posttoday

เลือกตั้งสลับรัฐประหาร การเมืองไทยไม่พ้นระบบไฮบริด

21 เมษายน 2561

ที่สมาคมแห่งสถาบันพัฒนาการเมืองและการเลือกตั้ง (สพต.) ได้สัมมนาวิชาการเรื่อง “พัฒนาการเมืองภายใต้รัฐธรรมนูญ 60”

โดย ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

ที่สมาคมแห่งสถาบันพัฒนาการเมืองและการเลือกตั้ง (สพต.) ได้สัมมนาวิชาการเรื่อง “พัฒนาการเมืองภายใต้รัฐธรรมนูญ 60” โดยเชิญผู้เกี่ยวข้องร่วมแสดงความคิดเห็นประกอบด้วย ชาติชาย ณ เชียงใหม่ กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ เอนก เหล่าธรรมทัศน์ ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง และนิกร จำนง อดีตกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ โดยมีสาระน่าสนใจดังนี้

เอนก บอกว่า ประเทศไทยยังไม่ยอมเป็นประชาธิปไตยง่ายๆ แม้โดยทางการมีรัฐธรรมนูญ แต่ก็มีการยึดอำนาจ มีลักษณะทวิลักษณ์จริงๆ สลับกันระหว่างประชาธิปไตยกับการยึดอำนาจ ฟังดูคล้ายระส่ำไม่เป็นสาย แต่ที่จริงมีความต่อเนื่องโดยราชการและระบบกษัตริย์

“คิดว่าคนไทยขาดประชาธิปไตยไม่ได้ จึงต้องทำยังไงให้มีการเลือกตั้ง ขับเคลื่อนโดยพรรคการเมืองอย่างเป็นระบบ แต่มันก็เป็นแบบไฮบริด สลับระหว่างประชาธิปไตยกับทหาร เพราะคนไทยเองไม่ได้ผูกพันภักดีกับประชาธิปไตยมากนัก ขณะเดียวกันก็ไม่ได้ผูกพันภักดีที่จะยอมทหารมากนัก และมักไม่ค่อยจะสะดุดในระหว่างการเปลี่ยนผ่าน” เอนก ระบุ

ด้าน นิกร มองว่ารัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 กระทบต่อการพัฒนาการเมืองไทย และวัฒนธรรมการใช้สิทธิของประชาชนอย่างรุนแรง เช่น การกำหนดนโยบายของพรรคการเมือง ก็จะต้องผูกพันกับยุทธศาสตร์ชาติ รวมถึงจะต้องให้ กกต.ตรวจสอบนโยบายพรรคการเมืองก่อน หรืออย่างไพรมารีโหวต ก็เชื่อว่าจะไม่เกิด

นอกจากนี้ ยังมีอุปสรรคเรื่องการยืนยันจำนวนสมาชิกพรรคภายในวันที่30 เม.ย.นี้ ที่มีแนวโน้มว่าจะกลายเป็นรีเซตสมาชิกพรรค และทำให้เหลือพรรคการเมืองไม่กี่พรรค ขณะที่ประชาชนที่ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งถูกตัดสิทธิด้านต่างๆ หนักขึ้นกว่าเดิม อีกทั้งการที่จะต้องยึดตามหลักกับแผนยุทธศาสตร์ชาติที่ถูกร่างขึ้นมาโดยรัฐธรรมนูญ เมื่อพรรคการเมืองไม่สามารถนำความต้องการหรือความเดือดร้อนของประชาชนมากำหนดเป็นนโยบายได้ ก็จะส่งผลให้เกิดปัญหา เพราะไม่ให้การเมืองเคลื่อนไปตามระบบที่ควรจะเป็น

สำหรับโครงสร้างรัฐบาลชุดแรกหลังการเลือกตั้ง นิกร ประเมินว่า ในระยะเปลี่ยนผ่าน 5 ปี ถูกบล็อกโดยรัฐธรรมนูญ รัฐบาลน่าจะเกิดขึ้นในการโหวตก๊อกสอง คือไม่สามารถเลือกนายกฯจากบัญชีพรรคการเมืองได้ ส่วนเรื่องให้สองพรรคใหญ่รวมกัน ไม่มีทาง เพราะยังละลายพฤติกรรมไม่ได้ ยังจะเกิดเดดล็อกเลือกนายกฯ ไม่ได้ จึงต้องเลือกคนนอกในก๊อกสองอย่างหนีไม่พ้น

นอกจากนี้ การเลือกตั้งแบบใบเดียวมีผลทั้งบัญชีรายชื่อและแบ่งเขตซึ่งยังไม่เคยมี เป็นเรื่องที่คาดเดายาก สรุปได้ว่ารัฐบาลชุดหน้าจะเต็มไปด้วยความสับสนอลหม่าน ขณะที่คนไทยไปไกลตามโซเชียล ไม่ยอมไหลกลับจุดเดิมอีกแล้ว จึงขอเตือนว่าถึงเวลานั้นก็ตัวใครตัวมัน

นิกร ยังได้ยกตัวอย่างว่า นักวิชาการตะวันตกอย่าง ดร.ลารี่ ไดมอน จากสแตนฟอร์ด บอกว่า ขณะนี้ทั้งโลกมีปัญหาประชาธิปไตยกำลังทรุดตัว หลักการแรกคือการลดลงของประชาธิปไตยแบบเสรีไปสู่ประชาธิปไตยสุดโต่ง การเมืองแบ่งขั้วและอำนาจนิยมก็กำลังคืบคลานเข้ามา นี่เป็นเทรนด์ระดับโลก

ในขณะที่กลุ่มเอเชียในช่วงนี้เป็นการปกครองที่ไม่ค่อยโปร่งใส ประชาชนผิดหวังต่อรัฐบาล มีการเมืองแบบแบ่งขั้ว เกิดเดดล็อก ทำให้บรรทัดฐานทางสังคมเสื่อม มีการใช้ประชานิยมดึงอำนาจ เกิดการใช้อำนาจที่ไม่ถูกต้อง การตรวจสอบถ่วงดุลในสภาล้มเหลว สุดท้ายเป็นการกร่อนของระบบประชาธิปไตย จนเกิดอันตราย 6 อย่าง คือ 1.รัฐบาลไร้ธรรมาธิปไตย 2.เกิดการแบ่งขั้ว 3.ใช้ประชานิยมในการปกครอง 4.อำนาจนิยมคืบคลานมาปกครอง 5.รัฐจัดระเบียบควบคุมประชาชน 6.เข้าปกครองด้วยระบบทหาร

อย่างไรก็ตาม ในที่สุดเกิดการแตกขั้วเกิดการใช้ “เฮทสปีด” ผ่านสื่อโซเชียลมีเดียสร้างแรงกระเพื่อมและเสียหายมาก ทะเลาะ ใช้กำลัง เสียชีวิต ทหาร กองทัพก็เข้ามา มันนำไปสู่การยกเลิกรัฐธรรมนูญ

“ขอเสนอทางออกของการเมืองในอนาคตว่า เมื่อมันเข้าทางตันก็ควรทำสถาบันการปฏิรูปด้านต่างๆ ขึ้นโดยด่วน ดำเนินการให้โซเชียลมีเดียมีคุณภาพ ให้แข่งกับสื่อกระแสหลัก ในส่วนพรรคการเมืองต้องให้ทำให้เข้มแข็ง สุดท้ายการแก้รัฐธรรมนูญทำได้ ต้องให้คนมีอำนาจ คนในระบบยอมรับให้มีการแก้ได้หลังจากใช้ไป 5 ปีแล้ว” นิกร กล่าว

ขณะที่ ชาติชาย บอกว่า จากปัญหาวิกฤตโครงสร้างทางสังคม ทั้งความไม่เท่าเทียมกัน การทุจริตคอร์รัปชั่น การแตกแยกทางความคิด และการต่อสู้เพื่อเข้าสู่อำนาจแบบเอาเป็นเอาตาย เป็นที่มาของการร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 เพื่อเป็นทางออกของปัญหา โดยมุ่งให้ความสำคัญกับสิทธิเสรีภาพของประชาชน เปิดพื้นที่การเมืองภาคประชาชนมากขึ้น เนื่องจากในอดีตที่ผ่านมาพื้นที่การเมืองมากกว่าพื้นที่ทางสังคม เป็นการเมืองในลักษณะประชาธิปไตยแบบอำนาจนิยมแฝง

ขณะเดียวกันต้องวางระบบการเมืองให้โปร่งใส ป้องกันคนทุจริตเข้าสู่การเมือง ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับนี้ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงประเทศในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับประชาชน การบริหารราชการแผ่นดิน ด้านกฎหมาย และการปฏิรูปประเทศ

“การเมืองไทยมีโครงข่ายอำนาจหลากหลายที่เกิดการแก่งแย่งต่อสู้กัน ดังนั้นรัฐธรรมนูญฉบับนี้ จึงเสนอทางออกให้เปลี่ยนการเมืองไทยแบบแก่งแย่งเป็นการเมืองแบบประนอมอำนาจ เพื่อประคับประคองให้การเมืองเดินหน้าได้ และปรับความคิดการให้เป็นการเมืองแบบพอเพียง สามารถอยู่ด้วยกันอย่างเป็นกัลยาณมิตร” ชาติชาย ระบุ