posttoday

ประกาศตัวเป็นนักการเมือง เพิ่มแรงเสียดทาน ‘บิ๊กตู่’

11 มกราคม 2561

“วันนี้ผมต้องเปลี่ยนแปลงเพราะผมไม่ใช่ทหาร เข้าใจไหม เป็นนักการเมืองที่เคยเป็นทหาร "

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

“วันนี้ผมต้องเปลี่ยนแปลงเพราะผมไม่ใช่ทหาร เข้าใจไหม เป็นนักการเมืองที่เคยเป็นทหาร มันก็ติดนิสัยทหารอยู่บ้าง แต่ท้ายที่สุดคือประชาชนและไม่ใช่ประชาชนของผม ประชาชนของประเทศไทย และไม่ใช่ของพรรคไหน ทุกคนเป็นพลเมืองไทยก็ต้องหนุนการเมืองที่ถูกต้องมีธรรมาภิบาล”

ถึงจะไม่ใช่เรื่องแปลก แต่ก็เป็นครั้งแรกกับการประกาศตัวเป็น “นักการเมือง” ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)​ ในวันที่กระแสผลักดันสู่ “นายกฯ คนนอก” ชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ ​

ล่าสุด พล.อ.ประยุทธ์ ยังออกมาส่งสัญญาณตอกย้ำว่า “วันนี้ต้องเป็นคนของประชาชนแล้ว ไม่ว่าจะเป็นอะไรก็ตาม หรือจะเป็นอะไรที่ทุกคนอยากตั้งให้ผมเป็นได้หมด”​

เรียกได้ว่าเป็นการเปิดหน้าสู่ถนนการเมืองหลังเลือกตั้งแบบเต็มตัวหากได้รับเสียงสนับสนุนจากประชาชน

ที่สำคัญเส้นทางเดินจากนับจากนี้ของ พล.อ.ประยุทธ์ ย่อมไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบเหมือนที่ผ่านมา แต่จะเต็มไปด้วยแรงเสียดทานและแรงกดดันที่ทวีความรุนแรง ซ้ำเติมสภาพคะแนนนิยมและความเชื่อมั่นที่ตกต่ำลงเรื่อยๆ ตามผลสำรวจของหลายสำนัก

เริ่มตั้งแต่ “สถานะ” ที่​เปลี่ยนแปลงไปจากผู้นำรัฐประหารที่เคยประกาศตัวเป็นคนกลางอาสาเข้ามาสยบความขัดแย้งช่วยพาประเทศพ้น “ทางตัน” ในอดีต พร้อมใช้โอกาสนี้เดินหน้า “ปฏิรูป” ป้องกันไม่ให้สังคมต้องกลับไปสู่วังวนปัญหาในอดีต

แต่เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ ประกาศตัวเป็นนักการเมืองจากสถานะ “กรรมการ” ​ย่อมกลายเป็น “ผู้เล่น” ที่ต้องเข้าสู่กฎกติกาด้วยความเท่าเทียมกับผู้เล่นที่เป็นนักการเมืองคนอื่น 

หากจำได้ก่อนหน้านี้ แค่ พล.อ. ประยุทธ์ เคยออกมาเช็กเรตติ้งผ่านคำถาม 6 ข้อ ที่ส่งไปถึงประชาชน ทั่วประเทศ ซึ่งถูกตีความว่าเป็นการหยั่งเสียงเช็กกระแสตอบรับหากจะ ก้าวสู่การเมืองเต็มตัว

จากคำถาม 6 ข้อ คำถามข้อ 2 ถามว่า การที่ คสช.จะสนับสนุนพรรคการเมืองใดก็ถือเป็นสิทธิของ คสช.ใช่หรือไม่ เพราะนายกฯ ก็ไม่ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งด้วยอยู่แล้ว

ครั้งนั้นบรรดาคนการเมืองต่างออกมา “ดักคอ” ล่วงหน้าว่าเป็นการ ไม่เหมาะสม และอาจเข้าข่ายขัดกฎหมาย​​ เช่น พิชัย นริพทะพันธุ์ อดีต รมว.พลังงาน ระบุว่า คสช.มีสิทธิสนับสนุนพรรคใดก็ได้ แต่ คสช.ในฐานะผู้กุมอำนาจรัฐที่ให้คุณให้โทษได้

“การสนับสนุนพรรคใดจะทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบ และอาจมีการใช้อำนาจรัฐในทางที่ผิด แม้นายกฯ จะลงเลือกตั้งไม่ได้ แต่รัฐธรรมนูญเปิดโอกาสให้มีนายกฯ คนนอกได้ ถือเป็นผลประโยชน์ทับซ้อน”

เช่นเดียวกับ สมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่ระบุว่า มาตรา 29 ของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ห้ามมิให้ผู้ใดซึ่งมิใช่สมาชิกกระทำการใดอันเป็นการควบคุมครอบงำหรือ ชี้นำกิจกรรมของพรรคการเมืองไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม

รวมทั้ง มาตรา 56 ของร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้ง สส.ห้ามมิให้เจ้าหน้าที่ของรัฐใช้ตำแหน่งหน้าที่ โดยมิชอบด้วยกฎหมายกระทำการใดๆ เพื่อเป็นการให้คุณหรือเป็นโทษแก่ ผู้สมัคร หรือพรรคการเมือง

ดังนั้น เมื่อเวลานี้ พล.อ.ประยุทธ์ ประกาศตัวชัดว่าเป็นนักการเมืองแถมพร้อมเปิดท่าเป็นนายกฯ คนนอก หากเสียงประชาชนสนับสนุนย่อมสุ่มเสี่ยง ที่จะถูกร้องเรียนว่าการกระทำผิดกฎหมายได้

อีกด้านหนึ่งย่อมทำให้ข้อครหาเรื่องเป้าหมายการสืบทอดอำนาจ ผ่านกลไกต่างๆ ทั้งในรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกลับมาเป็นประเด็นกดดัน พล.อ.ประยุทธ์ อีกครั้ง

ดังจะเห็นเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า​เป้าหมายการดำเนินการที่ผ่านมาของ คสช.อาจไม่ได้เป็นไปเพื่อการปฏิรูป แก้ปัญหาความบิดเบี้ยวในระบบการเมืองให้กลับเข้ารูปเข้ารอย แต่เป็นเพียงแค่การวางกลไกที่จะพาตัวเองกลับเข้าสู่อำนาจอีกครั้งหลังเลือกตั้งมากกว่า

ไม่ว่าจะเป็น 250 สว.ที่จะเข้ามามีส่วนร่วมเลือกนายกฯ ระบบเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสมที่เชื่อว่าจะทำให้เสียงที่ได้รับเกิดสภาพ “เบี้ยหัวแตก” ยากจะมีพรรคใดได้เสียงข้างมากเบ็ดเสร็จเด็ดขาด

รวมไปถึงกลไก กรรมการปฏิรูป กรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ที่จะทำหน้าที่วางทิศทางกรอบการบริหารของประเทศให้ต้องเดินหน้าไปตามนั้น

การใช้อำนาจรัฐบาล คสช.ในช่วงนั้นย่อมสุ่มเสี่ยงที่จะถูกตีความว่าเป็นการกระทำที่เอื้อประโยชน์ หรือสร้างความได้เปรียบทางการเมืองได้

นั่นย่อมทำให้รัฐบาล คสช.ต้องระมัดระวังการใช้ “อำนาจพิเศษ” และ “ตัวช่วย” ที่จะถูกตีความว่าเป็นการ เอื้อประโยชน์ สร้างความได้เปรียบเสียเปรียบทางการเมืองและเป็นชนวนให้ถูกร้องเรียน และทำให้ผลการเลือกตั้งมีปัญหา ครอบคลุมไปถึงการใช้อำนาจระงับความปั่นป่วนที่จะเกิดการหาเสียง หรือมีกลุ่มผู้จ้องก่อกวน สร้างสถานการณ์ความปั่นป่วน ​

อีกด้านหนึ่ง เมื่อ คสช.ต้องปลดล็อกคำสั่งให้พรรคการเมืองหาเสียง ทำกิจกรรมทางการเมืองได้ เพื่อเดินหน้าสู่การเลือกตั้ง เวลานั้น  พล.อ.ประยุทธ์ ย่อมต้องถูกพรรคการเมืองคู่แข่งขึ้นเวทีอภิปรายพาดพิง ที่จะสั่นคลอนความเชื่อมั่นต่อ คสช.หนักขึ้น

ทั้งหมดล้วนเป็นสิ่งที่ต้องเผชิญ เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ ประกาศตัวเป็นนักการเมือง