posttoday

ตั้งไข่ ‘พรรคใหม่’ นับหนึ่งเลือกตั้ง

02 มีนาคม 2561

เริ่มต้นวันแรก 2 มี.ค.กับการเปิดให้พรรคการเมืองใหม่เข้ามาจดจองชื่อพรรค เรียกได้ว่าเป็นการนับหนึ่งเริ่มต้นเส้นทางสู่การ "เลือกตั้ง"

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

เริ่มต้นวันแรก 2 มี.ค.กับการเปิดให้พรรคการเมืองใหม่เข้ามาจดจองชื่อพรรค เรียกได้ว่าเป็นการนับหนึ่งเริ่มต้นเส้นทางสู่การ "เลือกตั้ง" ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยืนยันว่าจะเกิดขึ้นภายในเดือน ก.พ. 2562

สอดรับกับขั้นตอนและกระบวนการเตรียมความพร้อมตามโรดแมปที่กำหนดไว้ กับกระบวนการเตรียมความพร้อมทั้งในแง่ตัวบทกฎหมาย และกลไก องค์กร ตลอดจนหน่วยงานที่จะเข้ามาจัดการเลือกตั้ง

ที่สำคัญการปลดล็อกให้พรรคการเมืองใหม่สามารถเริ่มขยับเข้ามาจดจองชื่อพรรคได้นั้น ยังสะท้อนให้เห็นทิศทางการจับกลุ่มรวมตัวของคนการเมือง ตลอดจนคนหน้าใหม่ที่ให้ความสนใจเข้ามาสนามการเมือง ว่ามีเป้าหมายทางการเมือง หรือสนับสนุนกลุ่มไหนพรรคไหนอย่างไร

กลุ่มแรก กลุ่มที่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรี ต่ออีกสมัยเพื่อสานต่อภารกิจ ปฏิรูป และปรองดอง ที่ยังคั่งค้าง รวมทั้งยังเป็นการผนึกกำลังสกัดไม่ให้ขั้วอำนาจเก่ากลับมาเรืองอำนาจ

เริ่มจาก พรรคประชาชนปฏิรูป ภายใต้การนำของ ไพบูลย์ นิติตะวัน อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และอดีตกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นคนแรกที่เปิดหน้าประกาศตัวตั้งพรรคสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี

นอกจากจะเป็นแนวร่วมที่เหนียวแน่นต่อต้านคัดค้านระบอบทักษิณในช่วงเวลาที่ผ่านมาแล้ว และสนับสนุน คสช.แบบเต็มตัวแล้ว ในฐานะประธานคณะกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนา สปช. ยังได้สร้างผลงาน ทั้งเรื่องการปฏิรูปศาสนา เข้าไปสะสางจัดระเบียบแวดวงสงฆ์ วางระบบดูแลควบคุมดูแลตรวจสอบเงินบริจาคที่เคยเป็นปัญหา

ถัดมา พรรคพลังชาติไทย ภายใต้การนำของ พล.ต.ทรงกลด ทิพย์รัตน์ แม้จะไม่เป็นที่รู้จักมากนัก แต่หากสืบค้นก็พอจะเห็นเค้าลางที่เชื่อมโยงไปถึง คสช. ในฐานะที่เคยเป็นอดีตมือทำงานอยู่ในคณะเตรียมการปฏิรูปเพื่อคืนความสุขให้คนในชาติของ คสช. ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นพรรคนอมินีทหารอย่างชัดเจน แต่ต่อมาทาง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ออกมาปฏิเสธความเกี่ยวข้อง

ล่าสุด พรรคมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์โดยมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (มปท.) ซึ่งต่อยอดมาจากกลุ่ม กปปส. ภายใต้การนำของ สุเทพ เทือกสุบรรณ ที่เดิมเคยประกาศวางมือทางการเมืองแต่ก็ยังแบ่งรับแบ่งสู้เรื่องการร่วมเป็นสมาชิก หรือสนับสนุนพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง

แต่ในบริบททางการเมืองที่ผ่านมาจะเห็นการเคลื่อนไหว ที่แสดงจุดยืน สนับสนุน คสช.แบบเต็มตัว ไล่มาตั้งแต่สนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญ 2560 ก่อนจะประกาศความชัดเจนสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ที่ดูจะขัดแย้งกับจุดยืนของประชาธิปัตย์ทำให้เกิดการแตกออกมาตั้งพรรคใหม่

กลุ่มที่สองเป็นกลุ่มที่ยังไม่ประกาศจุดยืนชัดเจนว่าจะสนับสนุน หรือ ต่อต้าน คสช. ส่วนใหญ่เป็นอดีตนักการเมืองที่เคยอยู่ฝั่งขั้วอำนาจเก่า หรือมีฐานจากกลุ่มการเมืองเก่า

เริ่มจาก พรรคพลังพลเมือง นำโดย สัมพันธ์ เลิศนุวัฒน์ อดีตหลายสังกัด สุดท้ายหลังพรรคไทยรักไทย ถูกยุบและเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งเป็นเวลา 5 ปี ได้เบนเข็มออกจากใต้ระบอบทักษิณ ที่สุดได้รวบรวมพลพรรคอดีตรัฐมนตรี และ สส.มาตั้งเป็นพรรคใหม่

เวลานี้แกนนำประกาศชัดว่าไม่ได้เป็นนอมินีของพรรคเพื่อไทยหรือพรรคทหาร แต่เป็นพรรคของประชาชนที่ยังแทงกั๊กว่าสนับสนุนคนดีเป็นนายกรัฐมนตรี

ถัดมา พรรคสังคมประชาธิปไตยประชาชน (สปป.) ซึ่ง เยี่ยมยอด ศรีมันตะ อดีตสมาชิกพรรคเพื่อไทย ประกาศเตรียมจัดตั้ง เพราะมองว่าพรรคเพื่อไทยยากที่จะได้เสียงข้างมากในสภาที่จะจัดตั้งรัฐบาลได้ ซึ่งมีอีก 100 ที่นั่งที่เป็นโอกาสของพรรค สปป. ซึ่งยังไม่ได้คิดถึงขั้นการร่วมรัฐบาล

ขณะที่ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ รองประธานกรรมการบริหาร ไทยซัมมิท หลานชาย สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตรองนายกรัฐมนตรีสมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ที่ถือเป็นคนรุ่นใหม่ไฟแรงมีแนวความคิดทางการเมืองที่ชัดเจน และเห็นการขยับออกมาเคลื่อนไหวอยู่เป็นระยะ ล่าสุดส่งสัญญาณเตรียมกระโดดสู่สนามการเมืองรอบนี้ท่ามกลางคนรุ่นใหม่ที่มีความคิดอ่านคล้ายคลึงกัน

ไปจนถึง พรรคเพื่อชาติไทย นำโดย อัมพาพันธ์ ธเนศเดชสุนทร ภรรยาคนสุดท้ายของ พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ อดีต ผบ.สส.และอดีตประธานคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ที่มาร่วมรับฟังคำชี้แจงแนวทางการดำเนินการตั้งพรรคของ กกต. เมื่อวันที่ 9 ก.พ.ที่ผ่านมา

รวมทั้งยังมีอีกหลายกลุ่มรอประกาศตัวแสดงความชัดเจนเร็วๆ นี้ ที่จะทำให้เส้นทางสู่การเลือกตั้งชัดเจนขึ้น n