posttoday

จับตาสงคราม 3 ฝ่ายชี้ชะตาเลือกตั้ง

10 กุมภาพันธ์ 2561

เส้นทางสู่การเลือกตั้งในเวลานี้ต้องยอมรับว่าเต็มไปด้วยขวากหนามพอสมควร ภายหลังสนช.แก้เนื้อหาร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง สส. ให้มีผลใช้บังคับเมื่อพ้น 90 วันนับตั้งแต่วันที่ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

เส้นทางสู่การเลือกตั้งในเวลานี้ต้องยอมรับว่าเต็มไปด้วยขวากหนามพอสมควร ภายหลัง สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แก้ไขเนื้อหาในร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง สส. โดยให้มีผลใช้บังคับเมื่อพ้น 90 วันนับตั้งแต่วันที่ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา

อย่างไรก็ตาม ปัญหาของการเลือกตั้งไม่ได้มีเพียงแค่นั้น แต่ล่าสุดกำลังจะมีการตั้งคณะกรรมาธิการร่วมกัน 3 ฝ่าย ระหว่าง สนช. คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง สส. และร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว.

ตามขั้นตอนเมื่อ สนช.ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญแล้ว จะต้องดำเนินการพิจารณาและเสนอกลับมายัง สนช.ภายใน 15 วัน เพื่อขอความเห็นชอบในกรณีที่ สนช.มีมติเห็นชอบกับคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ จะเข้าสู่ขั้นตอนของการประกาศใช้บังคับต่อไป แต่ถ้าสนช.มีมติไม่เห็นชอบด้วยคะแนนเกิน 2 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมด หรือ166 คน จาก สนช.ทั้งหมด 248 คน ร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญเป็นอันตกไปหมายความว่าต้องกลับไปสู่กระบวนการเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่อีกครั้ง

สำหรับ ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง สส.ทั้ง กกต.และ กรธ.ต่างเห็นตรงกันว่าควรต้องมีการแก้ไข โดย กกต.เสนอ 5 ประเด็น ส่วน กรธ.เสนอ 4 ประเด็นซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเด็นที่ซ้ำกัน ดังนี้

1.การห้ามไม่ให้ผู้ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งเข้ามาดำรงตำแหน่งข้าราชการเมือง เป็นประเด็นที่ กรธ.ไม่เห็นด้วยกับ สนช.อย่างรุนแรง เพราะเดิมร่างกฎหมายฉบับแรกที่ กรธ.จัดทำนั้น ไม่ได้บัญญัติเรื่องดังกล่าวเอาไว้ แต่เมื่อสนช.บัญญัติไว้เช่นนี้ ในมุมองของ กรธ.เห็นว่าอาจทำให้ขัดต่อเสรีภาพของประชาชนในการประกอบอาชีพที่ได้รับการรองรับไว้ในรัฐธรรมนูญได้ อีกทั้งการลงโทษผู้ที่นอนหลับทับสิทธิด้วยวิธีการนี้เป็นการกำหนดบทลงโทษที่เกินความจำเป็น

2.การจัดมหรสพ เป็นอีกประเด็นที่กรธ.และ กกต.ไม่เห็นด้วยกับ สนช. ที่ผ่านมา สนช.อ้างว่าการหาเสียงด้วยวิธีการจัดมหรสพจะช่วยให้ประชาชนตื่นตัวทางการเมือง แต่ กรธ.และ กกต.กลับมองไปในทางตรงกันข้าม เนื่องจากจะทำให้เกิดการควบคุมเพดานค่าใช้จ่ายหาเสียงได้ยาก และอาจเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับพรรคการเมืองใหญ่

3.การขยายเวลาลงคะแนนเลือกตั้ง เดิมกำหนดให้ประชาชนสามารถมาลงคะแนนได้ในระหว่างเวลา 08.00-15.00 น. แต่ สนช.มาเปลี่ยนเป็น 07.00-17.00 น. ซึ่ง กรธ.เห็นว่าจะกระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ควบคุมการเลือกตั้ง โดยเฉพาะการขนส่งหีบเก็บบัตรลงคะแนนเลือกตั้ง

4.การลงคะแนนแทนผู้พิการทางสายตา โดยรัฐธรรมนูญกำหนดให้การลงคะแนนต้องเป็นการลับ การให้คนอื่นลงคะแนนแทนผู้พิการทางสายตานั้นอาจทำให้การลงคะแนนขัดต่อรัฐธรรมนูญได้กรธ.จึงเห็นว่าควรให้มีวิธีการอื่นที่อำนวยความสะดวกและไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ

5.การกำหนดเบอร์ผู้สมัครรับเลือกตั้ง เป็นประเด็นที่ กกต.ค่อนข้างจะให้ความสนใจพอสมควร เพราะที่ผ่านมาการเลือกตั้งแต่ละครั้ง พรรคการเมืองจะใช้หมายเลขผู้สมัครเพียงหมายเลขเดียวหาเสียงทั่วประเทศ ทั้งการเลือกตั้งสส.ระบบแบ่งเขตเลือกตั้งและ สส.ระบบบัญชีรายชื่อ แต่เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงโดยให้พรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัครในแต่ละเขตมีหมายเลขหาเสียงแตกต่างกัน ในมุมของ กกต.ย่อมเห็นว่าจะเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการจัดการเลือกตั้งให้เกิดความสุจริตและเที่ยงธรรมตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ

6.อำนาจของศาลฎีกา ร่างกฎหมายเลือกตั้งมาตรา 138 ระบุว่า ภายหลังการประกาศเลือกตั้งให้ศาลฎีกามีสิทธิเพิกถอนสิทธิสมัครเท่านั้น แต่รัฐธรรมนูญมาตรา 226 บัญญัติให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง จึงถือว่าขัดรัฐธรรมนูญขณะที่ ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว.ทั้ง กรธ.และ กกต.ต่างเห็นตรงกันว่ามีประเด็นที่ต้องแก้ไขเช่นกันดังนี้

1.อำนาจของศาลฎีกา ในร่างกฎหมาย สว.ให้อำนาจศาลฎีกาเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งได้เพียงอย่างเดียวไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญมาตรา 226 ที่ให้เพิกถอนสิทธิสมัครและเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง จึงถือว่าขัดรัฐธรรมนูญ

2.การกำหนดกลุ่มวิชาชีพของผู้สมัคร สว. กรธ.ไม่เห็นด้วยกับการที่ สนช.กำหนดให้เหลือเพียง 10 กลุ่ม จากเดิม 20 กลุ่ม เพราะ 20 กลุ่มที่ กรธ.กำหนดมานั้นมาจากการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน จึงเห็นว่าควรต้องคงไว้ตามนั้น

3.การแยกประเภทผู้สมัครแบบอิสระและนิติบุคคล สนช.แก้เนื้อหาในประเด็นนี้ลึกลงไปถึงขั้นให้การเลือก สว.ในขั้นตอนสุดท้ายต้องเลือกแยกออกให้เป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ 1.ผู้สมัครอิสระ 100 คน และ 2.ผู้สมัครจากนิติบุคคล 100 คน ซึ่งกรธ.คัดค้านและเห็นว่าอาจขัดต่อรัฐธรรมนูญอย่างรุนแรง

4.วิธีเลือก สว. สนช.แก้ไขโดยล้มเลิกวิธีการเลือกไขว้แบบข้ามกลุ่มของ กรธ. เนื่องจาก สนช.เห็นว่าวิธีการเลือกที่ กรธ.กำหนดมานั้นอาจนำมาซึ่งการบล็อกโหวตและการแทรกแซงของฝ่ายการเมือง