posttoday

ปลดแอกไพรมารี เปิดทางอุ้มทุกพรรค

13 มิถุนายน 2561

มีความเป็นไปได้ไม่น้อยที่ คสช.อาจชำเลืองเห็นถึงปัญหานี้และยอมกลืนเลือด เพื่อชะลอการทำไพรมารีโหวตออกไปก่อน

มีความเป็นไปได้ไม่น้อยที่ คสช.อาจชำเลืองเห็นถึงปัญหานี้และยอมกลืนเลือด เพื่อชะลอการทำไพรมารีโหวตออกไปก่อน

****************************

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

แม้ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยว่าร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง สส. และร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว. ไม่มีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีผลให้การเลือกตั้งเดินหน้าได้ตามลำดับ แต่เอาเข้าจริงเวลานี้ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยังแสดงอาการเขี้ยวลากดินทางการเมืองอยู่พอสมควร

ความเขี้ยวลากดินที่ว่านั้นคือ การยังไม่ยอมปลดล็อกเพื่อให้พรรคการเมืองสามารถดำเนินการกิจกรรมทางการเมืองได้อย่างเป็นอิสระ

แน่นอนว่าเหตุผลหนึ่งที่ คสช.ยังไม่ยอมผ่อนเงื่อนไขดังกล่าวลง เป็นเพราะปัจจัยทางการเมืองที่ไม่ต้องการให้นักการเมืองมีความเคลื่อนไหว และกลัวว่า คสช.จะถูกช่วงชิงความได้เปรียบไปจากตัวเอง

แต่ทำไปทำมาจากความต้องการรักษาความได้เปรียบทางการเมืองของ คสช.กำลังสร้างปัญหาครั้งใหญ่กับการเมืองอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งในที่นี้หมายถึงการทำไพรมารีโหวต ปัญหากำลังลุกลามบานปลายถึงขั้นที่พรรคการเมืองเริ่มเรียกร้องให้ คสช.ใช้อำนาจมาตรา 44 ชะลอการทำไพรมารีโหวตออกไปก่อนสำหรับการเลือกตั้งครั้งนี้

สำหรับขั้นตอนของการทำไพรมารีโหวตที่กำหนดไว้ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 จะเห็นได้ว่ามีความซับซ้อนพอสมควร ดังนี้

1.พรรคการเมืองที่จะส่งผู้สมัคร สส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งในเขตใด ต้องมีสาขาพรรคหรือตัวแทนพรรคประจำจังหวัดในเขตนั้น

2.การส่งผู้สมัคร สส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง พรรคการเมืองต้องส่งผู้สมัครที่ได้รับเลือกจากไพรมารีโหวต

3.การสรรหาผู้สมัคร สส.พรรคต้องจัดให้มีคณะกรรมการสรรหา
ซึ่งอย่างน้อยต้องประกอบด้วย กรรมการบริหารพรรคการเมืองไม่เกินกึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการสรรหา และหัวหน้าสาขาพรรค และตัวแทนพรรคประจำจังหวัด

4.การประชุมสาขาพรรคการเมืองต้องมีสมาชิกมาประชุมไม่น้อยกว่า 100 คน หรือการประชุมตัวแทนพรรคการเมืองประจําจังหวัดต้องมีสมาชิกมาประชุมไม่น้อยกว่า 50 คน โดยการลงคะแนนให้สมาชิกมีสิทธิลงคะแนนเลือกได้หนึ่งคน

ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่าการทำไพรมารีโหวตจะผูกโยงกับสามส่วนที่สำคัญได้แก่ สาขาพรรคการเมือง ตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด และสมาชิกพรรคการเมือง

แต่ปรากฏว่าด้วยผลของคำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับที่ 53/2560 ทำให้สถานะของสมาชิกพรรคการเมืองหายไปหมด เว้นแต่จะมีใครแสดงตนกลับเข้ามาเป็นสมาชิกพรรคการเมืองอีกครั้ง ซึ่งอย่างที่ทราบกันดีว่าแต่ละพรรคการเมืองได้จำนวนยอดสมาชิกพรรคการเมืองกลับคืนมาเป็นจำนวนที่น้อยพอสมควร

การมีสมาชิกพรรคในจำนวนที่น้อยจะมีปัญหาตามมาอีกมาก โดยเฉพาะความชอบธรรมของผู้ที่ได้รับการสรรหาให้เป็นผู้สมัคร สส.ของพรรคการเมืองดังกล่าว อีกทั้งจะไม่สามารถทำการสรรหาได้ครบทุกจังหวัด นั่นเท่ากับว่าพรรคการเมืองนั้นต้องเสียสิทธิในการส่งผู้สมัคร สส.ในเขตดังกล่าวไป

ไม่เพียงเท่านี้ ต้องไม่ลืมว่ารัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 กำหนดให้ผู้สมัคร สส.ต้องเป็นสมาชิกพรรคติดต่อกันไม่น้อยกว่า 90 วัน นับถึงวันเลือกตั้ง หมายความว่า ผู้สมัคร สส.ที่แพ้ในการทำไพรมารีโหวตกับพรรคการเมืองนี้ จะต้องรีบหาพรรคการเมืองใหม่เพื่อให้ทันเวลา 90 วัน ซึ่งมีคำถามว่าเมื่อ คสช.ยืนยันทุกอย่างกำลังเดินตามโรดแมป แต่กลับไม่ยอมปลดล็อก ด้วยเวลาที่บีบขนาดนั้น ผู้ที่แพ้ไพรมารีโหวตจะสามารถหาพรรคใหม่สังกัดทันกับเวลา 90 วันได้อย่างไร

จากเงื่อนไขที่เกิดขึ้น ไม่ได้ส่งผลเฉพาะพรรคการเมืองปัจจุบันเท่านั้น แต่ปัญหายังลามไปถึงพรรคการเมืองใหม่เช่นกัน ซึ่งรวมไปถึง “พรรครวมพลังประชาชาติไทย” ที่จะเป็นแลนดิ้งของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.ในอนาคตด้วย

ด้วยเหตุนี้ จึงมีความเป็นไปได้ไม่น้อยที่ คสช.อาจชำเลืองเห็นถึงปัญหานี้และยอมกลืนเลือด เพื่อชะลอการทำไพรมารีโหวตออกไปก่อน เพื่อเป็นการปลดล็อกให้กับทุกพรรครวมทั้งพรรคทหาร