posttoday

หมดเงื่อนไข "ยื้อ" เตรียมนับหนึ่งสู่เลือกตั้ง

31 พฤษภาคม 2561

สัญญาณ"เลือกตั้ง"ชัดเจนมากขึ้นหลังจากศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ให้ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง สส.ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ

สัญญาณ"เลือกตั้ง"ชัดเจนมากขึ้นหลังจากศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ให้ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง สส.ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ

**********************

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

สัญญาณ “เลือกตั้ง” เริ่มชัดเจนขึ้น เมื่อล่าสุดศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ให้ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง สส.ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ ทั้งสองประเด็นตามที่สภานิติบัญญัติยื่นเรื่องให้วินิจฉัย

ประเด็นที่หนึ่ง เรื่องการตัดสิทธิผู้ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งห้ามดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมือง ซึ่งศาลเห็นว่า การดำรงตำแหน่งข้าราชการทางการเมืองเป็นสิทธิชนิดหนึ่ง ซึ่งรัฐธรรมนูญบัญญัติให้ออกกฎหมายจำกัดสิทธิได้

ส่วนประเด็นที่สอง การให้บุคคลอื่นสามารถลงคะแนนแทนผู้พิการได้นั้น ศาลเห็นว่าการอำนวยความสะดวกหรือจัดให้มีความช่วยเหลือในการออกเสียงลงคะแนนของคนพิการ ทุพพลภาพ หรือผู้สูงอายุ ยังอยู่ในขอบเขตของวิธีออกเสียงลงคะแนนโดยตรงและลับตามรัฐธรรมนูญ

ดังนั้น เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์เช่นกันว่า “ไม่มีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ” ขั้นตอนต่อจากนี้นายกรัฐมนตรีต้องเตรียมนำกฎหมายดังกล่าวขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายต่อไป

ประเด็นสำคัญ คือ การปลดล็อกเงื่อนไขที่เป็นห่วงกันจะทำให้การเลือกตั้งต้องสะดุดแล้ว ต่อจากนี้เส้นทางข้างหน้าจึงถูกบังคับให้เดินหน้าไปตามโรดแมปที่กำหนด คือ จะต้องดำเนินการให้มีการเลือกตั้งต้องเกิดขึ้นใน 150 วัน นับจากวันที่ พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้ ซึ่ง​คำนวณตามปฏิทินแล้วน่าจะเกิดขึ้นประมาณเดือน ก.พ. 2562 ตามที่หลายฝ่ายคาดการณ์

เมื่อไม่มีเหตุผลใดที่รัฐบาล คสช.หยิบยกมาอ้างเพื่อยื้อการเลือกตั้งอีกต่อไป สิ่งที่รัฐบาล คสช.ควรเร่งดำเนินการก็คือการประกาศความชัดเจนถึงวันเลือกตั้งว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ พร้อมทั้งสร้างหลักประกันว่า จะไม่มีการเลื่อนออกไปจากกำหนดนี้อีกแล้ว

จากเดิมที่ความไม่แน่นอนในวันเลือกตั้ง กลายเป็นชนวนบั่นทอนความเชื่อมั่นของรัฐบาล คสช.อย่างรุนแรง และกระทบต่อเนื่องไปถึงการค้าการลงทุนทั้งภายในและภายนอกประเทศอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง

ส่วนหนึ่งที่ผ่านมารัฐบาลจะประกาศวันเลือกตั้งแล้ว แต่สุดท้ายก็มีเหตุให้รัฐบาลต้องหยิบยกมาอ้างเป็นเงื่อนไขสำหรับการขยับวันเลือกต้องไกลออกไปจากกำหนดเดิม

รวมทั้งล่าสุด การปรับแก้ไขเนื้อหาใน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง สส.ในชั้นสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กำหนดให้ร่าง พ.ร.บ.มีผลบังคับใช้หลังประกาศในราชกิจจานุเบกษา 90 วัน จนการเลือกตั้งที่เคยคาดว่าจะเกิดขึ้นในเดือน พ.ย. 2561 ต้องเลื่อนออกไปเป็น ก.พ. 2562

ฉุดให้ความเชื่อมั่นที่มีต่อรัฐบาล คสช.ลดลงไปอย่างมาก จนยากจะปักใจเชื่อว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นได้จริงใน ช่วงต้นปี 2562 โดยไม่มีเหตุผลหรือข้ออ้างอื่นใดที่ คสช.จะหยิบยกมาเป็นเหตุผลอีกในอนาคต

ขณะที่บรรดาแกนนำ คสช.เองยังไม่อาจให้คำมั่นแบบเต็มปากเต็มคำว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นในเวลาดังกล่าว ระบุเพียงแค่ว่าทุกอย่างจะเป็นไปตามโรดแมป

ถึงขั้นเกิดปรากฏการณ์ที่พรรค การเมืองตลอดจนกลุ่มต่างๆ ไม่เชื่อว่าจะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นจริง พร้อมเรียกร้องให้รัฐบาล คสช.ประกาศความชัดเจนว่าการเลือกตั้งจะต้องไม่เลื่อนออกไป

ที่สำคัญนำไปสู่การเดินหน้ารวมตัวของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งที่ออกมาเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง เพื่อกดดันให้รัฐบาล คสช.มีความชัดเจนเรื่องเลือกตั้ง ปิดประตูการยื้ออยู่ในอำนาจต่อไป

การเคลื่อนไหวครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 22 พ.ค. ในโอกาสครบ 4 ปี รัฐประหาร นับเป็นอีกความหวั่นวิตกของรัฐบาลและหน่วยความมั่นคงเพราะจำนวนแนวร่วมที่เพิ่มมากขึ้น และเกรงว่าจะเกิดการกระทบกระทั่งบานปลายเป็นความรุนแรงต่อไป

ยิ่งในช่วงเวลาดังกล่าวยังปรากฏกระแสข่าวกลุ่มแดงฮาร์ดคอร์เตรียมออกมาป่วนการชุมนุมของกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง

การไม่มีความช้ดเจนเรื่องกำหนดวันเลือกตั้งจึงยิ่งกลายเป็นจุดอ่อนที่จะนำไปสู่การโจมตีและหยิบยกมาทำลายความชอบธรรม คสช.อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะข้อครหาเรื่องการสืบทอดอำนาจที่รุนแรงขึ้นท่ามกลางกระแสดูด สู่ภารกิจผลักดัน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีต่ออีกสมัย

แม้ระยะหลังประเมินสถานการณ์แล้วอาจไม่ง่ายกับการกลับมาของ คสช. จนเริ่มเห็นการออกมาโยนหิน​ประเด็น “รัฐบาลแห่งชาติ” ซึ่งถูกมองว่าเป็นแค่ความพยายามยื้ออยู่ในอำนาจอีกรูปแบบหนึ่งเท่านั้น

ทั้งหมดทำให้รัฐบาล คสช.ไม่มีทางเลือกอื่นใด นอกจากต้องเดินหน้าจัดการเลือกตั้งซึ่งจะเป็นประตูไปสู่การเปลี่ยนผ่านพาประเทศกลับสู่สภาวะปกติ