posttoday

ลุ้นศาลล้มมาตรา 44  คืนชีพพรรคการเมือง

05 มิถุนายน 2561

สองสัปดาห์ที่ผ่านมาศาลรธน.วินิจฉัย2 เรื่องสำคัญ คือ การให้ร่างพรบ.การได้มาซึ่งสว.-ร่างพรบ.เลือกตั้งสส.ไม่ขัดหรือแย้งรธน.

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์ 

ในช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมาศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยเรื่องสำคัญไปถึง 2 เรื่อง คือ การให้ร่าง พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว. และร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง สส.ไม่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ

ทั้งสองเรื่องศาลรัฐธรรมนูญได้ลงมติเป็นเอกฉันท์ เมื่อเป็นเช่นนี้เท่ากับว่าการเลือกตั้งก็กำลังเดินหน้าแบบเต็มตัว ซึ่งมีการคาดการณ์กันว่าน่าจะเกิดขึ้นได้ภายในระยะเวลาประมาณ 11 เดือนนับจากนี้ไป

ช่วงระยะเวลา 11 เดือนจะประกอบไปด้วยขั้นตอนต่างๆ มากมาย ไล่ตั้งแต่การส่งร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญทั้งสองฉบับให้กับนายกรัฐมนตรีเพื่อนำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อเข้าสู่การประกาศใช้ให้เป็นกฎหมาย จากนั้นจะต้องนั่งรอเวลาให้ร่าง พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง สส.ผ่านพ้นเวลา 90 วันนับแต่วันประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา

เมื่อครบกำหนดเวลา 90 วันดังกล่าวแล้ว จะเริ่มนับหนึ่งไปอีก150 วันเพื่อเป็นวันที่ประชาชนถือบัตรประชาชนเดินเข้าคูหาลงคะแนน

แม้ว่ากรอบเวลา 11 เดือนดูเหมือนจะนานเกินไป แต่ในทางปฏิบัติ รัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) สามารถลัดขั้นตอนบางประการได้โดยไม่จำเป็นต้องใช้เวลาเต็มจำนวนตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรอบเวลา 150 วัน ซึ่งสามารถลดจำนวนวันให้เหลือลงมา 90 วันได้ เนื่องจากที่ผ่านมาของการเลือกตั้งส่วนใหญ่เมื่อมีการประกาศยุบสภาผู้แทนราษฎร มักจะใช้เวลาประมาณ 3 เดือนเพื่อจัดการเลือกตั้ง

เรียกได้ว่าเวลานี้แทบจะไม่เหลืออุปสรรคอะไรที่จะมาขวางไม่ให้เกิดการเลือกตั้งได้อีกต่อไป เว้นแต่ คสช.จะต้องการยื้อการเลือกตั้งออกไปอีก 

อย่างไรก็ตาม ศาลรัฐธรรมนูญยังมีเรื่องร้อนอีกเรื่อง คือ การวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 53/2560 เรื่อง การดำเนินการตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยชี้ขาดในวันที่ 5 มิ.ย.

ที่มาที่ไปของเรื่องนี้มาจากพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์ได้ยื่นคำร้องไปที่ผู้ตรวจการแผ่นดิน โดยตั้งประเด็นว่ามาตรการให้สมาชิกพรรคการเมืองมาแสดงตนเพื่อยืนยันสถานะความเป็นสมาชิกพรรคการเมืองนั้น กระทบสิทธิเสรีภาพของประชาชนอันเป็นหลักการขั้นพื้นฐานของรัฐธรรมนูญ

จนกระทั่งผู้ตรวจการแผ่นดินได้เห็นด้วยกับพรรคการเมืองและส่งมาให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยในที่สุด

ด้านหนึ่งหลายคนอาจมองว่าการใช้มาตรา 44 ของ คสช.ไม่น่าจะมีปัญหาในทางกฎหมาย เพราะรัฐธรรมนูญเองก็ได้รับรองไว้ แต่เมื่อศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำสั่งรับคำร้องเอาไว้ ย่อมเป็นการแสดงให้เห็นในระดับหนึ่งว่าการใช้มาตรา 44 ของ คสช. ในกรณีนี้อาจมีปัญหาก็เป็นไปได้

ทั้งนี้ เมื่อมองความเป็นไปได้ของคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญในวันนี้น่าจะสามารถออกได้ในหน้าใดหน้าหนึ่งใน 3 หน้า ดังนี้

1.วินิจฉัยว่าชอบด้วยรัฐธรรมนูญทุกประการ ในรูปแบบนี้จะเป็นการย้ำว่าการใช้มาตรา 44 ที่รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันของ คสช.นั้นถูกต้องแล้ว และเป็นบรรทัดฐานที่ทำให้ คสช.สามารถใช้มาตรา 44 ได้อย่างสะดวกมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อการเลือกตั้งกำลังใกล้เข้ามาถึง

2.วินิจฉัยว่าไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญทั้งหมด ทั้งนี้ จะมีผลให้คำสั่งหัวหน้า คสช.สิ้นผลไปทั้งหมด แต่หากเป็นเช่นนั้นก็ไม่น่าจะมีผลย้อนหลัง นั่นหมายความว่าการยืนยันสถานะสมาชิกพรรคการเมืองและการจดทะเบียนตั้งพรรคการเมืองก่อนหน้านี้ก็จะไม่ได้เสียไป

3.วินิจฉัยให้ขัดกับรัฐธรรมนูญบางส่วน กล่าวคือ ศาลรัฐธรรมนูญอาจมองว่าการให้สมาชิกพรรคการเมืองยืนยันสถานะสมาชิกนั้นขัดกับรัฐธรรมนูญจริง แต่ก็ไม่ได้มีผลให้คำสั่งหัวหน้า คสช.ทั้งฉบับตกไปหมด จึงเห็นควรให้ คสช.ในฐานะผู้ใช้อำนาจดังกล่าวไปแก้ไขปรับปรุงให้เรียบร้อยและสอดคล้องกับหลักการพื้นฐานของรัฐธรรมนูญ

หากมองจากความเป็นไปได้ในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ จะพบว่าแทบไม่มีแนวทางไหนเลยที่จะเป็นประโยชน์กับพรรคการเมืองในปัจจุบันเท่าใดนัก

แต่ถ้าถามใจพรรคการเมืองแล้ว แน่นอนว่าต้องการให้คำสั่งหัวหน้า คสช.ตกไปทั้งหมดและให้มีผลย้อนหลังด้วย หมายความว่า ให้ถือเสมือนว่าไม่เคยมีคำสั่งดังกล่าวแต่ประการใด เพื่อให้พรรคการเมืองได้จำนวนสมาชิกพรรคการเมืองเดิมกลับมา เพราะอย่างน้อยที่สุดก็น่าจะช่วยให้พรรคการเมืองลืมตาอ้าปากได้มากขึ้น เพื่อลงสนามเลือกตั้งสู้กับ คสช.และพรรคการเมืองที่กำลังจะเกิดขึ้น

อย่างไรก็ดี เหนืออื่นใดการล้มมาตรา 44 จะไม่ได้มีผลแค่เรื่องพรรคการเมืองเท่านั้น เนื่องจากหากศาลรัฐธรรมนูญติดเบรก คสช.เกี่ยวกับการใช้อำนาจมาตรา 44 ย่อมสะเทือนถึง คสช.ในฐานะผู้ใช้อำนาจด้วย หมายความว่าไม่อาจนำมาตรา 44 มาใช้แบบสุรุ่ยสุร่ายได้อีก หรือไม่แล้ว คสช.ก็จะไม่สามารถใช้มาตรา 44 อีกได้เลย

ยิ่งไปกว่านั้นเป็นการช่วยให้ฟ้าเปิดขึ้นมาอีกครั้ง โดยอาจจะมีผู้ที่ได้รับผลกระทบจากมาตรา 44 มายื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยจำนวนมาก ถึงเวลานั้นสถานะของ คสช.คงสั่นคลอนไม่น้อย

ดังนั้น วันที่ 5 มิ.ย.จึงไม่ได้มีเพียงแต่พรรคการเมืองที่ลุ้นเท่านั้น แต่ คสช.เองก็จับตามองศาลรัฐธรรมนูญแบบใกล้ชิดไม่แพ้กัน