posttoday

กกต.ตัวแปรสำคัญ คุมเกมปมเดือด ‘สว.’

21 กุมภาพันธ์ 2561

19 ก.พ.ที่ผ่านมา ถือเป็นหลักไมล์ทางการเมืองที่ต้องจับตา เนื่องจากเป็นวันแรกของการประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญร่วมกัน 3 ฝ่ายเพื่อพิจารณา กม.ลูก 2 ฉบับ

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

19 ก.พ.ที่ผ่านมา ถือเป็นหลักไมล์ทางการเมืองที่ต้องจับตา เนื่องจากเป็นวันแรกของการประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญร่วมกัน 3 ฝ่ายระหว่าง สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง สส. และร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว. จะประชุมร่วมกันเป็นครั้งแรก

ตามขั้นตอนจะต้องดำเนินการให้เสร็จภายใน 15 วัน และส่งกลับเข้ามายัง สนช.ไม่เกินวันที่ 1 มี.ค. โดยหาก สนช.มีมติเห็นชอบกับรายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ จะเข้าสู่ขั้นตอนของการประกาศใช้บังคับให้เป็นกฎหมายต่อไป

แต่ถ้าไม่เป็นเช่นนั้น กล่าวคือ สนช.มีมติเสียงข้างมากไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของจำนวน สนช.ทั้งหมด หรือ 165 เสียง จะทำให้ร่างกฎหมายตกไปทันที และต้องกลับไปเริ่มนับหนึ่งใหม่อีกครั้ง

ทั้งนี้ การประชุมนัดแรกของคณะกรรมาธิการวิสามัญ 3 ฝ่าย ผ่านไปแบบมีนัยทางการเมือง ภายหลัง สนช.มีท่าทีอ่อนลงพอสมควรกับร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง สส.

โดยเฉพาะประเด็นการยอมทำตามข้อโต้แย้งของ กรธ.และ กกต.ที่ไม่ต้องการให้มีการจัดมหรสพระหว่างการหาเสียงเลือกตั้ง ซึ่งเป็นปมสำคัญที่ กรธ.และ กกต.ไม่เห็นด้วยกับ สนช.เป็นอย่างยิ่ง เพราะการที่ สนช.แก้ไขกฎหมายจัดมหรสพได้ จะมีผลให้เจตนารมณ์ของการหาเสียงเลือกตั้งผิดเพี้ยนไป

ขณะที่อีก 2 ประเด็นสำคัญ ทั้งเรื่องการตัดสิทธิการห้ามดำรงตำแหน่งของผู้ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง และอำนาจของศาลฎีกาในการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ที่ประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญ 3 ฝ่าย ต่างเห็นตรงกันว่าควรต้องปรับปรุงให้เกิดความชัดเจนต่อไป

ท่าทีที่อ่อนลงของ สนช.ต่อกฎหมายเลือกตั้ง สส.นั้น ต้องยอมรับว่าไม่ได้เป็นเรื่องที่เหนือความคาดหมายมากนัก เนื่องจากที่ผ่านมา "พรเพชร วิชิตชลชัย" ประธาน สนช. ยืนยันมาตลอดว่าเป็นเพียงปัญหาทางเทคนิคที่สามารถคุยกันให้จบลงได้ไม่ยาก

อย่างไรก็ตาม การยอมงอของ สนช.ดังกล่าว ส่วนหนึ่งนั้นมาจากสมาชิก สนช.ไม่ได้มีส่วนได้เสียต่อกฎหมายเลือกตั้งเท่าไหร่นัก เพราะสมาชิก สนช.ที่มีอยู่ไม่ได้เป็นนักเลือกตั้งอาชีพ จึงไม่ค่อยอินังขังขอบกับกติกาเลือกตั้ง สส.แต่อย่างใด

ทว่า ท่าทีของ สนช.ต่อร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว. กลับแตกต่างออกไปจากกฎหมายเลือกตั้ง สส.สิ้นเชิง

การประชุมนัดแรกของคณะกรรมาธิการวิสามัญ 3 ฝ่าย ชุดที่พิจารณากฎหมาย สว. กลับไม่สามารถหาข้อสรุปในประเด็นสำคัญ 3 เรื่องที่อยู่ในร่างกฎหมายได้ ซึ่งเป็น 3 ประเด็นที่ กรธ.เสนอข้อโต้แย้งมายัง สนช.เพื่อให้มีการแก้ไข ได้แก่

1.การเปลี่ยนแปลงจำนวนกลุ่มการสมัครจาก 20 กลุ่ม เหลือเพียง 10 กลุ่ม กรธ.เห็นว่าการลดทอนให้เหลือ 10 กลุ่ม เป็นหลักประกันว่าวุฒิสภาจะเป็นสภาที่ประกอบด้วยประชาชนจากทุกภาคส่วนของสังคมอย่างแท้จริง

2.การแบ่งผู้สมัครในแต่ละกลุ่มออกเป็น 2 ประเภท และการให้ผู้สมัครในแต่ละประเภทเลือกกันเอง กรธ.เห็นว่าจะมีผลให้เกิดการแบ่ง สว.ออกเป็น 2 ประเภท และการให้มีองค์กรเป็นผู้เสนอชื่อหรือรับรองผู้สมัครรับเลือกเป็น สว. ไม่ตรงตามเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญที่กำหนดให้ประชาชนมีสิทธิสมัครรับเลือกทุกคน

3.การยกเลิกการเลือกไขว้ กรธ.เห็นว่าการกำหนดมาตรการเลือกไขว้ในการเลือกกันเอง จะทำให้ความเป็นไปได้ในการสมยอมกันในการเลือกทำได้ยากขึ้น แต่การตัดมาตรการดังกล่าวออกโดยไม่มีมาตรการที่เท่าเทียมกัน จะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดการสมยอมโดยไม่สุจริต

แต่ประเด็นข้อโต้แย้งของ กรธ.ไม่อาจเปลี่ยนใจ สนช.ได้ ส่งผลให้ที่ประชุมคณะกรรมาธิการชุดนี้ที่มี "สมคิด เลิศไพฑูรย์" เป็นประธาน ต้องแขวนประเด็นดังกล่าวเอาไว้ก่อน และค่อยมาหาข้อสรุปกันภายหลัง

จากปัญหาที่เกิดขึ้นทำให้มีความเป็นไปได้ว่าที่สุดแล้วคงต้องหาทางออกด้วยการลงมติโหวตในที่ประชุมคณะกรรมาธิการ เนื่องจากเป็นเรื่องยากที่จะหาทางออกด้วยสันติวิธี

วัดขุมกำลังในเวลานี้ กรธ.และ สนช.ต่างมี 5 เสียงในมือเท่ากันตามสัดส่วนของคณะกรรมาธิการ สถานการณ์แบบนี้ทำให้ 1 เสียงของ กกต.มีความหมายขึ้นมาทันที

"ศุภชัย สมเจริญ" ประธาน กกต. คือคนสำคัญในเวลานี้ ในฐานะเป็นกรรมาธิการวิสามัญพิจารณากฎหมาย สว.ในสัดส่วนของ กกต. เพราะเมื่อยกมือสนับสนุนฝ่ายใด ฝ่ายนั้นจะชนะขึ้นมาทันที

สมมติแม้ สนช.จะแพ้ในชั้นคณะกรรมาธิการวิสามัญ และยังสามารถสู้ได้อีกยกในชั้นการประชุม แต่นั่นหมายถึงการโหวตคว่ำกฎหมายเพื่อให้กลับไปเริ่มนับหนึ่งใหม่ ซึ่งส่งผลให้การเลือกตั้งต้องถูกเลื่อนออกไปโดยปริยาย จึงมีคำถามตามมาว่า สนช.จะกล้าหักถึงขั้นนี้หรือไม่ภายใต้ภาวะขาลงของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

ดังนั้น ต้องยอมรับว่าจังหวะก้าวของ กกต.นับจากนี้มีความน่าสนใจอย่างมาก โดยที่ผ่านมา กกต.ตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบ สนช.และ กรธ.มาตลอด จนกระทั่งถูกเซตซีโร่ในเวลาต่อมา มาวันนี้สถานการณ์กลับนำมาให้ กกต.กลายเป็นผู้กำหนดผลแพ้ชนะ

หนึ่งเสียงในมือของ กกต.เวลานี้ จึงมีผลต่อทิศทางการเมืองอย่างแท้จริง