posttoday

คอรัปชั่น จุดตายคสช.

20 กุมภาพันธ์ 2561

ปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นยังคงเป็น“หอกข้างแคร่” คอยทิ่มแทงรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

ปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นยังคงเป็น“หอกข้างแคร่” คอยทิ่มแทงรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

นอกจากจะไม่สามารถสะสางปัญหาที่หมักหมมยาวนานได้อย่างที่ตั้งใจ ถึงขั้นประกาศเป็น “วาระแห่งชาติ” หลายครั้งยังพบเห็นคนในคสช. ยังกลับไปพัวพันหรือมีส่วนเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับเงื่อนงำความไม่โปร่งใส

ล่าสุดข้อมูลจากหอการค้าไทยยังพบว่าดัชนีสถานการณ์คอร์รัปชั่นไทย(ซีเอสไอ) ประจำเดือน ธ.ค. 2560 ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 52 ต่ำกว่าเดือนมิ.ย. 2560 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 53 โดยปรับลดลงทั้งดัชนีสถานการณ์ปัจจุบันและอนาคต

แยกพิจารณาในรายละเอียดพบว่า ดัชนีปัญหาและความรุนแรงการคอร์รัปชั่นมีความรุนแรงมากขึ้นโดยลดลงมาอยู่ที่ 42 จากครั้งก่อนอยู่ที่ระดับ 44 ขณะที่ดัชนีการป้องกันการคอร์รัปชั่นอยู่ที่ระดับ 53 จากระดับ 54 มีเพียงดัชนีการสร้างจริยธรรมและจิตสำนึกที่ปรับเพิ่มขึ้นจาก 60 เป็น 62

จากประมาณการของผู้ประกอบการที่มีประสบการณ์ด้วยตัวเองหรือจากคนรอบข้าง พบว่า มี 24% ที่ต้องจ่ายเงินเพิ่มพิเศษ (เงินใต้โต๊ะ)แก่ข้าราชการหรือนักการเมืองที่ทุจริตเพิ่มขึ้นจากเดือน มิ.ย. 2560 ซึ่งจ่าย 18% นับว่าเป็นสัดส่วนสูงสุดในรอบ 3 ปี นับตั้งแต่ปี 2558

หากคำนวณตามเปอร์เซ็นต์เงินเพิ่มพิเศษที่ผู้ประกอบการต้องจ่ายแก่ข้าราชการ หรือนักการเมืองที่ทุจริตเพื่อให้ได้สัญญา เฉลี่ยอยู่ที่ 5-15% ทรงตัวจากช่วงที่ผ่านมา คือคิดเป็นเงิน 6.62 หมื่นล้าน-1.98 แสนล้านบาทซึ่งคิดเป็น 2.29-6.86% ของงบประมาณรายจ่ายทั้งหมด

ที่สำคัญ ความคิดเห็นของกลุ่มตัวอย่าง มองสถานการณ์ความรุนแรงของปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่น มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทั้งในปัจจุบันและในอนาคตเนื่องจากกฎหมายเปิดโอกาสให้สามารถใช้ดุลยพินิจที่เอื้อต่อการทุจริตกระบวนการทางการเมืองขาดความโปร่งใสและตรวจสอบได้ยาก

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นขัดแย้งกับความมุ่งมั่นตั้งใจของรัฐบาล คสช. ที่ส่งสัญญาณเอาจริงเอาจังกับเรื่องปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่นให้หมดไปจากสังคม ด้วยเหตุผลที่เป็นต้นเหตุของปัญหาความสับสนวุ่นวายที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมาและฉุดรั้งไม่ให้ประเทศเดินไปข้างหน้า

เนื่องในวันต่อต้านคอร์รัปชั่นสากล

วันที่ 9 ธ.ค. 2560 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคสช. เป็นประธานในพิธีประกาศเจตนารมณ์การต่อต้านคอร์รัปชั่นว่าการแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นต้องเริ่มจากตนเองและครอบครัวก่อนขยายไปสู่สังคมในวงกว้าง

ก่อนจะกลายเป็นบูเมอแรงที่ย้อนกลับมาซ้ำเติมรัฐบาล คสช.อย่างรุนแรง เมื่อเกิดการขุดคุ้ยเงื่อนงำและที่มาที่ไปของนาฬิกาหรู 25 เรือนของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณรองนายกรัฐมนตรี

เมื่อนาฬิการาคาแพงทั้งหลายเหล่านี้ไม่เคยถูกยื่นในบัญชีทรัพย์สินของ พล.อ.ประวิตร โดยอยู่ระหว่างการตรวจสอบของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ว่าจะเข้าข่ายความผิดฐานจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินเป็นเท็จหรือไม่ 

ปัญหาอยู่ที่ความคลุมเครือในเวลานี้ยิ่งทำให้สถานการณ์ยิ่งย่ำแย่ลงเมื่อ พล.อ.ประวิตรพยายามไม่ออกมาแจกแจงที่มาที่ไปของนาฬิกาต่อสาธารณชน แต่เลือกที่จะชี้แจงต่อป.ป.ช.เพียงอย่างเดียว จนส่อเค้าจะฉุดรั้งความน่าเชื่อถือขององค์กรอิสระให้ลดน้อยลง

รวมทั้งกระทบไปถึงความเชื่อมั่นที่มีต่อ คสช .เมื่อมีสัญญาณปกป้องจากบรรดาบิ๊ก คสช. มากกว่าจะพยายามสร้างบรรทัดฐานในเรื่องความโปร่งใสให้เป็นตัวอย่างกับนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง

จากกระแสเรียกร้องให้พล.อ.ประวิตรลาออก ซึ่งมีผู้ร่วมลงชื่อกว่า 8 หมื่นราย แต่ทาง พล.อ.ประวิตรยังยืนยันจะทำหน้าที่ต่อไปโดยไม่ลาออก ซึ่งยิ่งเพิ่มแรงกดดันให้คสช.มากยิ่งขึ้น

หากย้อนกลับไปดูถึงที่มาที่ไปของการเข้ายึดอำนาจ คสช.หยิบยกเรื่องปัญหาทุจริตมาเป็นหนึ่งในข้ออ้างในการทำรัฐประหาร แต่ผ่านมาเกือบ 4 ปียังไม่มีรูปธรรมที่จับต้องได้

ยิ่งที่ผ่านมาคนในรัฐบาล คสช.ดูจะวนเวียนอยู่กับเงื่อนงำความไม่โปร่งใสหลายเรื่อง ทั้งกรณีไมโครโฟนราคาแพงที่ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งโครงการต้องพับไปเมื่อถูกกระแสวิพากษ์วิจารณ์

ต่อเนื่องมาจนถึงทริปฮาวายที่พล.อ.ประวิตรเดินทางไปร่วมประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียน-สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 29 ก.ย. -2 ต.ค. 2559 ที่ผ่านมา ซึ่งมีค่าใช้จ่ายถึง 20 ล้านบาท

ก่อนจะมาเป็นเรื่องเป็นราวใหญ่โตกับโครงการอุทยานราชภักดิ์ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ถึงการใช้งบประมาณ เรื่อยมาจนถึงเรื่องโครงการขุดลอกคูคลองขององค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก (อผศ.)

ล่าสุดเกิดประเด็นใหม่ เป็นการทุจริตเงินสงเคราะห์ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง 6.9 ล้านบาท หลังการขยายผล คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ป.ป.ท.) พบทุจริตเงินสงเคราะห์คนไร้ที่พึ่ง กว่า 2 ล้านบาท ที่ จ.บึงกาฬ ซึ่งเตรียมปูพรมตรวจพื้นที่เป้าหมาย 31 จังหวัดในพื้นที่งบเกินล้านบาท

ทั้งหมดล้วนแต่เป็นวิบากกรรมที่ฉุดความเชื่อมั่นของ คสช. และหากปัญหานี้ยังไม่ได้รับการคลี่คลายให้ดำเนินไปในทิศทางที่ดีขึ้น เรื่องนี้จะเป็นจุดตายของ คสช.ซึ่งมีอานุภาพรุนแรงมากกว่าปมปัญหาเรื่องเลื่อนเลือกตั้งหรือการยื้ออยู่ในอำนาจ