posttoday

"บิ๊กตู่" สังกัดพรรค โอกาสไปไม่ถึงดวงดาว

17 เมษายน 2561

เหลือทางเดียวที่จะทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ กลับได้อย่างสง่างาม คือ การชนะเลือกตั้งและได้เสียงเหนือทุกพรรคการเมือง

เหลือทางเดียวที่จะทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ กลับได้อย่างสง่างาม คือ การชนะเลือกตั้งและได้เสียงเหนือทุกพรรคการเมือง

*****************************

ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

การตั้งพรรคการเมืองของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เริ่มชัดเจนขึ้นมาตามลำดับ ภายหลังปรากฏความเคลื่อนไหวของ “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” รองนายกรัฐมนตรี ในการประสานงานกับกลุ่มการเมืองหลายกลุ่มเพื่อทำพรรคการเมือง

โดยเฉพาะการให้ “อุตตม สาวนายน” รมว.อุตสาหกรรม เป็นหัวหน้าพรรค “สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์” รมว.พาณิชย์ เป็นเลขาธิการพรรค หลังฉากที่จะเข้ามาร่วมผลักดันให้เป็นรูปธรรมก็ล้วนเป็นกลุ่มนักการเมืองหน้าเก่ามากประสบการณ์ เช่น กลุ่มบ้านริมน้ำของ สุชาติ ตันเจริญ พรรคพลังชล ของ สนธยา คุณปลื้ม กลุ่มสะสมทรัพย์ ของ ไชยา สะสมทรัพย์

จากความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้น เห็นได้ว่าเป็นความพยายามสร้างการเมืองขั้วที่สามขึ้นมาเพื่อต่อสู้กับขั้วการเมืองเดิม ได้แก่ พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคเพื่อไทย

ทั้งสองพรรคดังกล่าว จะว่าไปแล้วก็อยู่ในช่วงขาลงอย่างเห็นได้ชัด เนื่องจากเป็นผู้สร้างเงื่อนไขให้เกิดความขัดแย้งทางการเมืองขึ้นมาก่อนในอดีต ประกอบกับต่างตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบในการเลือกตั้งภายใต้กติกาใหม่ที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 กำหนดขึ้นด้วย

ตรงนี้เองทำให้ คสช.พอประเมินตนเองและมองเห็นโอกาสว่าถ้าออกแรงเสียตั้งแต่ตอนนี้ก็พอจะมีโอกาสชนะการเลือกตั้งได้ เพราะเวลานี้ คสช.มีทั้งอำนาจ บารมี และงบประมาณอยู่ในกำมือ จึงไม่แปลกที่เวลานี้รัฐบาลจะพยายามออกโครงการสารพัดที่เกี่ยวกับการกระจายงบประมาณลงไปในหลายพื้นที่ เพื่อหวังซื้อใจจากประชาชนล่วงหน้าก่อนที่เสียงปี่กลองการเลือกตั้งจะดังขึ้นอย่างเป็นทางการ เรียกได้ว่าเป็นการชิงความได้เปรียบเหนือพรรคการเมือง

อย่างไรก็ดี แม้ความได้เปรียบจะอยู่ในมือ คสช.เกือบทั้งหมด แต่ก็ไม่ได้เป็นการการันตีว่า คสช.จะได้กลับเข้ามาเป็นรัฐบาลอีกครั้ง เพราะบทเรียนมีให้เห็นมาแล้วจากช่วงปลายของรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์เมื่อปี 2554 ที่พยายามเทงบประมาณลงไปเพื่อหวังชนะเลือกตั้ง แต่ถึงที่สุดแล้วก็แพ้ให้กับพรรคเพื่อไทย

โอกาสที่ประวัติศาสตร์จะซ้ำรอยอาจมีอีกครั้ง เพราะต้องยอมรับว่าถึงจะมีอำนาจและบารมีพร้อม แต่กระแสและความนิยมของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ใช่ว่าจะดีนัก เมื่อเทียบกับตอนเข้ามาบริหารประเทศในช่วงแรก

แต่เหนืออื่นใดกติกาของเส้นทางสู่เก้าอี้นายกฯ ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 เป็นอีกปัจจัยที่ พล.อ.ประยุทธ์ อาจไปไม่ถึงดวงดาว

รัฐธรรมนูญกำหนดให้นายกรัฐมนตรีมีที่มา 2 ทาง ได้แก่ 1.พรรคการเมืองเสนอชื่อจำนวน 3 คนต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในวันสมัครเลือกตั้ง ก่อนเสนอชื่อให้รัฐสภาลงมติเลือก และ 2.หากมีเหตุให้ไม่สามารถเลือกนายกฯ จากบัญชีของพรรคการเมือง จะเปิดโอกาสให้บุคคลภายนอกสามารถเข้ามารับการลงมติจากรัฐสภาเพื่อเป็นนายกฯ ได้

ดูไปดูมากติกาสูงสุดของประเทศเอื้อให้กับ พล.อ.ประยุทธ์ ในการกลับเข้ามาทำหน้าที่ต่ออยู่ไม่น้อย แต่พอเอาเข้าจริง เมื่อเข้าสู่ทางการปฏิบัติทุกอย่างมักจะเป็นอีกเรื่องหนึ่งเสมอ

ในสถานการณ์เช่นนั้น ถ้าพรรคของ คสช.ชนะการเลือกตั้งและได้จำนวน สส.มากที่สุดในสภาผู้แทนราษฎร แน่นอนว่าย่อมมีความชอบธรรมพอที่จะนั่งเก้าอี้ผู้นำประเทศได้

แต่หากสถานการณ์ไม่เป็นเช่นนั้น คือ มี สส.ไม่ถึงครึ่งของสภา หรือได้จำนวน สส.ที่น้อยกว่านั้น เรียกง่ายๆ ว่าเป็นพรรคหลักสิบ ความชอบธรรมที่จะให้รัฐสภาลงมติเลือกเพื่อให้มาเป็นนายกฯ จะมีเพียงพอหรือไม่ เพราะต่อให้เลือกเข้าไป จะแน่ใจได้อย่างไรว่านายกฯ ที่ต้องยืมจมูกพรรคการเมืองอื่นหายใจจะสามารถไปได้ตลอดรอดฝั่ง 4 ปี

ครั้นจะมาช่องทางของนายกฯ คนนอกโดยแท้ ลำบากไม่แพ้กัน เนื่องจากต้องยืมจมูกคนอื่นหายใจไม่ต่างกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งพรรคการเมืองที่ยกมือสนับสนุนจะออกลายทวงบุญคุณ จนนายกฯ ต้องใช้แรงไปกับการบริหารความขัดแย้งแทนการบริหารประเทศ

เหลือทางเดียวที่จะทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ กลับได้อย่างสง่างาม คือ การชนะเลือกตั้งและได้เสียงเหนือทุกพรรคการเมือง

เพียงแต่เวลานี้ คสช.กำลังตกอยู่ภายใต้คำถามว่ายังมีดีและได้รับความนิยมพอที่จะกลับมาเป็นรัฐบาลได้อีกครั้งหรือไม่