posttoday

โยนหิน ‘สัตยาบัน’ หยั่งกระแสยื้อเลือกตั้ง

20 มีนาคม 2561

ในที่สุดก็เป็นไปตามคาดเมื่อ“พรเพชร วิชิตชลชัย” ประธานสนช. ยื่นร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว.ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

ในที่สุดก็เป็นไปตามคาดเมื่อ“พรเพชร วิชิตชลชัย” ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ยื่นร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว.ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ

ประเด็นที่ยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยนั้นหลักๆ มีอยู่ด้วยกัน 3 เรื่อง ได้แก่ 1.การเปลี่ยนแปลงจำนวนกลุ่มการสมัครจาก 20 กลุ่ม เหลือเพียง 10 กลุ่ม 2.การแบ่งผู้สมัครในแต่ละกลุ่มออกเป็น 2 ประเภท และการให้ผู้สมัครแต่ละประเภทเลือกกันเอง และ 3.การยกเลิกการเลือกไขว้

ทั้ง 3 ประเด็นดังกล่าว นอกจาก สนช.จะได้แก้ไปให้ผิดจากเดิมที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กำหนดแล้ว ยังเป็นการเอาไปซุกไว้ในบทเฉพาะ กาลของร่างกฎหมาย สว.ด้วย โดยมีอายุการใช้งานเพียง 5 ปี สอดคล้องกับระยะเปลี่ยนผ่านตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด ส่วนบทหลักเกี่ยวกับกระบวนการเข้าสู่ตำแหน่ง สว.ได้คงไว้ตามเดิมที่ กรธ.ได้ออกแบบเอาไว้

เรียกได้ว่า สนช.เล่นแร่แปรธาตุกับตัวอักษรอย่างพิสดาร โดย สนช.เชื่อว่าหากสิ่งที่ตัวเองออกแบบไว้ขัดกับรัฐธรรมนูญก็จะมีผลเฉพาะบทบัญญัติส่วนดังกล่าวเท่านั้น ไม่มีผลให้ร่าง พ.ร.บ.ทั้งฉบับต้องตกไปแต่อย่างใด

แม้จะมีการยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความกฎหมาย สว. แต่ปรากฏว่า สนช.กลับไม่ดำเนินการยื่นร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง สส.ให้ศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบ เพราะประธาน สนช.ระบุว่าไม่ได้มีสมาชิก สนช.ติดใจในกรณีนี้

“เมื่อสมาชิก สนช.มีความเชื่อมั่นว่าข้อความในร่าง พ.ร.บ.การเลือกตั้ง สส.ทั้งสองประเด็นดังกล่าวไม่มีปัญหาเรื่องความไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ จึงไม่มีการเข้าชื่อเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ดังนั้นประธาน สนช.จึงส่งร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ไปยังนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 19 มี.ค. เพื่อดำเนินการต่อไปตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ” ประธาน สนช. กล่าว

การไม่ยื่นร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง สส.ของ สนช. ได้นำมาซึ่งประเด็นทางการเมืองพอสมควร เพราะหลายฝ่ายโดยเฉพาะฝ่ายการเมืองต้องการยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาดในประเด็นที่เป็นปัญหา เช่น การอำนวยความสะดวกในการลงคะแนนให้กับคนพิการ หรือการตัดสิทธิดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมืองของบุคคลที่ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง เป็นต้น เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในภายหลัง แต่กลับได้รับการปฏิเสธจาก สนช.

อย่างไรก็ดี การปฏิเสธของ สนช.ได้แฝงเงื่อนไขบางประการ กล่าวคือ การเรียกร้องให้ฝ่ายการเมืองมาร่วมลงสัตยาบันยอมรับการเลื่อนเลือกตั้ง หาก สนช.ยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความกฎหมายเลือกตั้ง สส.

“หากหลายฝ่ายยังคงเป็นห่วงต่อการไม่ยื่นตีความร่าง พ.ร.บ.การเลือกตั้ง สส.อยู่นั้น ขอให้พรรคการเมืองทุกพรรคทำเป็นสัตยาบันร่วมกันมาเลยว่า ยินยอมให้เลื่อนโรดแมปเลือกตั้งออกไป 3 เดือน สนช.จะดำเนินการส่งร่างกฎหมายลูกให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความทันที” ข้อเรียกร้องของ “สมชาย แสวงการ”เลขานุการวิป สนช.

ปฏิเสธไม่ได้ว่าลึกๆ แล้ว สนช. หรือแม้แต่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ก็ไม่อยากให้มีการเลือกตั้งเท่าใดนัก เนื่องจากสถานการณ์ในเวลานี้ตัวเองไม่ได้อยู่ในฐานะที่ได้เปรียบฝ่ายตรงข้าม ดังจะเห็นได้จากคะแนนความนิยมของประชาชนที่มีต่อรัฐบาลที่เริ่มลดลงอย่างเห็นได้ชัด หากปล่อยการเลือกตั้งให้เกิดขึ้น แน่นอนว่าโอกาสที่จะกลับเข้ามาสืบทอดอำนาจภายใต้กติกาที่ชงเองกินเองก็เป็นไปได้ยากขึ้น

แต่ครั้นจะหาเงื่อนไขเพื่อเลื่อนการเลือกตั้งออกไปนั้นปัจจุบันก็มีไม่มากนัก ภายหลังกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้ง 4 ฉบับ ได้รับการประกาศใช้ไปแล้ว 2 ฉบับส่วนอีก 2 ฉบับได้ผ่านมติ สนช.อย่างล้นหลาม แม้ปัจจุบัน สนช.จะยื่นให้ศาลตีความกฎหมาย สว. แต่ก็ไม่ได้ทำให้การเลือกตั้งถูกยื้อออกไปได้มากนัก เว้นเสียแต่ร่างกฎหมาย สว.จะตกไปทั้งฉบับ

ดังนั้น เงื่อนไขเดียวที่ สนช.และ คสช.จะพอสร้างในเวลานี้ คือ การสร้างแรงกดดันให้พรรคการเมืองยอมเลื่อนการเลือกตั้งเอง โดยอาศัยกติกาเกี่ยวกับพรรคการเมืองที่กำลังเป็นปัญหาในปัจจุบันมาเป็นแรงบีบให้พรรคการเมืองเดินตามแผนที่ คสช.วางไว้ ไม่ว่าจะเป็นการทำไพรมารีโหวต การตั้งสาขาพรรค รวมไปถึงการแสดงตนของสมาชิกพรรคการเมือง

ที่สำคัญ คสช.เองได้นัดพรรคการเมืองทุกพรรคมาหารือร่วมกันในช่วงเดือน มิ.ย. เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับการเลือกตั้ง การประชุมนัดนี้หากพรรคการเมืองจำนวนมากอย่างพรรคการเมืองใหม่ที่ได้รับผลกระทบจากกติกาการเลือกตั้งมากจนทนไม่ไหว
ก็อาจรวมตัวกันเพื่อเรียกร้องให้ คสช.เลื่อนการเลือกตั้งออกไปได้ โดยอาศัยมาตรา 44 แช่แข็งทุกอย่างชั่วคราว

ถ้าสถานการณ์ทางการเมืองไปถึงจุดที่พรรคการเมืองใหม่รวมตัวกันขอเลื่อนการเลือกตั้งขึ้นมาจริง ถามว่าพรรคการเมืองในปัจจุบัน ทั้ง ประชาธิปัตย์ เพื่อไทย ชาติไทย หรือแม้แต่พรรคภูมิใจไทย จะเอาอะไรไปทัดทานข้อเรียกร้องเหล่านั้นเพราะตนเองตกอยู่ในฐานะของฝ่ายเสียงข้างน้อย

ไม่เพียงเท่านี้ หากเป็นเช่นนั้นจริง ทุกอย่างก็เข้าทางของ คสช.พอดี ได้เลื่อนการเลือกตั้งและใช้อำนาจมาตรา 44 เพื่อแก้ไขกติกาของการเลือกตั้งที่ กรธ.ทำไม่ถูกใจให้กลับมาเข้ารูปเข้ารอยอย่างที่ คสช.ต้องการให้เป็น ไม่ปล่อยให้ฝ่ายการเมืองกลับมาเข้มแข็งเหมือนในอดีต

มาถึงจุดนี้ ความหวังในการเลื่อนการเลือกตั้งของ คสช.กำลังเริ่มเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้นเข้าไปทุกที เหลือเพียงรอเวลาอีกหน่อยเท่านั้น