีโหวต ที่มีข้อเสนอให้ทั้งงดเว้นในการเลือกตั้งครั้งนี้ หรือหากจะต้องดำเนินการทำไพรมารีโหวตจริงก็อาจต้องให้ คสช.ใช้มาตรา 44 เข้ามาตัดตอนรีบแบ่งเขตเลือกตั้งให้เสร็จเรียบร้อยเพื่อให้พรรคการเมืองสามารถทำทันตามกรอบเวลา

ในช่วงที่เส้นทางการเมืองยังเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน หลายฝ่ายจึงจับจ้องไปยังการประชุมหารือระหว่างพรรคการเมืองและรัฐบาล คสช. หลังจากรอบที่แล้วเป็นการหารือระหว่างคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)​ และกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ที่ได้ข้อสรุปชัดเจนมากขึ้น

แต่รอบนี้การหารือร่วมกับพรรคการเมืองกลับถูกมองว่าเป็นเพียงแค่การลดแรงกดดันจากฝั่งการเมือง ที่ไม่ได้หวังผลจริงจังหรือต้องการรับฟังเสียงสะท้อนจากพรรคการเมืองอย่างแท้จริง จนทำให้หลายพรรคประกาศไม่ร่วมการหารือในรอบนี้

จน​ วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ออกมาดักคอว่าการรีบปฏิเสธไม่ร่วมหารือจะทำให้เสียบรรยากาศเปล่าๆ เมื่อถึงเวลาตอนนั้นจะเห็นเองว่าตัวเองจำเป็นต้องมา ไม่เช่นนั้นจะตกขบวน ขอให้รอดูตอนนั้นดีกว่า แล้วจะรู้ว่ามีประโยชน์ 

ขณะที่บางฝ่ายกลับเห็นว่าการหารือของพรรคการเมืองรอบนี้จะเป็นการสร้างความมั่นใจว่าทุกอย่างจะเดินหน้าไปตามขั้นตอนสู่การเลือกตั้ง

นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล หัวหน้าพรรคชาติพัฒนา กล่าวว่า ​พรรคชาติพัฒนาคิดว่า เป็นนิมิตหมายที่ดีและถือเป็นการเคาต์ดาวน์สู่การเลือกตั้งที่จะเป็นสัญญาณบวกของประเทศ ในด้านสังคม เศรษฐกิจ และความเชื่อมั่นต่อนานาประเทศ

แต่หากมองลึกๆ แล้วการหารือครั้งนี้ไม่ง่ายที่ข้อเสนอจากพรรคการเมืองจะถูกตอบสนองจากฝั่ง คสช. เพราะข้อเสนอหลักที่พรรคการเมืองต้องการ หนีไม่พ้นเรื่องการเร่งปลดล็อกให้ทำกิจกรรม และหาเสียงได้อิสระ ซึ่ง คสช.ส่งสัญญาณเตรียมปลดล็อกท้ายสุด

ล่าสุด พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ระบุว่า การพูดคุยจะเกิดขึ้นก่อนวันที่ 26 มิ.ย.นี้ ซึ่งเป็นวันที่นายกรัฐมนตรีเดินทางกลับจากการเยือนสหราชอาณาจักร และสาธารณรัฐฝรั่งเศส

“ผมอยากฟังว่าเขาต้องการอะไรบ้าง ซึ่งลักษณะการพูดคุยจะมีผม กกต. และวิษณุ จะไปนั่งรับฟังให้เขาถาม อะไรที่เราตอบได้ ก็จะตอบ อันไหนที่เรายังทำไม่ได้ ก็จะเตรียมข้อมูลต่างๆ ไป ชี้แจงในการประชุม แล้วนำมาให้นายกรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้ง เราเพิ่งเชิญไป แล้วแต่ใครอยากมาก็มา ไม่อยากมาก็ไม่ต้องมา”

ตอกย้ำว่า สถานะของ พล.อ.ประวิตร เป็นเพียงแค่ผู้รับสารที่จะนำข้อมูลข้อเสนอจากพรรคการเมืองไปเสนอ พล.อ.ประยุทธ์ อีกทอดหนึ่ง ไม่มีอำนาจตัดสินใจ หรือให้หลักประกันใดๆ กับพรรคการเมืองได้

รูปแบบการหารือจึงน่าจะออกมาในทำนอง​เป็นเพียงแค่การให้ข้อมูลจากฟัง คสช.เสียมากกว่า ส่วนข้อเสนอจากพรรคการเมืองนั้น หาก คสช.จะทำตามที่ขอคงทำให้ตั้งแต่แรกไม่ต้องรอมาจนถึงเวลานี้ 

ยิ่งหากฟังเสียงสะท้อนก่อนหน้านี้ พรรคการเมืองจำนวนไม่น้อยมองว่าการยื้อเวลาปลดล็อกให้พรรคการเมืองทำกิจกรรมได้ เป็นไปเพราะต้องการชิงความได้เปรียบทางการเมือง ในวันที่พรรคพลังประชารัฐเดินหน้า ติดเครื่องเตรียมลงขับเคี่ยวในสนามเลือกตั้งรอบใหม่

สอดรับไปกับปรากฏการณ์ดูด ที่หนักข้อขึ้นจนพรรคการเมืองต้องรีบออกมาดักคอว่าทำให้การเมืองเดินย้อนหลัง และสวนทางการปฏิรูป จนมาถึงกระแสข่าวเรื่องการออกแรงบีบให้นายก อบจ.ในบางพื้นที่เข้ามาร่วมเป็นกลไกสนับสนุนการทำพื้นที่ให้กับ คสช.

ทั้งหมดล้วนแต่ยิ่งก่อตัวเป็นแรงกดดันที่ย้อนกลับมายัง คสช. การหารือร่วมกับพรรคการเมืองจึงเสมือนเป็นรูระบายคลายความกดดันที่มีต่อ คสช.ให้ลดน้อยลงไป