posttoday

นายกฯคนใน คำตอบสุดท้ายบิ๊กตู่

25 เมษายน 2561

ประเมินแล้วจากนี้ไปจึงเป็นไปได้ว่า ทั้กระแสดูด สส.จะรุนแรง และเปิดเผยมากขึ้นเรื่อยๆ ยังไม่รวมกับการสร้างเครือข่าย สร้างสัมพันธ์กับกลุ่มการเมืองพรรคต่างๆ

ประเมินแล้วจากนี้ไปจึงเป็นไปได้ว่า ทั้กระแสดูด สส.จะรุนแรง และเปิดเผยมากขึ้นเรื่อยๆ ยังไม่รวมกับการสร้างเครือข่าย สร้างสัมพันธ์กับกลุ่มการเมืองพรรคต่างๆ

***************************

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

เส้นทางการรีเทิร์นกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เริ่มชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ​กับปรากฏการณ์การเดินหน้าต่อสายวางเครือข่ายกับกลุ่มการเมืองต่างๆ แบบเปิดเผย ตลอดจนปฏิบัติการดูด ที่นำมาสู่เสียงวิพากษ์วิจารณ์รุนแรง

กลายเป็นการขว้างงูไม่พ้นคอตัวเอง จากที่เคยถล่มการเมืองในอดีตว่าเป็นต้นแบบของวังวนปัญหา จนพาประเทศมาสู่วังวนความขัดแย้งจนไม่อาจก้าวข้ามมาหลายทศวรรษ สุดท้ายเพื่อให้บรรลุถึงเป้าหมาย รัฐบาล คสช.จำต้องยอมกลืนน้ำลายเลือกใช้ยุทธวิธีเดิมๆ ปูทางสู่ถนนการเมือง

ส่งผลให้ความพยายามตลอด 4 ปี กับภารกิจปฏิรูปประเทศ ทั้งความพยายามวางกลไก ระบบเลือกตั้ง และการตรวจสอบถ่วงดุล ต้องล้มครืนล่มลงไปอย่างน่าเสียดาย

ดังจะเห็นได้ตั้งแต่กระแสข่าวการตบเท้าบุกทำเนียบรัฐบาลเข้าพบ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ของ ยังเติร์กประชาธิปัตย์ ทั้ง สกลธี ภัททิยกุล และณัฏฐพล ทีปสุวรรณ หลังจากนั้นไม่กี่วัน สกลธี ได้รับแต่งตั้งไปนั่งเป็นรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

ถัดมาไม่นาน มีการแต่งตั้ง สนธยา คุณปลื้ม หัวหน้าพรรคพลังชล อดีต รมว.ท่องเที่ยวและกีฬา เป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ทำหน้าที่ให้คำปรึกษาด้านการเมือง การบริหารราชการแผ่นดิน พร้อมกับตั้ง อิทธิพล คุณปลื้ม เป็นกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา

“ไม่ได้จะตั้งขึ้นมาเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว เพราะวันนี้จะต้องเดินหน้าไปสู่การเลือกตั้ง จึงจำเป็นต้องมีคนมาให้คำปรึกษาว่าการเมืองทำอย่างไร”

คำชี้แจงของ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ได้ช่วยบรรเทากระแสวิพากษ์วิจารณ์ลงไป เมื่อฝ่ายการเมืองต่างออกมารุมถล่มว่าการดูด สส.โดยเสนอตำแหน่งเช่นนี้ เป็นการเดินสวนทางกับการปฏิรูปที่ คสช.ทำอยู่

​อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ระบุว่า นอกจากจะได้ยินเรื่องการดึงพรรคพลังชลมาก่อนหน้านี้แล้ว ยังได้ยินเรื่องการเสนอตำแหน่งผู้ช่วยรัฐมนตรีให้หลายคน หลายพรรค ไม่ใช่เพียงตระกูลสะสมทรัพย์เท่านั้น

อีกทั้งยังได้ยินเรื่องกระบวนการของคนที่มีอำนาจรัฐจะมาเล่นการเมืองซึ่งไม่จำเป็นต้องลงเลือกตั้งเป็น สส. แต่อาจใช้สถานะตรงนั้นในการติดต่อภาคธุรกิจ เพื่อส่งสัญญาณว่าไม่ให้ไปสนับสนุนพรรคการเมือง ขัดกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ

ที่สำคัญ อภิสิทธิ์ ยังระบุว่า “เป้าหมายของพรรคนี้จะต้องได้รับเสียงพอสมควรในการทำงานในสภา อย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 25 เสียง”

นั่นหมายความว่าฝั่งการเมืองวิเคราะห์ความเป็นไปได้แล้วเห็นว่าเส้นทางสู่การเป็นนายกรัฐมนตรีสมัยที่สองของ พล.อ.ประยุทธ์ น่าจะเป็นการโหวตในขั้นตอนแรกของรัฐสภา เลือกจาก 1 ใน 3 รายชื่อที่แต่ละพรรคการเมืองเสนอและประกาศให้ประชาชนใช้สิทธิเลือกตั้งได้รับรู้

ข้อดีของทางเลือกนี้อยู่ตรงที่คนที่ถูกเสนอชื่อเป็นนายกฯ ไม่จำเป็นต้องเป็น สส. แถมยังไม่ต้องใช้เสียง สส.ในการเลือกเยอะมาก​เท่าทางเลือกอื่น โดยเฉพาะเมื่อ คสช.มีตัวช่วย 250 สว. ซึ่ง คสช.​จะเป็นคนคัดเลือกด้วยตัวเองตุนไว้ในกระเป๋าอยู่แล้ว ​ดังนั้นเมื่อไปรวมกับเสียง สส.แค่อีก 126 เสียง ก็จะสามารถเป็นนายกรัฐมนตรีได้ทันที แต่นั่นไม่ได้หมายรวมไปถึงเสถียรภาพของรัฐบาลในอนาคต

ทั้งนี้ หากประเมินเสียงจากพรรคพลังประชารัฐที่ตั้งเป้า 25-30 ที่นั่ง รวมกับพรรคที่ประกาศตัว สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ ​เป็นนายกฯ ทั้งหลายก็น่าจะได้เสียงราวครึ่งร้อย พอจะสร้างอำนาจต่อรองได้ระดับหนึ่ง จนง่ายที่จะต่อสายไปดึงพรรคขนาดกลางขนาดเล็กมาร่วมรัฐบาล

ต่างจากช่องทางนายกรัฐมนตรีคนนอกบัญชีของพรรคการเมือง ที่ต้องใช้มติเสียง 2 ใน 3 ของรัฐสภา คือ 500 เสียง จาก 750 เสียง เพื่อปลดล็อกไปสู่ขั้นตอนการเลือกนายกรัฐมนตรีนอกบัญชี ซึ่งหมายความว่า คสช.จะต้องหาเสียงอีก 250 เสียง เพื่อไปรวมกับเสียง สว.ให้ได้ 500 เสียง

การรวมเสียง สส.ให้ได้ 250 เสียง ย่อมไม่ใช่ง่ายสำหรับ คสช. นั่นทำให้เส้นทางนายกฯ คนนอก ริบหรี่ไร้ความหวัง จนต้องหันมาเดินหน้าเต็มสูบกับทางเลือกนายกฯ คนใน

ปัญหาจึงวกกลับมาที่พรรคซึ่งจะเสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ จะต้องได้เสียงในการเลือกตั้งอย่างน้อย 25 เสียง ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายและไม่ใช่เรื่องยาก

ประเมินแล้วจากนี้ไปจึงเป็นไปได้ว่า ทั้กระแสดูด สส.จะรุนแรง และเปิดเผยมากขึ้นเรื่อยๆ ยังไม่รวมกับการสร้างเครือข่าย สร้างสัมพันธ์กับกลุ่มการเมืองพรรคต่างๆ เพื่อร่วมกันเดินหน้าสู่เป้าหมายผลักดัน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรีคนในต่อไป