posttoday

10 อุตสาหกรรม กระทบมาก-น้อยแค่ไหน เมื่อขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท

06 พฤษภาคม 2567

ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท/วัน กระทบ 10 อุตสาหกรรม มาก-น้อย แตกต่างกันออกไป แต่อยู่ในวงจำกัด โบรกฯ แนะหากราคาหุ้นตอบสนองต่อประเด็นนี้มากเกินไป ถือเป็นโอกาสสะสมหุ้นพื้นฐานแกร่ง

ค่าแรง เป็นหนึ่งในต้นทุนของอุตสาหกรรมต่างๆ ล่าสุด รมว.แรงงาน ประกาศชัดเจนว่าวันที่ 1 ต.ค.2567 จะปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท/วัน ทุกอาชีพ ทุกกิจการทั่วประเทศ 

ทั้งนี้ “โพสต์ทูเดย์” จึงได้หยิบยกบทวิเคราะห์ของฝ่ายวิจัย บล. เอเซีย พลัส ซึ่งได้นำเสนอถึงผลกระทบในแต่ละอุตสาหกรรมว่าจะกระทบมากน้อยเพียงใด โดยมีรายละเอียด ดังนี้

อุตสาหกรรมรับเหมาก่อสร้าง : เป็นอุตสาหกรรมที่มีการใช้แรงงานจำนวนมาก โดยต้นทุนค่าแรงที่อิงกับค่าแรงขั้นต่ำ จะอยู่ในส่วนของคนงานก่อสร้างที่มีทั้งการจ้างโดยตรงและการจ้างผ่านผู้รับเหมาช่วง ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 20-30% ของต้นทุนก่อสร้าง โดยเงินที่จ้างผ่านผู้รับเหมาช่วงจะมีการรวมทั้งค่าแรงงานและค่าวัสดุก่อสร้างเข้าไปด้วย หากตั้งสมมุติฐานว่าค่าแรงอย่างเดียวคิดเป็นสัดส่วน 50% ของค่าจ้างเหมาช่วง เท่ากับว่าต้นทุนที่อิงกับค่าแรงขั้นต่ำน่าจะมีสัดส่วนประมาณ 10-15% ของต้นทุนก่อสร้าง 

โดยการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทุก 1% จะกระทบต่อต้นทุนการก่อสร้าง 0.10-0.15% แต่ในทางปฏิบัติ หากมีการปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำจริง บริษัทรับเหมาก่อสร้างและบริษัทที่รับเหมาช่วงจะแบ่งกันรับภาระค่าแรงที่เพิ่มขึ้นไปคนละส่วน อีกทั้งบริษัทรับเหมางานภาครัฐจะมีเงินชดเชยจากค่า K ซึ่งมีเงินเฟ้อเป็นองค์ประกอบในการคำนวณด้วย 

ดังนั้นผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทุก 1% ฝ่ายวิจัย ประเมินว่าจะกระทบต่อต้นทุนการก่อสร้างไม่เกิน 0.1% สำหรับการปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำขึ้นจาก 363 บาท เป็น 400 บาท หรือปรับเพิ่มขึ้น 10% จะทำให้บริษัทรับเหมามีอัตรากำไรขั้นต้นลดลงราว 1% จากปัจจุบันที่บริษัทรับเหมาฯ มี GROSS MARGIN เฉลี่ย 6-10% และมี NET PROFIT MARGIN 2-6% ถือว่าค่อนข้างมีนัยสำคัญต่อผลประกอบการของบริษัทรับเหมาก่อสร้าง โดยผู้ที่ได้รับผลกระทบมาก ได้แก่ บริษัทรับเหมาที่มีอัตรากำไรต่ำและให้แรงงานสูง อย่าง ITD, NWR

อุตสาหกรรมนิคม : ฝ่ายวิจัย ประเมินว่า ผลกระทบของการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ จะมีผลกระทบต่อยอดขายที่ดินนิคมฯ ในวงจำกัด เนื่องจากหากย้อนไปปี 2553-2555 ที่มีการปรับขึ้นค่าแรงจาก 215 บาท/วัน เป็น 300 บาท/วัน (+40%YoY) หาก
เปรียบเทียบการขึ้นค่าแรงกับกับยอด PRE-SALE ของ AMATA พบว่า ยอด PRESALE ไม่ได้ลดลง 

อย่างไรก็ตาม ช่วงเวลาดังกล่าว มีการปรับลดอัตราภาษีเงินได้นิติหกดบุคคลลลงมาเป็นการชดเชยด้วยในรอบนี้จึงต้องรอติดตามว่าจะมีแนวทางใดเข้ามาดึงดูดความน่าสนใจในการเข้ามาลงทุนเป็นการชดเชย แม้ค่าแรงจะปรับเพิ่ม แต่ประเทศไทยยังมีจุดเด่นที่เหนือกว่าประเทศอื่นๆ ในประเทศเพื่อบ้าน เช่น โครงสร้างพื้นฐานที่พร้อมและกรรมสิทธิ์ในการเป็นเจ้าของที่ดิน เป็นต้น 

ขณะที่กลุ่มขนส่ง (LOGISTICS) มีผลค่อนข้างจำกัดเช่นกัน เนื่องจากเงินเดือนอยู่ในระดับที่สูงกว่าค่าแรงขั้นต่ำ และ COMMISSION ขึ้นกับจำนวนที่ขายได้

อุตสาหกรรมพัฒนาที่อยู่อาศัย : แนวโน้มการปรับขึ้นค่าแรงสู่ระดับ 400 บาท/วัน ย่อมส่งผลเชิงลบต่อต้นทุนการพัฒนาโครงการของผู้ประกอบการที่อยู่อาศัยทุกราย โดยหากพิจารณาโครงสร้างต้นทุนสัดส่วนหลัก 30-40% มาจากต้นทุนที่ดิน ด้วยต้นทุนก่อสร้างและแรงงาน 40-50% ที่เหลือเป็นงานโครงสร้างและอื่นๆ ภายใต้การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ และปัจจัยอื่นไม่มีการเปลี่ยนแปลง หากอิงจากข้อมูลของผู้ประกอบการบางรายประเมินต้นทุนการพัฒนาจะเพิ่มขึ้น 10% ย่อมกระทบต่อประสิทธิภาพทำกำไร 

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าผู้ประกอบการจะสามารถจัดการกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวได้ ผ่านการส่งผ่านไปยังราคาขายตามต้นทุนใหม่ ซึ่งหมายถึงราคาขายอาจต้องปรับขึ้น 5-10% เพื่อรักษามาร์จิ้นไว้ รวมถึงบริหารจัดการต้นทุนอื่น เช่น ใช้ประโยชน์จากระบบ PRECAST ในการก่อสร้างมากขึ้นเพื่อลดแรงงานคน, ปรับรูปแบบสินค้า เปลี่ยนวัสดุ ลดขนาดบ้าน ฯลฯ เพื่อไม่ให้กระทบต่อมาร์จิ้นอย่างมีนัยฯ

ทั้งนี้ จากการศึกษาข้อมูลเรื่องประสิทธิภาพทำกำไรตลอดช่วงกว่า 10 ปีที่ผ่านมา (ปี 2551-2565) พบว่า ผู้ประกอบการยังสามารถรักษา GROSS MARGIN (GP) ในกรอบ 31-35% และ NORM PROFIT MARGIN กรอบ 12-15% แม้เผชิญกับวัฏจักรเรื่องต้นทุนก่อสร้างและแรงงานที่ปรับขึ้นก็ตาม (ยกเว้นปี 2563 ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด และส่วนใหญ่เน้นขายสต๊อกพร้อมลดราคา ทำให้ GP ปีดังกล่าวลงมาอยู่ที่ 31-32% ก่อนเห็นการฟื้นตัวขึ้นในปีถัดไป) 

ฝ่ายวิจัย ประเมินประเด็นการขึ้นค่าจ้างข้างต้นยังไม่น่ากังวลเท่าปัญหาอื่น โดยเฉพาะเศรษฐกิจไทยที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มกำลัง, ดอกเบี้ยไทยระดับสูง และการเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อของแบงก์ที่เข้ามากระทบต่อกำลังซื้อและมีผลเชิงลบต่อยอดขายและโอนฯ ซึ่งมีน้ำหนักกดดันต่อการทำกำไรมากกว่าประเด็นเรื่องค่าแรง

อุตสาหกรรมท่องเที่ยวและสนามบิน : อิงข้อมูลปี 2566 เริ่มด้วย CENTEL มีค่าใช้จ่ายผลประโยชน์ของพนักงานราว 5 พันล้านบาท หรือราว 25% ของ OPEX (CGS +SG&A) ส่วน ERW มีค่าใช้จ่ายผลประโยชน์พนักงานราว 1.6 พันล้านบาท หรือ 29% ของ OPEX ขณะที่ MINT รายได้กว่า 50% มาจากใน EU ผลกระทบจึงจำกัดกว่ากลุ่มฯ ด้าน AOT สัดส่วนพนักงานที่รับค่าแรงขั้นต่ำมีไม่สูง โดยผลต่อโรงแรมไทย อย่าง CENTEL และ ERW เนื่องจากมีการปรับขึ้นสู่ 400 บาท ในจังหวัดท่องเที่ยว ตั้งแต่วันที่ 13 เม.ย.2567 ผลกระทบจากการปรับในจังหวัดที่เหลือ 400 บาท/วัน รอบที่เหลือจึงน้อย 

ประกอบกับพนักงานส่วนใหญ่ในธุรกิจโรงแรมได้รับสูงกว่าค่าแรงขั้นต่ำ การขึ้นค่าแรงเป็นต้นทุนของทั้งระบบ ภายใต้แนวโน้มการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวต่างชาติมาไทย คาดเห็นการส่งผ่านต้นทุนส่วนเพิ่มไปยังค่าห้องพัก (ADR) ทั้งอุตสาหกรรมในช่วงถัดไป อย่างไรก็ดี ธุรกิจร้านอาหาร (สัดส่วนราว 58% ของรายได้ปี 2566) การส่งผ่านต้นทุนอาจต้องใช้เวลานานกว่าธุรกิจโรงแรม จากภาวะหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ในระดับสูง

การลงทุนหุ้นในกลุ่มฯ ยังคงเลือก AOT (FV@B74) ที่ได้รับประโยชน์มากสุดจากการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวต่างชาติมาไทย ส่วนกลุ่มโรงแรม ให้คำแนะนำ NEUTRAL ทั้ง 3 ตัว แม้ MINT (FV@B35) ทิศทางกำไรปกติงวดไตรมาส 2/2567 จะดีกว่ากลุ่มฯ จาก SEASONALITY ใน EU (ไทยเป็น LOW SEASON) แต่ราคาหุ้น OUTPERFORMED ตลาดพอสมควร จากความคาดหวังกับมหกรรมกีฬาใหญ่ในภาคพื้นยุโรป ทั้งโอลิมปิก ปารีส (26 ก.ค.-11 ส.ค.2567) และฟุตบอลยูโรที่เยอรมนี (14 มิ.ย.-14 ก.ค.2567) น่าจะสะท้อนไปแล้ว จึงมองกลุ่มโรงแรมไทยไทยทั้ง CENTEL (FV@B46) และ ERW ([email protected]) ที่มีโมเมนตัม QoQ ต่อเนื่อง 3 ไตรมาส หลังผ่าน LOW SEASON ในงวดไตรมาส 2 และราคาหุ้นปรับตัวขึ้นช้ากว่า มีความน่าสนใจกว่าในเชิงกลยุทธ์

อุตสาหกรรมเช่าซื้อ : ฝ่ายวิจัย มองสัดส่วนพนักงานที่มีค่าแรงขั้นต่ำไม่สูง ในทางตรงข้ามคาดหวังแรงส่งจากการขึ้นค่าแรง หนุนกำลังซื้อในประเทศดีขึ้น บวกต่อทั้งการได้รับวงเงินสินเชื่อและความสามารถในการชำระหนี้ เลือก MTC (FV@B51)  >TIDLOR (FV@B26) > SAWAD ([email protected]) รวมทั้งกลุ่มบัตรเครดิต อย่าง AEONTS 

อุตสาหกรรมพลังงานและปิโตรเคมี : ภาพรวมธุรกิจในอุตสาหกรรมพลังงานไม่ได้อิงกับการใช้แรงงาน โดยโครงสร้างต้นทุนส่วนใหญ่จะอิงกับราคาพลังงาน, ค่าเสื่อมราคา เป็นหลัก ในขณะที่ค่าใช้จ่ายพนักงาน (SG&A) ส่วนใหญ่จะเป็นการจ่ายในรูปแบบของเงินเดือน, โบนัส ดังนั้นการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ จึงไม่ได้ส่งผลผลกระทบโดยตรงอย่างมีนัยฯ ต่อโครงสร้างต้นทุน หรือผลการดำเนินงานบริษัทในกลุ่มนี้ 
อุตสาหกรรมค้าปลีก : คาดได้รับผลกระทบจากการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 400 บาท/วัน แต่หากพิจารณาเฉพาะหุ้นกลุ่มพาณิชย์ที่เราศึกษา ส่วนใหญ่จะได้รับผลกระทบไม่มากนัก เพราะพนักงานที่ได้รับค่าแรงขั้นต่ำมีสัดส่วนน้อยเมื่อเทียบกับจำนวนพนักงานทั้งหมด (มีสัดส่วน 10-20%) โดยค่าใช้จ่ายที่จะเพิ่มขึ้นจากการปรับขึ้นค่าแรงจะมีสัดส่วนต่ำกว่า 0.5% ของยอดขายของแต่ละราย นอกจากนี้ คาดผลจากค่าแรงที่สูงขึ้นจะชดเชยได้บางส่วนจากยอดขายที่จะเพิ่มขึ้นในระยะถัดไป ตามกำลังซื้อที่มีมากขึ้น

อุตสาหกรรมสื่อสาร : ผลกระทบต่อการดำเนินงานของหุ้นในกลุ่ม ICT มีน้อยมาก หากมีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 400 บาท/วัน เพราะพนักงานส่วนใหญ่จะได้รับผลตอบแทนที่สูงกว่าค่าแรงขั้นต่ำอยู่แล้ว นอกจากนี้ยังเป็นอุตสาหกรรมที่มีการใช้
งาน AI ช่วยในการดำเนินงานแทนพนักงานระดับต้นด้วย (เช่น งาน CALL CENTER ของบริษัทที่ให้บริการโทรศัพท์มือถือ)

อุตสาหกรรมเครื่องดื่ม : คาดได้รับผลกระทบจากการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 400บาท/วัน เล็กน้อย เนื่องจากพนักงานส่วนใหญ่ได้รับค่าตอบแทนที่สูงกว่าค่าแรงขั้นต่ำอยู่แล้ว อีกทั้งยังมีการใช้งานเครื่องจักรอัตโนมัติในโรงงาน ซึ่งช่วยในการดำเนินงานแทนพนักงานระดับต้นอีก

อุตสาหกรรมการแพทย์ : หากดูโครงสร้างต้นทุน ค่าธรรมเนียมแพทย์ บวกกับต้นทุนยา มีสัดส่วนเกือบ 70% ดังนั้นการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ กระทบต่อกลุ่มโรงพยาบาลจำกัด เพราะบุคคลากรทางการแพทย์ได้รับค่าตอบแทนสูงกว่าค่าแรงขั้นต่ำอยู่แล้ว มองในทางตรงกันข้าม การขึ้นค่าแรงจะส่งผลเชงบวกทางอ้อมจากความสามารถในการบริโภคที่เพิ่มขึ้น

การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 400บาท/วัน หากเกิดขึ้นจริง คาดผลกระทบในแต่ะละอุตสาหกรรมแตกต่างกันออกไป แต่อยู่ในวงจำกัด (ไม่มีนัยฯ มากนัก) ดังนั้นหากราคาหุ้นตอบสนองต่อประเด็นนี้มากเกินไป ถือเป็นโอกาสในการสะสมหุ้นพื้นฐานแข็งแกร่ง