posttoday

ล้มมาตรา 44 แบ่งข้างพรรคการเมือง

29 ธันวาคม 2560

ความเคลื่อนไหวและภาพการเมืองที่ปรากฏขึ้น ทำให้เห็นว่าพรรคประชาธิปัตย์และพรรคเพื่อไทยกำลังถูกโดดเดี่ยวอย่างเห็นได้ชัด

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

นับตั้งแต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ที่รวมอำนาจบริหาร นิติบัญญัติและตุลาการไว้ที่คนเพียงคนเดียว ไม่มีครั้งไหนที่ พล.อ.ประยุทธ์ จะถูกท้าทายเท่ากับครั้งนี้ ภายหลังพรรคประชาธิปัตย์ และ พรรคเพื่อไทย เตรียมยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 53/2560

ต้องยอมรับว่าคำสั่งหัวหน้า คสช.ดังกล่าวสร้างผลกระทบต่อพรรคการเมืองอย่างรุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับสองพรรคการเมืองใหญ่ดังกล่าว ซึ่งเป็นพรรคการเมืองที่มีสมาชิกพรรครวมกันเกือบ 3 ล้านคน

คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 53/2560มีถึง 8 ข้อ แต่มีประเด็นสำคัญที่ทำให้พรรคการเมืองต้องออกมาแสดงความไม่พอใจ คือ การให้สมาชิกพรรคการเมืองต้องทำการยืนยันสถานะความเป็นสมาชิกพรรค การเมืองของตัวเองต่อหัวหน้าพรรคการเมือง โดยมีกำหนดต้องดำเนินการให้เสร็จภายใน 30 วันนับแต่วันที่ 1 เม.ย. 2561 มิเช่นนั้นจะทำให้สมาชิกพรรคการเมืองที่ไม่ได้ดำเนินการในเรื่องนี้ตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ต้องสิ้นสุดการเป็นสมาชิกพรรคไปโดยปริยาย

นับเป็นภาระให้ประชาชนที่เป็นสมาชิกพรรคการเมืองเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวของ คสช.สวนทางกับหลักประชาธิปไตยที่ต้องการให้ประชาชนมีส่วนร่วมกับการเมือง แต่เมื่อกฎหมายที่ออกมาเป็นแบบนี้นอกจากจะมีผลร้ายต่อพรรคการเมืองแล้ว ยังเป็นการสร้างกำแพงปฏิเสธการมีส่วนร่วมของประชาชนไปโดยปริยายด้วย

ทางกลับกัน แม้จะเป็นการสร้างปัญหาให้กับพรรคการเมืองปัจจุบัน แต่อีกด้านหนึ่งกลับสร้างความได้เปรียบให้กับพรรคการเมืองใหม่ที่กำลังจะตั้งในอนาคตอย่างปฏิเสธไม่ได้ เนื่องจากพรรคการเมืองใหม่มีหน้าที่แค่หาสมาชิกให้ครบตามที่กฎหมายกำหนดเท่านั้น ไม่ต้องมารับการแสดงตนของสมาชิกพรรคการเมืองแบบพรรคการเมืองปัจจุบันแต่อย่างใด

จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจึงมีผลให้ทั้ง “ประชาธิปัตย์-เพื่อไทย” ต่างออกมาถล่ม คสช.พร้อมกันโดยไม่ได้นัดหมาย

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางสึนามิที่กำลังถล่มพรรคการเมืองด้วยผลของคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 53/2560 เริ่มทำให้ภาพการเมืองมีความเด่นชัดมากขึ้นว่าใครอยู่หรือไม่อยู่ข้างทหาร

ทั้งนี้ หากจะแบ่งข้างทางการเมืองน่าจะสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่ม

1.กลุ่มไม่สนับสนุน คสช.อย่างชัดเจน นำโดยพรรคประชาธิปัตย์และพรรคเพื่อไทย ซึ่งไม่เห็นด้วยกับแนวทางของ คสช.มาตลอด ยิ่งมาในช่วงหลังที่ คสช.ไม่ให้ความชัดเจนต่อการเลือกตั้งและการไม่ยอมผ่อนคลายให้ทำกิจกรรมทางการเมืองได้ ยิ่งทำให้ภาพของทั้งสองพรรคการเมืองในการเป็นฝ่ายตรงข้ามกับ คสช.มีความชัดเจนมากขึ้น และไม่มีทางเป็นไปได้ที่จะยกมือสนับสนุนให้ พล.อ.ประยุทธ์ กลับมาเป็นนายกฯ อีกครั้ง

2.กลุ่มสนับสนุน คสช.ให้กลับมาเป็นรัฐบาล มีทั้งพรรคการเมืองปัจจุบันอย่างพรรคพลังชล หรือกลุ่มการเมืองที่แสดงท่าทีสนับสนุน คสช.แบบทางอ้อม เช่น กลุ่มสมศักดิ์ เทพสุทิน กลุ่มไชยา สะสมทรัพย์ สุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตเลขาธิการ กปปส. เป็นต้น รวมไปถึงกลุ่มบุคคลที่เตรียมตั้งพรรคการเมืองเพื่อสนับสนุนให้ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรีคนนอก อย่าง “ไพบูลย์ นิติตะวัน” แกนนำจัดตั้งพรรคประชาชนปฏิรูป หรือ  “พล.ต.ทรงกลด ทิพย์รัตน์”ผู้เตรียมตั้งพรรคพลังชาติไทย

3.กลุ่มที่พร้อมจะอยู่กับทั้งสองฝ่าย เรียกได้ว่าที่ผ่านมาเล่นการเมืองหลายหน้า ครั้นจะเดินหน้าคัดค้าน คสช.ก็ไปไม่สุดทาง หรือจะสนับสนุนก็ไม่ได้สนับสนุนแบบเต็มปากเต็มคำเท่าไรนัก เช่น พรรคชาติไทยพัฒนา ซึ่งที่ผ่านมามีแกนนำบางคนออกมาซัด คสช.เป็นระยะ แต่แกนนำอีกส่วนก็ไม่ได้เล่นบทเดียวกัน

หรือจะเป็นกรณีของ “พรรคชาติพัฒนา” และ “พรรคภูมิใจไทย” โดยทั้งสองพรรคไม่เคยออกมาพูดตำหนิ คสช.เท่าไรนัก แม้ว่า คสช.จะมีคำสั่งที่กระทบต่อการดำเนินการของพรรคการเมืองอย่างรุนแรงก็ตามอันเป็นการแสดงให้เห็นว่าพร้อมที่อยู่ข้างคนชนะตลอดเวลา

ความเคลื่อนไหวและภาพการเมืองที่ปรากฏขึ้น ทำให้เห็นว่าพรรคประชาธิปัตย์และพรรคเพื่อไทยกำลังถูกโดดเดี่ยวอย่างเห็นได้ชัด จึงมีความเป็นไปได้ไม่น้อยที่จะได้เห็นขมิ้นกับปูนสามารถเข้ากันได้ เพียงแต่อาจต้องตกลงเงื่อนไขการเป็นพันธมิตรเฉพาะกิจให้ชัดเจนเท่านั้น