posttoday

กฎหมายเลือกตั้ง สส. ระเบิดเวลาล้มโรดแมป

21 มีนาคม 2561

ไม่มีใครคาดคิดว่า ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง สส. กำลังจะกลายมาเป็นปัญหาในวันนี้ หลังจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

ไม่มีใครคาดคิดว่า ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง สส. กำลังจะกลายมาเป็นปัญหาในวันนี้ หลังจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แสดงท่าทีไม่ยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายดังกล่าว

เดิมทีเมื่อครั้งมีการตั้งคณะกรรมาธิการร่วมกัน 3 ฝ่ายระหว่าง คณะกรรมการการเลือกตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ และ สนช. ต่างเห็นตรงกันว่าปัญหาในถ้อยคำของร่างกฎหมายเลือกตั้ง สส.เป็นเรื่องทางเทคนิคที่สามารถยอมกันได้ โดยไม่ได้เป็นวิวาทะเหมือนกับการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว.

แต่มาถึงเวลานี้ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง สส.กำลังจะเป็นระเบิดเวลาลูกใหญ่ หาก สนช.หรือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชานายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ไม่ยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าร่างกฎหมายขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่

ประเด็นสำคัญอยู่ที่ร่างกฎหมายเลือกตั้ง สส. มาตรา 92 ว่าด้วยการอำนวยความสะดวกให้กับคนพิการ ทุพพลภาพ ผู้สูงอายุ ในการออกเสียงลงคะแนน

“จะให้มีการช่วยเหลือในการออกเสียงลงคะแนนภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง ในการให้ความช่วยเหลือดังกล่าวต้องให้บุคคลนั้นได้ออกเสียงลงคะแนนด้วยตนเองตามเจตนาของบุคคลนั้น

เว้นแต่ลักษณะทางกายภาพทำให้ไม่สามารถทำเครื่องหมายลงในบัตรเลือกตั้งได้ ให้บุคคลอื่นหรือกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งเป็นผู้กระทำโดยความยินยอมและเป็นไปตามเจตนาของคนพิการหรือทุพพลภาพ หรือผู้สูงอายุนั้น ทั้งนี้ ให้ถือเป็นการออกเสียงลงคะแนนโดยตรงและลับ” สาระสำคัญของมาตรา 92

มาตรา 92 ที่ออกมาทำให้เกิดมุมมองที่แตกต่างกันระหว่าง กรธ.และ สนช.อย่างสิ้นเชิง

กรธ.มองว่าการบัญญัติมาตรา 92 ในลักษณะดังกล่าวจะมีผลให้การเลือกตั้งขัดกับหลักการ “ลงคะแนนเสียงโดยตรงและลับ” อันเป็นหลักการสำคัญของการเลือกตั้ง เพราะการออกเสียงของประชาชนควรต้องมาจากการกระทำโดยตรงและลับของผู้มีสิทธิออกเสียง

สนช.เห็นแย้งออกไปว่าเป็นเจตนาที่ต้องการอำนวยความสะดวกให้กับประชาชน เพราะหากไม่ทำเป็นเช่นนั้นอาจไปกระทบต่อสิทธิเลือกตั้งของประชาชนที่มีอยู่แล้วได้ ดังนั้น เพื่อเป็นการคงไว้ซึ่งสิทธิออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งของประชาชนผู้มีสิทธิทุกคน จึงควรมีการอำนวยความสะดวกให้กับผู้มีสิทธิออกเสียงทุกคน ไม่ว่าจะอยู่ในสถานะใด

ความขัดแย้งทางความคิดระหว่าง สนช.และ กรธ.นั้นนับว่าสนใจไม่น้อยว่าความคิดของใครถูกต้องกันแน่ เนื่องจากที่ผ่านมากฎหมายกำหนดเรื่องหลักการการลงคะแนนโดยลับและโดยตรงของคนพิการ ฯลฯ แตกต่างกันพอสมควร

อย่างการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญเมื่อปี 2559 กกต.ได้ออกประกาศ เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการออกเสียงประชามติ ณ ที่ออกเสียง สำหรับคนพิการหรือทุพพลภาพหรือผู้สูงอายุ พ.ศ. 2559

โดยข้อ 20 (1) ระบุว่า ให้ช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกในการลงคะแนนเสียงเพื่อให้ผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงด้วยตนเอง เว้นแต่ลักษณะทางกายภาพทำให้ไม่สามารถทำเครื่องหมายลงในบัตรออกเสียงได้ ให้บุคคลอื่นหรือกรรมการประจำที่ออกเสียงเป็นผู้กระทำการแทน ทั้งนี้ให้ถือเป็นการลงคะแนนออกเสียงโดยตรงและลับ

ขณะที่ปี 2550 กกต.ได้ออกระเบียบ กกต.ว่าด้วยการเลือกตั้ง สส. พ.ศ. 2550 ซึ่งในข้อ 131 ระบุว่า จะให้มีการช่วยเหลือในการลงคะแนน โดยการให้ความช่วยเหลือดังกล่าวต้องให้คนพิการหรือผู้สูงอายุได้ลงคะแนนด้วยตัวเองโดยตรงและลับ

จะเห็นได้ว่าแนวปฏิบัติของ กกต.ค่อนข้างจะแตกต่างกันปี 2559 ได้ยกเว้นให้การลงคะแนนแทนถือเป็นการลงคะแนนลับและโดยตรง แต่ปี 2550 ยืนยันหลักการว่าการเลือกตั้งที่ถูกต้องตามหลักการนั้นต้องเป็นการลงคะแนนด้วยตัวเองเท่านั้น โดยไม่มีการให้คนอื่นมาทำแทนและอนุโลมให้การลงคะแนนลักษณะดังกล่าวถูกต้องตามกฎหมาย

จากความไม่ชัดเจนที่เกิดขึ้นนี้เองจึงได้เกิดกระแสกดดันให้นายกฯหรือ สนช.ยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความกฎหมายเลือกตั้ง สส.เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาใหญ่ในอนาคต

ปัญหาที่กังวลที่สุด คือ ความเป็นโมฆะของการเลือกตั้ง

การเลือกตั้งเมื่อปี 2549 ที่ถูกยกเลิกไป สาเหตุหนึ่งก็มาจากการลงคะแนนที่ไม่เป็นความลับ ดังนั้น มาตรา 92 ของร่างกฎหมายเลือกตั้ง สส.ในปัจจุบันที่เปิดโอกาสให้คนอื่นลงคะแนนผู้มีสิทธิออกเสียงลงคะแนนตัวเองอาจทำให้การเลือกตั้งไม่เป็นไปตามหลักการและนำไปสู่การเป็นโมฆะในบั้นปลายเหมือนกับปี 2549

แม้ในร่างมาตรา 92 จะบัญญัติให้การลงคะแนนถือเป็นการลงคะแนนโดยตรงและโดยลับก็จริง แต่การที่กฎหมายบัญญัติคำว่า “ให้ถือว่า”ย่อมเป็นการชี้ให้เห็นในทางกฎหมายว่าเป็นการใช้อำนาจของกฎหมายเปลี่ยนดำให้เป็นขาว ทั้งๆ ที่ในหลักการแล้วการให้คนอื่นลงคะแนนเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง

ถึงที่สุดแล้ว หากทั้งนายกฯ และ สนช.เพิกเฉยต่อข้อเรียกร้องและไม่ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ ปล่อยให้ทุกคนที่ไปเลือกตั้งไปตายเอาดาบหน้า การเลือกตั้งในปี 2562 แทนที่จะเป็นการสร้างประชาธิปไตย อาจกลายเป็นจุดเริ่มต้นของปัญหาอีกครั้ง