posttoday

จุดเสี่ยง คสช. ถ่ายอำนาจตั้งพรรคใหม่

13 เมษายน 2561

เปิดหน้าเตรียมก้าวสู่ถนนการเมืองเต็มตัวกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคสช.กับท่าทีล่าสุดต่อกระแสข่าวการตั้งพรรคของคนในรัฐบาล

โดย ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

เปิดหน้าเตรียมก้าวสู่ถนนการเมืองเต็มตัวกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กับท่าทีล่าสุดต่อกระแสข่าวการตั้งพรรคของคนในรัฐบาล

“ถ้าเขาตั้งพรรคขึ้นมาวันข้างหน้าก็ต้องไปดูว่าพรรคไหนเป็นอย่างไร เราควรจะสนับสนุนหรือเปล่า หรือจะสนับสนุนพรรคไหนอย่างไร แต่วันนี้เขายังไม่มาเชิญสักคนเลย ...ผมเห็นเขาคุยกันอยู่ แต่เขายังไม่พูดอะไรกับผม และยังไม่มีการทาบทาม แต่ถ้ามีการทาบทามก็ต้องขอคิดดูก่อน ผมบอกแล้วว่าผมจะต้องพิจารณาใคร่ครวญอีกทีว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ นโยบายของพรรคตรงกับที่ผมได้ทำมาแล้วหรือเปล่า” พล.อ.ประยุทธ์ ระบุ

สอดรับไปกับท่าทีจากฝั่ง สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ ที่ระบุว่า “ผมไม่ได้พูดสักคำเรื่องตั้งพรรค หากตั้งพรรค ลูกน้องผมตั้ง ผมแก่แล้วอย่ากังวล ผมปรารถนาดีต่อประเทศชาติ และท่านนายกฯ มุ่งหวังอยากให้ทุกคนร่วมมือร่วมใจกัน นำพาประเทศไปข้างหน้าไม่กลับไปขัดแย้งกันอีก”

ขณะที่ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี และรัฐบุรุษ กล่าวอวยพรวันสงกรานต์ขอให้ พล.อ.ประยุทธ์เป็นเสาหลักประเทศ และให้ ผบ.เหล่าทัพและตำรวจ เป็นแรงสนับสนุนที่ดีของนายกฯ ให้สามารถบริหารประเทศของเราสำเร็จให้ได้

นำมาสู่ท่าทีจาก พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกฯ ที่ระบุว่าในฐานะเพื่อนและทำงานร่วมกันมานาน พร้อมสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์เต็มที่ และการวางแนวทางยุทธศาสตร์ของรัฐบาลเป็นแนวทางที่ถูกต้อง ใครจะมาเป็นรัฐบาลต่อไปถ้าทำต่อจะดี และเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ

ไล่เรียงดู “จิ๊กซอว์” แต่ละตัวที่ปรากฏเวลานี้ ก็น่าจะสามารถปะติดปะต่อภาพใหญ่เห็นทิศทางการเมืองนับจากนี้ได้ไม่ยาก ดังจะเห็นสัญญาณจากฝั่งคนการเมืองเริ่มออกมาดักคอการตั้งพรรคของ คสช. ว่าจะเป็นการเอาเปรียบพรรคการเมืองอื่นๆ มากเกินไป

โดยเฉพาะ นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่ระบุถึงกระแสข่าวการดึงตัวอดีต สส.ประชาธิปัตย์เข้าพรรคทหารนั้น เป็นการกระทำที่ย้อนยุคเหมือนสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม ซึ่งไม่ใช่การปฏิรูปการเมืองอย่างที่กล่าวอ้าง ซ้ำร้ายยังเป็นการเอาเปรียบกันมากๆ และไม่ควรจะทำด้วย

ท่าทีจากฝั่งการเมืองที่ออกมาดักคอการขยับตั้งพรรค คสช.นั้น ตอกย้ำให้เห็นความหวาดวิตกกับการใช้อำนาจของรัฐบาล คสช. ยิ่งเมื่อรวมกับกลไกตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายลูก อาจส่งผลต่อผลการเลือกตั้งอนาคตอย่างมีนัยสำคัญ

ยิ่งในฐานะของ คสช.ที่ทำงานสอดประสานกับแม่น้ำ 5 สาย ร่วมวางกฎกติกา โดยเฉพาะระบบเลือกตั้งด้วยแล้ว ย่อมถูกมองว่ามีความได้เปรียบ และอาจถึงขั้นเข้าข่ายผลประโยชน์ทับซ้อนด้วย

ยังไม่รวมกับการอัดฉีดเม็ดเงินผ่านสารพัดโครงการที่ส่งตรงลงพื้นที่ในช่วงที่คะแนนนิยมของรัฐบาล คสช.กำลังลดต่ำลงเรื่อยๆ และใกล้จะมีการเลือกตั้ง จนถูกหยิบยกไปเทียบเคียงกับการหาเสียงของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง

ที่สำคัญ ในฐานะ คสช.ที่จะยังคงอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในมือไปจนถึงก่อนการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ได้นั้น ย่อมสร้างความได้เปรียบเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการเปลี่ยนสถานะจาก “กรรมการ” มาเป็น “ผู้เล่น” 

ความได้เปรียบเหล่านี้ วิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ชี้แจงว่า “ถ้าจะกล่าวหาว่าเป็นการได้เปรียบมันก็ได้เปรียบอยู่แล้ว รัฐบาลทุกยุคทุกสมัยมีอำนาจหน้าที่ตรงนี้อยู่ ส่วนที่มีข่าวว่าคนในรัฐบาลจะตั้งพรรคการเมืองนั้น ผมไม่ทราบ”

ทว่า ความได้เปรียบเหล่านี้อีกด้านหนึ่งอาจเป็นดาบสองคมที่จะย้อนกลับมาสร้างปัญหาให้ คสช.ในอนาคต

เริ่มตั้งแต่การถูกร้องเรียนหลังการเลือกตั้งจากทุกฝ่ายว่าการกระทำของ คสช.แต่ละเรื่องนั้น เข้าข่ายผิด พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง หรือไม่

ทั้งมาตรา 29 ที่ระบุ ห้ามมิให้ผู้ใดซึ่งมิใช่สมาชิกกระทำการใดอันเป็นการควบคุมครอบงำหรือชี้นำกิจกรรมของพรรคการเมืองไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม หรือไม่

รวมทั้งมาตรา 56 ของร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้ง สส. ห้ามมิให้เจ้าหน้าที่ของรัฐใช้ตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบด้วยกฎหมายกระทำการใดๆ เพื่อเป็นการให้คุณหรือเป็นโทษแก่ผู้สมัคร หรือพรรคการเมือง

หากพิจารณาเวลานี้ หลายโครงการภายใต้นโยบาย ไทยนิยมยั่งยืน ที่มีการวางกลไกตัั้งแต่ระดับชาติจนถึงระดับหมู่บ้านนั้นถูกมองว่าจะเป็นกลไกซื้อใจเร่งทำคะแนนของรัฐบาล คสช.ที่อาจถูกวิพากษ์วิจารณ์ในอนาคตได้

ยิ่งในฐานะ คสช.ที่ขันอาสาวางกฎกติกาวางบรรทัดฐานยกระดับการเมืองให้แตกต่างจากที่ผ่านมา ย่อมต้องทำตัวเป็นตัวอย่างให้เห็น หากมีเรื่องเหล่านี้เข้ามาพัวพันย่อมกระทบไปถึงสิ่งที่ทำมาทั้งหมด 

สืบเนื่องไปจนถึงบรรดาเรื่องร้องเรียนต่างๆ ที่จะยิ่งทำให้สังคมจับตาไปยัง “องค์กรอิสระ” ที่ คสช. และแม่น้ำ 5 สาย กำหนดให้ใครถูกเซตซีโร่ ใครถูกรีเซต หรือใครอยู่ต่อ จะเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกับการชี้ขาดความผิดของรัฐบาล คสช. ที่จะเป็นบทพิสูจน์ความน่าเชื่อถือขององค์กรเหล่านี้

การใช้อำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในมือจึงอาจเป็นดาบสองคมที่เหมือนจะทำให้รัฐบาล คสช.ได้เปรียบในวันที่จะผันตัวไปลงสนามเลือกตั้ง แต่หากไม่ระมัดระวังนี่จะเป็นจุดเสี่ยงที่ย้อนกลับมาสร้างปัญหาในอนาคต