posttoday

ปมหุ้น ‘ดอน’  ชนวนเสี่ยงฉุด คสช.

06 มิถุนายน 2561

แรงกดดันเริ่มก่อตัวเมื่อกกต. มีมติให้ ดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.ต่างประเทศ ขาดคุณสมบัติเป็นรัฐมนตรี เนื่องจากคู่สมรสถือหุ้นเกิน 5%

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

แรงกดดันเริ่มก่อตัวเมื่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีมติให้ ดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.ต่างประเทศ ขาดคุณสมบัติเป็นรัฐมนตรี เนื่องจากคู่สมรสถือหุ้นเกิน 5% อยู่ระหว่างทำคำวินิจฉัยส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาดต่อไป หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าขาดคุณสมบัติก็ต้องพ้นจากตำแหน่ง

ปัญหาอยู่ตรงที่ในช่วงรอยต่อระหว่างรอคำวินิจฉัยชี้ขาดของศาลรัฐธรรมนูญ กลับเริ่มมีเสียงเรียกร้องให้รัฐมนตรีดอนลาออกจากตำแหน่งหรือหยุดปฏิบัติหน้าที่เพื่อความสง่างามและสร้างบรรทัดฐานทางการเมืองให้เป็นตัวอย่างของการปฏิรูปสืบต่อไป 

ล่าสุด เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ คณะทำงานด้านกฎหมายพรรคเพื่อไทย ยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้ออกคำสั่งให้ดอนหยุดปฏิบัติหน้าที่ไปก่อน กกต.ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ เพราะการถือหุ้นเกิน 5% นั้นทำไม่ได้ มีการออกหนังสือเวียนโดยสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 5 เม.ย. 2560 ที่ผ่านมา เรื่องการดำเนินการตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย อีกทั้งมีการลงมติ ครม.รับทราบเรื่องนี้ในวันที่ 4 เม.ย. 2560 จึงนำเรื่องนี้มาถาม พล.อ.ประยุทธ์ และ ครม.ว่าจะยืนอยู่อย่างไร

พร้อมกันนี้ ยังยกตัวอย่างเทียบเคียงกับรัฐมนตรี 3 คน ในสมัยรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ที่ถูก ป.ป.ช. ตรวจสอบพบว่าถือหุ้นเกิน 5% ได้แก่ อารีย์ วงศ์อารยะ อดีต รมว.มหาดไทย สิทธิชัย โภไคยอุดม อดีต รมว.ไอซีที (ก่อนเปลี่ยนชื่อเป็นกระทรวงดิจิทัล
เพื่อเศรษฐกิจและสังคม) และอรนุช โอสถานนท์ อดีต รมช.พาณิชย์ ที่แสดงสปิริตลาออกทั้ง 3 คน

ประเด็นอยู่ตรงที่คำชี้แจงของดอน ที่ระบุว่า ผ่านมา 37 ปี ไม่เคยแตะต้องเรื่องหุ้น และล่าสุดทราบว่ามีการโอนหุ้นให้เหลือแค่ 4% นั้นไม่ใช่ประเด็น มองอย่างไรก็ไม่ทันการณ์ จึงเรียกร้อง พล.อ.ประยุทธ์ ให้ดำเนินการให้ถูกต้องเพื่อความสง่างาม และขอให้ยึดถือ
การกระทำสมัยรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ เป็นหลัก

สถานการณ์เวลานี้ ทั้งดอน และนายกรัฐมนตรี ยังไม่มีท่าทีต่อเรื่องนี้ พร้อมปล่อยให้รอขั้นตอนตามกฎหมาย ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญจะเป็นผู้ชี้ขาดสุดท้าย 

จากแรงกดดันให้ลาออกจากตำแหน่งที่ก่อตัวขึ้น ทว่า ดอน ชี้แจงว่า ยังไม่ได้พูดคุยเรื่องดังกล่าวกับนายกรัฐมนตรี แม้เมื่อวันที่ 4 มิ.ย.ที่ผ่านมาจะได้คุยกันในหลายเรื่อง แต่เรื่องนี้ไม่ใช่ประเด็น

“แรงกดดันที่ใครต่อใครพูดถึง จะตีความว่าเป็นการกดดันหรือไม่ก็อยู่ที่เรา จะถือว่าเป็นการกดดันหรือทักทาย หรือการแสดงความห่วงใย สนใจ หรืออะไรก็แล้วแต่ อยู่ที่ว่าเราจะคิดเห็นอย่างไร ขณะนี้ผมก็อย่างที่ว่า คำตอบอยู่บนใบหน้าแล้ว ยืนยันว่า ไม่กดดัน เราก็ทำงานของเราไป”

แน่นอนว่า คำชี้แจงที่ว่าหุ้นนั้นภรรยาได้เคลียร์เรียบร้อยแล้ว โดยหุ้นนี้เป็นมรดกของครอบครัวภรรยาแม้ตอนนี้จะถือน้อยกว่า 5% และไม่เคยรู้เลยว่าภารยามีหุ้นกี่เปอร์เซ็นต์ อะไรบ้าง เพราะเขารับมรดกมาเป็นเวลากว่า 37 ปีแล้ว ย่อมไม่มีผลทางข้อกฎหมาย 

ตามขั้นตอนศาลรัฐธรรมนูญ วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ชี้แจงว่า มีแนวทางจะพิจารณาว่า 2 ขั้นตอน คือ 1.เริ่มแรกศาลจะสั่งให้หยุดปฏิบัติหรือไม่ 2.ถึงขั้นศาลพิจารณาสืบพยานแล้วเห็นว่าผิดหรือไม่ผิดก็ไปชี้กันในตอนนั้น

อีกด้านหนึ่งมองกันว่า การออกจากตำแหน่งอย่างทันทีทันใดอาจกระทบไปถึงงานในหน้าที่ อันอาจจะส่งผลเสียในภาพรวม โดยเฉพาะประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพการประชุมสุดยอดผู้นำยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง ครั้งที่ 8 

แต่ในทางสังคมแล้ว ประเด็นแง่มุมทางกฎหมายอาจไม่สำคัญเท่ากับเรื่องสปิริตหรือความสง่างามทางด้านมาตรฐานที่คนคาดหวังว่ารัฐบาล คสช.จะมีมากกว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง

อย่าลืมว่ากรณีนาฬิกาของ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม แผลเก่าของรัฐบาลที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของ ป.ป.ช.นั้น เคยถูกหยิบยกมาเป็นประเด็นกดดันรัฐบาล จนเป็นชนวนสั่นคลอนความเชื่อมั่นรัฐบาล คสช.อย่างรุนแรงมาแล้ว 

แม้ทางรัฐมนตรีดอนจะมีผลงานเป็นที่ยอมรับของประชาชน และถือเป็นอีกหนึ่งในกำลังสำคัญของรัฐบาล แต่การนิ่งเฉยอ้างรอคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเพียงอย่างเดียวอาจเป็นแรงกดดันซ้ำเติมความเชื่อมั่นของรัฐบาล คสช.อย่างรุนแรงได้

ยิ่งหากรัฐบาล คสช.ต้องการสร้างบรรทัดฐานให้กับการเมืองใหม่ จำเป็นต้องดำเนินการให้เห็นเป็นตัวอย่างเสียก่อน เพื่อไม่ให้เป็นข้ออ้างในเวลาต่อไป ยิ่งกรณีนี้มีตัวอย่างเทียบเคียงกับ 3 รัฐมนตรี ในรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ ด้วยแล้ว อาจจะทำให้สถานการณ์สำหรับ คสช.ดูย่ำแย่กว่าเดิม

โดยเฉพาะในสถานการณ์อันไม่สู้ดีของ คสช.เวลานี้ ซึ่งกำลังสะบักสะบอมจากปัญหาที่รุมเร้าต่อเนื่อง การเพิ่มชนวนให้ถูกหยิบยกไปโจมตีย่อมไม่เป็นผลดีรับรัฐบาล คสช.ทั้งตอนนี้และระยะยาว อันจะทำให้คะแนนความเชื่อมั่นที่ลดลงอยู่แล้วทรุดหนักลงเรื่อยๆ

ซ้ำเติมข้อครหาเก่าๆ ทั้งเรื่องความไม่ชัดเจนกับกำหนดวันเลือกตั้งที่ห่วงว่าจะเกิดการยื้ออยู่ในอำนาจออกไปจากกรอบเวลาเดิม หรือการชิงความได้เปรียบต่อคู่แข่งในสนามการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น  

ทั้งหมดล้วนแต่ไม่เป็นผลดีและยังสุ่มเสี่ยงที่จะกระทบต่อเส้นทางที่หลายฝ่ายพยายามปลุกปั้นให้ พล.อ.ประยุทธ์ กลับมารับตำแหน่งรัฐมนตรีเป็นสมัยที่ 2 ก็เป็นได้