posttoday

พรรคเก่าวิ่งขาขวิด พรรคทหารดีดนิ้วสบาย

26 เมษายน 2561

ชั่วโมงนี้การอยู่กับทหาร ย่อมเป็นการสร้างความปลอดภัยให้กับตัวเอง เพราะหากยังฝืนอยู่กับฝ่ายการเมืองแบบเต็มตัวต่อไป คงเป็นไปได้ยากที่จะยืนอยู่ในการเมืองได้อย่างมั่นคง

ชั่วโมงนี้การอยู่กับทหาร ย่อมเป็นการสร้างความปลอดภัยให้กับตัวเอง เพราะหากยังฝืนอยู่กับฝ่ายการเมืองแบบเต็มตัวต่อไป คงเป็นไปได้ยากที่จะยืนอยู่ในการเมืองได้อย่างมั่นคง

****************************

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

แม้เวลานี้จะยังไม่มีความชัดเจนเรื่องกรอบเวลาของการเลือกตั้ง แต่ปี่กลองการเมืองได้เริ่มดังแล้วตั้งแต่เมื่อวันที่ 1 มี.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นไปตามคําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 53/2560 เรื่อง การดําเนินการตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง

วันที่ 1 มี.ค.ที่ว่านั้น คือ วันที่ให้ผู้ที่ประสงค์จะจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่ไปแจ้งต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ซึ่งเวลานี้ก็มีหลายพรรคการเมืองที่ กกต.ทยอยรับรองให้ใช้ชื่อที่ตนเองประสงค์เป็นชื่อของพรรคการเมืองได้แล้ว เพียงแต่ยังไม่สามารถประชุมพรรคการเมืองเพื่อทำกิจกรรมได้อย่างเต็มตัว เพราะต้องขอความยินยอมจาก คสช.ก่อน

ไม่เพียงแต่วันที่ 1 มี.ค.ที่เสียงปี่กลองจะดังเท่านั้น เพราะเมื่อเวลาก้าวเข้าสู่วันที่ 1 เม.ย. เสียงมโหรีปี่พาทย์ดังขึ้นไม่แพ้กัน เนื่องจากเป็นวันที่ให้พรรคการเมืองที่มีสถานะตามกฎหมายปัจจุบันต้องเปิดให้สมาชิกพรรคของตนเองมาแสดงตัวต่อหัวหน้าพรรคเพื่อยืนยันความเป็นสมาชิกพรรคต่อไป โดยมีกำหนดเวลา 30 วัน หากสมาชิกพรรคคนใดไม่ได้ดำเนินการตามนี้จะมีผลให้สมาชิกผู้นั้นสิ้นสภาพความเป็นสมาชิกพรรคดังกล่าวทันที

ณ เวลานี้ กรอบเวลา 30 วันใกล้จะครบกำหนดแล้ว ซึ่งมีแนวโน้มว่าพรรคการเมืองเก่าแต่ละพรรคดูเหมือนจะยอมรับสภาพกันหมดแล้วว่าอาจได้สมาชิกพรรคกลับมาไม่เท่าเดิม ทั้งพรรคประชาธิปัตย์ พรรคเพื่อไทย พรรคภูมิใจไทย หรือแม้แต่พรรคชาติไทยพัฒนา

ปัญหานี้สร้างความหนักอกให้กับพรรคประชาธิปัตย์มากที่สุด เนื่องจากเป็นพรรคที่มีสมาชิกหลักล้านคน ต่างกับพรรคการเมืองอื่นที่มีสมาชิกพรรคในจำนวนหลักหมื่นหรือหลักแสนต้นๆ เท่านั้น

ไม่เพียงแต่การได้สมาชิกเก่ากลับมาไม่เหมือนเดิมแล้ว ดีไม่ดีบรรดาพรรคการเมืองปัจจุบันอาจถูกตามเช็กบิลย้อนหลังด้วย

กล่าวคือ ถ้าสิ้นสุดระยะเวลา 30 วันของการแสดงตนของสมาชิกพรรค และพบว่ามีตัวเลขสมาชิกที่มาแสดงตนน้อยกว่าจำนวนตัวเลขสมาชิกที่พรรคเคยมีอยู่เดิม ย่อมจะเป็นประเด็นได้ว่าจำนวนสมาชิกพรรคที่หายไปนั้นหายไปอย่างไร และกระบวนการในการเข้ามาเป็นสมาชิกพรรค มีอะไรผิดกฎหมายหรือไม่ด้วย ซึ่งอาจเป็นประเด็นที่ กกต.ต้องเข้ามาดูและสร้างความรำคาญใจให้กับพรรคการเมืองอยู่ไม่น้อย

จำนวนสมาชิกพรรคจะมีความสำคัญอีกประการหนึ่งตรงที่จะเป็นตัวชี้วัดสำหรับการกำหนดอัตราในการจัดสรรเงินของกองทุนพัฒนาการเมืองให้กับพรรคการเมือง

ต้องยอมรับว่ากติกาที่ คสช.ออกแบบมานั้นสร้างความปวดหัวให้กับพรรคการเมืองพอสมควร และไม่ค่อยส่งเสริมการมีส่วนร่วมให้กับประชาชนเท่าไหร่ ทั้งๆ ที่การให้สมาชิกพรรคการเมืองมาแสดงตนนั้นแทบไม่มีความจำเป็นแต่อย่างใด

เมื่อ คสช.ตั้งกำแพงเหล็กนี้ขึ้นมา ทำให้ท้องฟ้าทางการเมืองเปิดขึ้นทันที ใครที่ไม่ภักดีกับพรรคของตัวเองอยู่เป็นทุนเดิม ก็สามารถออกมาจากพรรคได้โดยไม่ขัดเขิน

จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น จึงทำให้ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ หัวร้อนพอสมควร เพราะกติกาที่ คสช.สร้างมานั้นเพื่อเปิดช่องให้พรรคทหารที่กำลังตั้งขึ้นดูดตัวอดีต สส.ได้ง่ายมากขึ้นด้วยการแลกกับผลประโยชน์บางประการ

“นอกจากเรื่องดึงพรรคพลังชลแล้ว ยังได้ยินเรื่องกระบวนการของรัฐ คนที่มีอำนาจรัฐจะมาเล่นการเมือง ซึ่งไม่จำเป็นต้องลงเลือกตั้งเป็น สส. แต่อาจใช้สถานะตรงนั้นในการติดต่อภาคธุรกิจ ส่งสัญญาณว่า ไม่ควรสนับสนุนหรือไม่สนับสนุนพรรคการเมือง

ผมได้ยินมาอีกว่า ตำแหน่งผู้ช่วยรัฐมนตรียังเสนอให้หลายคน หลายพรรค เสนอตำแหน่งไม่ใช่กับเพียงตระกูลสะสมทรัพย์ แต่กับประชาธิปัตย์ก็เสนอเช่นกัน และคิดว่าเป้าหมายของพรรคนี้จะต้องได้รับเสียงพอสมควรในการทำงานในสภา อย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 25 เสียง” อภิสิทธิ์ ระบุ

ท่ามกลางอาการหัวปั่นของพรรคการเมืองในปัจจุบัน ตรงกันข้าม คสช.กลับใช้จังหวะนี้สร้างความได้เปรียบทางการเมืองเพื่อช่วงชิงตัวอดีต สส.เพื่อสร้างฐานการเมืองให้กับตัวเองในการเลือกตั้งครั้งหน้า

พรรคพลังชลเป็นกลุ่มแรกที่เปิดตัวว่าจะอยู่เคียงข้างกับ คสช.อย่างเป็นทางการ เป้าหมายหลักแน่นอนว่า คสช.ต้องการสร้างคะแนนในภาคตะวันออก โดยอาศัยโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เป็นเครื่องมือสำคัญ เพียงแค่เริ่มต้นก็ปรากฏกระแสข่าวออกมาว่าอดีต สส.พรรคประชาธิปัตย์ในภาคตะวันออกก็กำลังถูกดูดเข้าค่ายของ คสช.เช่นกัน ก่อนที่หัวหน้ามุ้งทิศบูรพาของพรรคจะออกมาปฏิเสธ

ขณะเดียวกัน ภาคอีสานและภาคเหนือก็เป็นพื้นที่ต่อไปที่ คสช.จะขอเข้าไปมีส่วนแบ่งในทางการเมือง ทั้งสองภูมิภาคนี้เป็นพื้นที่ที่พรรคเพื่อไทยครองฐานเสียงมาเป็นเวลานาน ซึ่ง คสช.อาจจะไม่ลงไปสู้โดยตรง แต่อาจปล่อยให้พันธมิตรทางการเมืองของตนเองเข้าไปคลุกวงในสู้กับพรรคเพื่อไทย ถึงจะไม่สามารถชนะได้หมด แต่หากได้เสียงในอันดับรองมาพอสมควรก็ย่อมมีส่วนช่วยให้ได้ สส.บัญชีรายชื่อเพิ่มขึ้นแทน

ดังนั้น จะเห็นได้ว่าชั่วโมงนี้การอยู่กับทหาร ย่อมเป็นการสร้างความปลอดภัยให้กับตัวเอง เพราะหากยังฝืนอยู่กับฝ่ายการเมืองแบบเต็มตัวต่อไป คงเป็นไปได้ยากที่จะยืนอยู่ในการเมืองได้อย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน