posttoday

สนช.ใหญ่คับฟ้า หักกฎหมาย-ล้มกระดาน

23 เมษายน 2561

ภาพลักษณ์ของ สนช.ในวันนี้ อาจจะยังไม่แย่เท่ากับสภาผู้แทนราษฎรในอดีต แต่ถ้าปล่อยไว้นานต่อไปก็มีโอกาสที่จะใกล้เคียง

ภาพลักษณ์ของ สนช.ในวันนี้ อาจจะยังไม่แย่เท่ากับสภาผู้แทนราษฎรในอดีต แต่ถ้าปล่อยไว้นานต่อไปก็มีโอกาสที่จะใกล้เคียง

*******************************

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

เวลานี้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กำลังเข้าใกล้สภาพที่ดูไม่ได้เหมือนกับสภาผู้แทนราษฎรในอดีตเข้าไปทุกขณะ ภายหลังมีมติเสียงข้างมากในลักษณะที่น่ากังขาหลายครั้ง

โดยความน่ากังขาของ สนช.แบ่งออกได้เป็น 2 เรื่องใหญ่ๆ

1.การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการเลือกตั้งจำนวน 4 ฉบับ

โดยเฉพาะในกรณีของร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง สส. และร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว. ซึ่งปรากฏว่าสนช.ไปแก้ไขให้กฎหมายเลือกตั้ง สส.มีผลใช้บังคับเมื่อพ้นเวลา 90 วัน ภายหลังประกาศในราชกิจจานุเบกษา ทำให้การเลือกตั้งต้องถูกขยับออกไปอีกอย่างน้อย 90 วัน ทั้งๆ ที่ต้นฉบับที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญในฐานะผู้เขียนรัฐธรรมนูญส่งมานั้น ต้องการให้กฎหมายมีผลใช้บังคับทันที

ที่ผ่านมา สนช.พยายามชักแม่น้ำทั้งห้าด้วยการอ้างว่าเพื่อให้กฎหมายเลือกตั้งสอดรับกับคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 53/2560 เรื่องการดําเนินการตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ซึ่งจะว่าไปแล้วต้นเหตุของการแก้ไขกฎหมายพรรคการเมืองทั้งๆ ที่เป็นกฎหมายที่ผ่าน สนช.ไปแล้ว มาจากความเขี้ยวของ คสช.ที่ยังไม่ต้องการให้พรรคการเมืองได้ทำกิจกรรมทางการเมือง จนต้องใช้อำนาจพิเศษเพื่อแช่แข็งพรรคการเมืองเอาไว้

เช่นเดียวกับร่างกฎหมาย สว.ก็มีปัญหาเช่นกัน เนื่องจาก สนช.ไปแก้ไขจากหน้ามือเป็นหลังมือพอสมควรซึ่งแตกต่างจากต้นร่างกฎหมายที่ กรธ.เสนอเข้ามาพอสมควร ด้วยการเอาสิ่งที่ตัวเองต้องการไปยัดไว้ในบทเฉพาะกาลของกฎหมายที่ให้ใช้ใน 5 ปีแรก เช่นการให้สมัคร สว. โดยอิสระและการสมัครผ่านองค์กรนิติบุคคล ไปจนถึงการกำหนดให้ สว.มาจากกลุ่มวิชาชีพจำนวน 10 กลุ่ม

จากการตีลังกาแก้ไขกฎหมายของสนช. จึงนำมาซึ่งการส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของร่างกฎหมายทั้งสองฉบับ ภายหลังทนกระแสวิพากษ์วิจารณ์ไม่ไหว โดยหากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้กฎหมายชุดนี้ตกไปทั้งหมด ไม่เพียงแต่การเลือกตั้งที่ต้องถูกเลื่อนออกไปแบบไม่มีกำหนดแล้ว แต่ยังทำให้สถานะของ สนช.ง่อนแง่นมากขึ้นไปอีกด้วย

2.การพิจารณาแต่งตั้งบุคคลเข้าไปดำรงตำแหน่งในองค์กรตามที่กฎหมายกำหนด

เรียกได้ว่าเป็นเรื่องที่ สนช.ถูกวิพากษ์วิจารณ์มากที่สุดในระยะหลังโดยเฉพาะอย่างยิ่งการลงมติไม่เลือกบุคคลให้ดำรงตำแหน่งกรรมการการเลือกตั้งจำนวน 7 คน ตามที่คณะกรรมการสรรหาและที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาเสนอมายัง สนช.

การล้มการเลือก กกต.นำมาซึ่งคำถามตามมามากมาย เนื่องจาก กกต.มีหน้าที่ในการจัดการเลือกตั้ง แต่กลับถูกสนช.ใช้มติเสียงข้างมากล้มกระดาน ย่อมมีคำถามคาใจว่า สนช.ต้องการล้มการเลือกตั้งด้วยหรือไม่

อย่างไรก็ดี เรื่องดังกล่าว สนช.ยังพอที่จะมีข้ออ้างที่ฟังขึ้น เพราะ สนช.เอาหลังพิงรัฐธรรมนูญที่ให้ สนช.มีอำนาจที่จะไม่ให้ความเห็นชอบได้

แต่การจะยกข้ออ้างในลักษณะดังกล่าว อาจใช้ไม่ได้กับการล้มกระดานเลือกกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เมื่อวันที่ 19 เม.ย.ที่ผ่านมา

สนช.พยายามชี้ให้เห็นว่าบัญชีรายชื่อจำนวน 14 คน ที่คณะกรรมการสรรหาเสนอมาให้ สนช.ต้องเลือกให้เหลือ 7 คน ปรากฏว่าคณะกรรมาธิการสามัญเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติและพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลผู้สมควรได้รับเลือกเป็นกรรมการ กสทช.รายงานว่ามีถึง 8 คน ที่มีปัญหาในเรื่องคุณสมบัติ ก่อนที่ สนช.จะมีมติเสียงข้างมาก 118 เสียง ไม่เลือก กสทช.

แม้ สนช.จะมีสิทธิอ้างได้ แต่ พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการ วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 ไม่ได้มีบทบัญญัติให้ สนช. สามารถใช้สิทธิปฏิเสธเพื่อไม่เลือกบุคคลใดได้ เพราะกฎหมายไม่ได้บอกว่าหากเกิดกรณีที่ สนช.ไม่เลือกใครเป็น กสทช.แล้วจะต้องทำอย่างไรต่อไป

หมายความว่า เมื่อคณะกรรมการสรรหาเสนอเข้ามาแล้ว สนช.มีหน้าที่ต้องเลือกว่าจะให้ใคร 7 คนเป็น กสทช. อีกทั้ง สนช.ไม่ได้มีอำนาจในการวินิจฉัยว่าแคนดิเดต กสทช.คนใดขาดคุณสมบัติด้วย เพราะโดยหลักต้องเป็นอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ หรือศาลปกครอง

ดังนั้น การที่ สนช.ใช้วิธีการแบบเสียงข้างมากลากไป เมื่อวันที่ 19 เม.ย. จึงเสี่ยงต่อการทำผิดกฎหมายเป็นอย่างยิ่ง

การกระทำของ สนช.ต่อเรื่องการสรรหา กสทช.ได้นำมาซึ่งความกังขาเกี่ยวกับความชอบธรรมของ สนช.อีกพอสมควร ภายหลังมีการปล่อยคลิปเสียงของสมาชิก สนช.ออกมาที่มีการอ้างว่านายกรัฐมนตรีไม่ปลื้มกับบัญชีรายชื่อผู้ผ่านการสรรหา กสทช.จนกระทั่ง สนช.ได้ทำการล้มกระดาน กสทช.ในเวลาต่อมา ซึ่งจะว่าไปแล้วเป็นเรื่องบังเอิญเกินไปหรือไม่

สนช.แม้จะอ้างว่าตนเองเข้ามาทำหน้าที่เพื่อการปฏิรูปประเทศ แต่เวลานี้ สนช.กำลังเผชิญกับปัญหาความชอบธรรมครั้งสำคัญ แน่นอนว่าระยะยาวไม่เพียงแต่จะกระทบต่อ สนช.เท่านั้น เพราะยังสั่นคลอนไปถึงการกลับเข้ามามีอำนาจทางการเมืองอีกครั้งของ คสช.ด้วย

ภาพลักษณ์ของ สนช.ในวันนี้ อาจจะยังไม่แย่เท่ากับสภาผู้แทนราษฎรในอดีต แต่ถ้าปล่อยไว้นานต่อไปก็มีโอกาสที่จะใกล้เคียงกับมาตรฐานที่ตกต่ำอย่างนั้นได้เช่นกัน