posttoday

สนช.ยื่นศาลตีความ แอบลุ้นยื้อเลือกตั้ง

30 มีนาคม 2561

ในที่สุดก็ทนกระแสกดดันไม่ไหว ภายหลัง สนช. ตัดสินใจยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

ในที่สุดก็ทนกระแสกดดันไม่ไหว ภายหลัง สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ตัดสินใจยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง สส. เป็นฉบับที่สองต่อจากร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว. ซึ่งเป็นร่างกฎหมายที่ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำสั่งรับเอาไว้พิจารณาแล้วเมื่อไม่นานมานี้

การส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความร่างกฎหมายเลือกตั้ง สส.ของ สนช.นั้น สร้างความประหลาดใจให้กับหลายฝ่ายพอสมควร เพราะต้องไม่ลืมว่าก่อนหน้านี้สมาชิก สนช.ต่างขานเป็นเสียงเดียวกันว่าไม่มีความจำเป็นที่จะต้องส่งเรื่องนี้ให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา

สาเหตุที่ สนช.ในเวลานั้นมีความมั่นใจว่าถึงอย่างไรเสียก็ไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญแน่นอน คือ ศาลรัฐธรรมนูญเคยมีคำวินิจฉัยยืนยันว่าอำนาจการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ เป็นอำนาจที่สมบูรณ์ของ สนช. ดังนั้นหาก สนช.จะแก้ไขถ้อยคำในร่างกฎหมายให้แตกต่างไปจากหลักการที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เสนอมาก็ไม่น่าจะผิดแต่อย่างใด อันนำมาซึ่งคะแนนเสียง 211 เสียงที่เห็นชอบกับร่างกฎหมายดังกล่าว

ความแข็งกร้าวของ สนช.ยังไม่หยุดเพียงเท่านั้น เพราะแม้ “มีชัย ฤชุพันธุ์” ประธาน กรธ. จะแสดงความคิดเห็นว่าร่างกฎหมายเลือกตั้ง สส.ที่ สนช.ให้ความเห็นชอบอาจมีประเด็นที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ แต่ สนช.ก็เสียงแข็งว่าไม่ยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญ โดยไม่แยแสเสียงท้วงติงของเดี่ยวมือหนึ่งอย่างประธาน กรธ.

ทว่าทันทีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ส่งสัญญาณออกมาเมื่อวันที่ 27 มี.ค. ว่าควรต้องตรวจสอบให้เรียบร้อย ปรากฏว่า สนช.ก็กลับลำทันที

“ขณะนี้รัฐบาลได้รับร่างดังกล่าวแล้วและยังมีเวลาในการพิจารณาก่อน ที่จะนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย ในวันที่ 12 เม.ย. จึงให้ฝ่ายกฎหมายได้ตรวจสอบอีกครั้งว่าควรจะยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความหรือไม่ หากมีการยื่นให้ตีความก็
ไม่น่าจะใช้เวลาช้าเกินไป จึงขอความกรุณาให้ศาลรับเรื่องเหล่านี้ไปพิจารณา

สิ่งสำคัญที่ตนระมัดระวังมากที่สุดคือ ไม่ให้มีปัญหาในขั้นตอนการทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อลงพระปรมาภิไธย ที่จะมีความขัดแย้งไม่ได้ จึงขอให้เข้าใจรัฐบาลด้วยและไม่ต้องการโยนความรับผิดชอบไปที่อื่น รัฐบาลนี้จะไม่ทำ แบบนั้น แต่ต้องแก้ปัญหาให้ได้” ท่าทีของนายกฯ ต่อเรื่องกฎหมายเลือกตั้ง 

เมื่อนายกฯ โยนลูกออกมา สนช.รับลูกนั้นทันที พร้อมกับรวบรวมรายชื่อสมาชิก สนช.ให้ได้ 25 คน เพื่อส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญ

จากสิ่งที่เกิดขึ้นทำให้เกิดคำถามว่า เมื่อร่างกฎหมายอยู่ในมือนายกฯ แล้ว ทำไมนายกฯ ไม่ยื่นไปยังศาลรัฐธรรมนูญด้วยตนเอง ทั้งๆ ที่รัฐธรรมนูญได้ให้อำนาจนายกฯ สามารถส่งเรื่องไปที่ศาลรัฐธรรมนูญได้ด้วยตัวเอง

คำตอบ คือ นายกฯ ไม่ต้องการตกเป็นเครื่องมือทางการเมืองว่าเป็นต้นเหตุของการพยายามยื้อการเลือกตั้ง

จริงอยู่เพียงแค่การยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความนั้น ไม่ได้กระทบต่อโรดแมปเลือกตั้งเท่าใดนัก เพราะโรดแมปจะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงก็ต่อเมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่าร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง สส.ขัดกับรัฐธรรมนูญ และมีผลให้ต้องตกไปทั้งฉบับพร้อมกับต้องไปนับหนึ่งใหม่อีกครั้ง

แม้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 จะมีหลักการในด้านหนึ่งว่าหากประเด็นที่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่สาระสำคัญ จะไม่มีผลให้ร่างกฏหมายต้องตกไปทั้งฉบับก็ตาม แต่ประเด็นที่หลายฝ่ายวิจารณ์ในเวลานี้และได้ยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา เช่น การช่วยเหลือผู้พิการในการลงคะแนนเลือกตั้ง เป็นต้น เป็นหลักการสำคัญของการเลือกตั้งที่ต้องเป็นไปโดยตรงและโดยลับ ดังนั้น ถ้าศาลเห็นว่าประเด็นนี้ขัดกับรัฐธรรมนูญก็อาจมีผลให้ร่างกฎหมายต้องตกไปทั้งฉบับ

ลองนึกภาพดูว่า ถ้านายกฯ เป็นผู้เสนอคดีต่อศาลรัฐธรรมนูญด้วยตัวเองและมีผลออกมาเช่นนี้ หมายความว่าการเลือกตั้งต้องถูกเลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนด เท่ากับว่านายกฯ จะถูกมองว่าเป็นตัวการในการล้มการเลือกตั้ง ทางที่ดีจึงเลือกให้ สนช.เป็นผู้รับเผือกร้อนชิ้นนี้เอาไว้แทน เรียกได้ว่าสลับหน้ากันเล่นเกม 

สนช.และรัฐบาลอยู่บนเรือลำเดียวกัน สนช.จึงไม่มีทางเลือกมากนัก เพราะต่างฝ่ายต่างต้องช่วยกันอุ้มให้สามารถเอาตัวรอดกันได้ในสถานการณ์เช่นนี้ อีกทั้ง สนช.จำนวนไม่น้อยแอบหวังที่จะกลับเข้ามามีอำนาจอีกครั้งผ่านการเป็น สว.สรรหาที่ คสช.จะเป็นผู้เลือกคนเข้ามาทำงาน ทำให้ต้องลงมาช่วยนายกฯ ทำภารกิจนี้

อย่างไรก็ตาม ถึงจะถูกมองว่า สนช.และ คสช.กำลังเล่นเกมเพื่อยื้อเลือกตั้ง แต่ด้านหนึ่งก็สามารถยกข้ออ้างว่าไม่ต้องการให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะในอนาคต มาหักล้างข้อครหาของบางฝ่ายที่กล่าวหาว่ารัฐบาลอยากยื้อเลือกตั้งได้

เรียกได้ว่าการร่วมเล่นเกมนี้ของรัฐบาลและ สนช.ต่างวินวินทั้งคู่และมีแต่ได้กับได้

โดยถ้าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ร่างกฎหมายเลือกตั้ง สส.ขัดกับรัฐธรรมนูญ สนช.จะได้อยู่ในตำแหน่งต่อไปอีก พร้อมกับจะเข้ามามีบทบาทในการจัดทำกฎหมายเลือกตั้งฉบับใหม่ หรือถ้าศาลรัฐธรรมนูญเห็นด้วยกับร่างกฎหมายเลือกตั้ง สส. ย่อมหมายความว่า คสช.จะเป็นผู้คุมเกมการเลือกตั้งโดยสมบูรณ์ เพราะร่างกฎหมายเลือกตั้งที่ สนช.ได้แก้ไขไว้นั้นไม่ต่างอะไรกับการเป็นกับดักให้กับฝ่ายการเมือง

เวลานี้ สนช.และ คสช.มีหน้าที่เพียงนั่งรอเวลาฟังคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญอย่างสบายใจเท่านั้น