posttoday

เลือกตั้ง"อบจ." เกมเช็กกำลัง"คสช."

18 มิถุนายน 2561

ผลการเลือกตั้งท้องถิ่นจะเป็นดัชนีที่ชี้วัดทั้งความนิยม และความเข้มแข็งในกลไกพื้นที่ว่ามีมากน้อยเพียงไร

ผลการเลือกตั้งท้องถิ่นจะเป็นดัชนีที่ชี้วัดทั้งความนิยม และความเข้มแข็งในกลไกพื้นที่ว่ามีมากน้อยเพียงไร

****************************

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

สัญญาณชัดเจนว่าการเลือกตั้งระดับท้องถิ่นจะเกิดขึ้นก่อนการเลือกตั้งระดับชาติ ส่วนจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ภายในปีนี้หรือไม่ คงต้องขึ้นอยู่กับความพร้อมในแต่ละด้าน ตลอดจน​นโยบายจากฝั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ว่าต้องการให้เกิดขึ้นเมื่อไหร่

เบื้องต้น วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี แบ่งรับแบ่งสู้ว่ายังไม่รู้การเลือกตั้งท้องถิ่นจะเกิดขึ้นภายในปีนี้หรือไม่ ขณะนี้การจัดทำกฎหมายที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งท้องถิ่น 6 ฉบับ คืบหน้าไปแล้วกว่า 90% กำลังไล่ทบทวนอยู่ แต่มีการแก้ไขในเนื้อหาสาระจำนวนมาก ทั้งเรื่องจำนวน คุณสมบัติ ลักษณะต้องห้าม และวิธีในการเลือก เพื่อให้สอดคล้องกับการเลือกตั้ง สส.

ทั้งนี้ เมื่อผ่านขั้นตอนของคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว จะต้องนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาภายในเดือน มิ.ย.นี้ และส่งต่อไปยังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ​ซึ่งคาดว่าจะอยู่ในช่วงเดือน ก.ค.-ก.ย. ต่อจากนั้นเป็นขั้นตอนของการนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย

“ส่วนการเลือกตั้งท้องถิ่น จะจัดให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ก่อนหรือไม่นั้น ไม่ทราบ เพียงแต่อะไรที่ง่ายจะเปิดให้ทำก่อน แต่อะไรที่ง่ายบ้างนั้นก็ยังไม่สามารถตอบได้ เพราะยังไม่แน่ใจเหมือนกัน”​ วิษณุ ระบุ

สอดรับไปกับเงื่อนไข “การปลดล็อกทางการเมือง” ภายหลังการประชุมร่วมกันระหว่าง รัฐบาล กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ​ (กรธ.) เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาและเตรียมนำข้อสรุป 4 ข้อ เสนอนายกรัฐมนตรีเพื่อคลายล็อกทางการเมืองต่อไปตามลำดับ

ที่สำคัญการสมัครเป็นสมาชิกท้องถิ่นไม่ต้องสังกัดพรรคการเมือง ทำเป็นรายบุคคล ไม่ใช่ทำเป็นพรรค ไม่ต้องมีการประชุมพรรค ต่อให้ยังไม่มีการปลดล็อกก็ไม่กระทบต่อการเลือกตั้งท้องถิ่นโดยตรง

ยิ่งหากจับสัญญาณจากพรรคการเมืองที่บางพรรคประกาศจะไม่เข้าร่วมหารือกับทางรัฐบาลในปลายเดือน มิ.ย.นี้ เพื่อเตรียมความพร้อมการเลือกตั้ง ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์​ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ​และ รมว.กลาโหม เป็นประธานการหารือ

นั่นอาจทำให้การหารือนี้ต้องเลื่อนออกไปได้ เพราะไม่ได้กำหนดไว้ในกฎหมายว่าจะต้องจัดเมื่อใด จนอาจเป็นเงื่อนไขที่จะหยิบยกมาเป็นข้ออ้างในภายหลังหากต้องการยื้อการเลือกตั้งออกไป

ต่างจากเลือกตั้งท้องถิ่น ซึ่งรอเพียงความพร้อมในด้านกฎหมายและไฟเขียวจาก คสช.​ก็สามารถเริ่มต้นได้ในทันที ซึ่งหลายพื้นที่ในเวลานี้มีความพร้อม โดยเฉพาะสถานการณ์เวลานี้ผู้บริหารระดับท้องถิ่นทยอยพ้นจากตำแหน่งจนครบทุกจังหวัด เหลืออยู่รักษาการปฏิบัติหน้าที่ได้เพราะคำสั่ง คสช.

อีกด้านการจัดเลือกตั้งท้องถิ่นก่อนเลือกตั้งใหญ่ ยังจะสามารถช่วยลดแรงกดดันอันจะย้อนกลับมายัง คสช.​ในภายหลัง หากการเลือกตั้งใหญ่​อาจมีเหตุให้ต้องเลื่อนออกไปจากกรอบสักเดือนหรือสองเดือน เนื่องจากข้อจำกัดด้านต่างๆ เพราะอย่างน้อยก็พอจะเห็นทิศทางว่ารัฐบาล คสช.มีความตั้งใจที่จะจัดการเลือกตั้งแม้จะเป็นเลือกตั้งท้องถิ่น ก็ยังดีกว่าไม่มีการขยับใดๆ

แต่นัยสำคัญของการเลือกตั้งท้องถิ่น​ในมุมของ คสช.นั้น หนีไม่พ้นการวัดกระแส พร้อมตรวจสอบสรรพกำลังในพื้นที่ผ่านกลไกท้องถิ่นแต่ละแห่งว่ามีความเข้มแข็งและตอบสนองความต้องการของ คสช.ได้มาน้อยแค่ไหน

สอดรับไปกับคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 6/2561 ปลดล็อกให้นายก อบจ. 4 คน ที่เคยถูกพักงานระหว่างการถูกตรวจสอบ ได้กลับเข้าปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งถูกมองว่าเป็นการบีบให้กลับมาช่วยเป็นฐานสนับสนุนในพื้นที่ให้กับพรรค คสช. ที่กำลังเดินหน้าทำงานในพื้นที่ ​

พิจารณาจาก 4 รายชื่อ นายก อบจ. ที่ถูกปลดล็อกให้กลับมาปฏิบัติหน้าที่ ทั้ง ส​ถิรพร นาคสุข นายก อบจ.ยโสธร มลัยรัก ทองผา นายก อบจ.มุกดาหาร บุญเลิศ บูรณุปกรณ์ นายก อบจ.เชียงใหม่ และ​ชัยมงคล ไชยรบ นายก อบจ.สกลนคร จะพบว่าทั้ง 4 คนล้วนอยู่ในพื้นที่สำคัญทางการเมือง

งานนี้แว่วว่าได้มือประสานอย่าง สุชาติ ตันเจริญ แกนนำบ้านริมน้ำ ที่รับหน้าที่สำคัญในการร่วมขับเคลื่อนพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งเคยสร้างปรากฏการณ์ดูด สส.เข้าเป็นขุมกำลังสนับสนุนพลังประชารัฐจนเป็นที่ฮือฮามาแล้ว เป็นคนเดินเกมชักชวน อบจ.พื้นที่ต่างๆ มาเสริมทีม

การเลือกตั้งท้องถิ่นที่จะเกิดขึ้นก่อนเลือกตั้งใหญ่ จึงเสมือนเป็นการตรวจความพร้อมในแต่ละพื้นที่ว่าสุ่มเสี่ยงจะเกิดความวุ่นวายหรือรุนแรงในอนาคตหรือไม่ รวมทั้งผลการเลือกตั้งท้องถิ่นที่จะเกิดขึ้น ยังจะเป็นดัชนีที่ชี้วัดทั้งความนิยม และความเข้มแข็งในกลไกพื้นที่ว่ามีมากน้อยเพียงไร

อันจะนำไปสู่การวางยุทธศาสตร์ของ คสช. ​สำหรับการเตรียมตัวลงสนามเลือกตั้งใหญ่ หลังได้เห็นว่าพื้นที่ไหนที่ยังเป็นจุดอ่อน ต้องปรับเปลี่ยนบุคคลหรือ​กลไกในพื้นที่กันใหม่

​ในเมื่อฐานเสียงของพรรคการเมืองโดยเฉพาะพรรคใหญ่ในแต่ละพื้นที่มีความเข้มแข็งและเหนียวแน่นมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน บางพื้นที่ที่ไม่สามารถดูดได้ จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนมาพึ่งพาฐานเสียงจากท้องถิ่นเป็นการทดแทน

​ระหว่างที่รัฐบาล คสช.​เร่งอัดฉีดเม็ดเงินลงพื้นที่ผ่านโครงการต่างๆ คู่ขนานไปกับการเดินสายลงพื้นที่ และจัด ครม.สัญจรจังหวัดต่างๆ ​ที่จะไปเติมเต็มและเสริมสร้างคะแนนนิยมในแต่ละพื้นที่