posttoday

คสช.สุดท้าย คือนักการเมือง

01 ธันวาคม 2560

การประชุมครม.สัญจร คือคือการเดินทางไปหาเสียงหรือซื้อใจประชาชน เพื่อสร้างคะแนนนิยมให้กับรัฐบาลและตนเอง 3ปีที่ผ่านมาคะแนนนิยมรัฐบาลคสช.ตกต่ำไปมาก

อุเทน ชาติภิญโญ

จากการที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และคณะ ได้ไปประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่อย่างเป็นทางการ (ครม.สัญจร) ที่ จ.สงขลา ตลอดจนการลงพื้นที่ตรวจราชการในหลายจังหวัดโดยรอบ ถือเป็น “อีเวนต์การเมือง” ที่เห็นได้บ่อยในสมัยรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ที่ต้องการลงพื้นที่เพื่อประชาสัมพันธ์โครงการและนโยบายของรัฐบาล รวมไปถึงการกระจายงบประมาณลงในพื้นที่โดยตรง พูดง่ายๆ คือการเดินทางไปหาเสียงหรือซื้อใจประชาชน เพื่อสร้างคะแนนนิยมให้กับรัฐบาลและตนเอง

ตลอดระยะเวลาที่บริหารประเทศมามากกว่า 3 ปี คะแนนนิยมรัฐบาลและคะแนนนิยมส่วนตัวของนายกฯ ประยุทธ์ตกต่ำลงมาก จึงหวังใช้เวที ครม.สัญจรในการกู้ความนิยมให้กลับคืน รวมทั้งที่วิพากษ์กันว่าเป็นการปูฐานเสียงไว้สำหรับการเลือกตั้งในครั้งหน้าด้วย
ซึ่งตรงนี้ก็คงปฏิเสธได้ยาก

หากแต่การลงพื้นที่ของนายกฯ ประยุทธ์ ก็ยังดูไม่เนียนตาเท่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง อาจเป็นเพราะมองว่าตัวเองมีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด การตรวจสอบผ่านการอภิปรายไม่ไว้วางใจก็ทำไม่ได้ จึงเกิดเหตุการณ์ที่ส่งผลเสียต่อภาพลักษณ์รัฐบาลและตัวผู้นำรัฐบาลบ่อยครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางไปภาคเหนือ ภาคอีสาน หรือภาคกลาง แต่ที่น่าตลกก็คือดันมามีปัญหาหนักสุดที่ภาคใต้ ซึ่งตามจริงแล้วถือเป็นฐานสนับสนุนที่สำคัญของรัฐบาลทหารด้วยซ้ำไป

ทั้งเหตุการณ์ที่นายกฯ ประยุทธ์ ต่อล้อต่อเถียง ตวาดเสียงดัง ใช้วาจา ที่รุนแรง ใส่ตัวแทนชาวประมง ที่จ.ปัตตานี หลังเรียกร้องให้มีการผ่อนปรนระยะเวลาการทำประมงเพิ่มมากขึ้น หรือเหตุการณ์เจ้าหน้าที่ปราบปรามการชุมนุมของกลุ่มเครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานี ไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาอย่างรุนแรง ทั้งที่การลงพื้นที่กับการรับเรื่องร้องเรียนเพื่อรับทราบรับฟังปัญหาเป็นของคู่กันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จึงเป็นเรื่องที่ควรมีการเตรียมรับประชาชนที่มีปัญหา มีความเดือดร้อน

ในทุกครั้งที่ลงพื้นที่ ประชาชนเมื่อหมดที่พึ่งก็จำเป็นต้องมาขอความช่วยเหลือจากรัฐบาล ยิ่งเห็นว่ามีผู้มีอำนาจเข้ามาในพื้นที่ก็อยากจะถ่ายทอดปัญหาให้ได้รับทราบโดยตรง แต่การบริหารจัดการเหตุการณ์ของตัวผู้นำรัฐบาลและผู้ที่เกี่ยวข้องกลับทำได้แย่มาก เหมือนเมื่อครั้งที่มีรัฐบาลหนึ่งปล่อยให้สุนัขตำรวจกัดชาวนา

การเตรียมรับมือเหตุการณ์เช่นนี้ทำได้ไม่ยาก สิ่งแรกเลยนายกฯ ประยุทธ์ควรยอมรับความจริงเสียทีว่าตัวเองบัดนี้ได้กลายเป็นนักการเมืองเต็มตัวไปแล้ว อย่าเพียงแต่สร้างวาทกรรม เพื่อใช้เป็นเกราะป้องกันตัวเองว่าตัวเองเข้ามากอบกู้วิกฤตบ้านเมือง ต้องเลิกรังเกียจรังงอนนักการเมืองต่อไป ซึ่งตามกฎหมายก็ระบุชัดเจนว่าตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหรือตำแหน่งรัฐมนตรีถือเป็นตำแหน่งทางการเมือง ดังนั้นตั้งแต่ตัดสินใจเข้ามายึดอำนาจเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2557 ท่านก็เป็นนักการเมืองตั้งแต่วันนั้นแล้ว พันธกิจสำคัญของการเป็นนักการเมืองก็คือการช่วยเหลือพี่น้องประชาชน มิใช่ตั้งท่าว่าเขาเป็นศัตรูคู่อาฆาตกันมาเพื่อต่อต้านท่าน

หากคิดหรือทำไม่ได้ตามที่ว่าไว้ ก็ขอเตือนนายกฯ ประยุทธ์ และบรรดาคนรอบข้างด้วยว่า เมื่อเลือกที่จะมาอยู่จุดนี้แล้ว จิตใจต้องนึกถึงความรู้สึกของส่วนรวมและประชาชนเป็นประการแรก เอาใจเขาใส่ใจเรา หาใช่การหลงระเริงในอำนาจที่มี จนกวาดต้อน ผลักดันกลุ่มคนที่เห็นต่างไปเป็นฝ่ายตรงข้ามเสียหมด บทเรียนจากประวัติศาสตร์ในอดีตก็มีให้เห็นมาแล้วนักต่อนัก อำนาจก็ไม่ต่าง จากบูเมอแรง ที่ยิ่งขว้างไปแรงเท่าไร ก็ย้อนกลับมาแรงมากขึ้นอีก ถามว่า จอมพลถนอม กิตติขจร จอมพลประภาส จารุเสถียร หรือกระทั่ง ทักษิณ ชินวัตร มีจุดจบอย่างไร เมื่อหลงและเหลิงในอำนาจ

ขอยกตัวอย่างปัญหาของกลุ่มเครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ซึ่งเป็นที่รับรู้กันมานานว่าเคลื่อนไหวต่อต้านโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหิน ด้วยเหตุผลหลักคือ มลภาวะ มลพิษ และความเสียหายของระบบนิเวศที่จะตามมา เมื่อจับประเด็นตรงนี้ได้ฝ่ายบริหารก็มีหน้าที่ในการทำความเข้าใจว่า สาเหตุที่ต้องมีโครงการทำโรงไฟฟ้าในพื้นที่ภาคใต้มาจากเรื่องใด เป็นเรื่องความมั่นคงด้านพลังงานของพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ใช่หรือไม่ ด้วยกำลังการผลิตไฟฟ้าของภาคใต้เองเบ็ดเสร็จอยู่ที่ประมาณ 3,074 Mw ขณะที่ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดของภาคใต้อยู่ที่ประมาณ 2,700-2,800 Mw บวกลบง่ายๆ อาจจะเห็นว่ามีกำลังไฟฟ้าเพียงพอ

แต่ต้องไม่ลืมคำนวณอัตราความเติบโตของความต้องการใช้ไฟฟ้าเติบโตที่เฉลี่ยปีละ 4.20% เข้าไป ก็จะเห็นได้ชัดเจนว่า อีกไม่กี่ปีปริมาณการผลิตและความต้องใช้ไฟฟ้าก็จะไล่ทันกัน โดยเฉพาะในฤดูท่องเที่ยว ที่ตลาดท่องเที่ยวภาคใต้เติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด ก็ยิ่งเห็นถึงความจำเป็นที่ต้องใช้กระแสไฟฟ้าเพิ่มอย่างมาก หากวิเคราะห์ลึกลงไปในแต่ละโรงไฟฟ้าที่มีกำลังผลิตมากน้อยลดหลั่นกันไป ยกตัวอย่างโรงไฟฟ้าหลักที่ผลิตได้มาก คือโรงไฟฟ้าจะนะผลิตไฟฟ้าได้ 1,476 Mw หรือโรงไฟฟ้าขนอมผลิตไฟฟ้าได้ 930 Mw หากโรงใดโรงหนึ่งเกิดอุบัติเหตุผลิตไฟฟ้าไม่ได้แล้วจะเกิดอะไรขึ้น ในอดีตก็เกิดมาแล้วดับเหตุการณ์ที่เรียกว่า แบล็กเอาต์ (Blackout) ไฟฟ้าดับทั้งภาคใต้ ซึ่งย่อมกระทบในหลายมิติ ทั้งความเป็นอยู่ของชาวบ้าน เศรษฐกิจ การท่องเที่ยว หรือที่สำคัญในแง่ความมั่นคงในพื้นที่ชายแดนภาคใต้

แผนสำรองที่ผ่านๆ มาก็คือ ต่อสายนำไฟฟ้าจากพื้นที่ภาคกลางไปเสริม ส่วนที่เป็นหลักคือการซื้อไฟฟ้าจากประเทศมาเลเซีย ซึ่งถือเป็นแนวทางที่ไม่เสถียร ควบคุมไม่ได้ หรือไม่ยั่งยืนนั่นเอง เกิดวันหนึ่งสายส่งไฟฟ้าแรงสูงจากภาคกลางมีปัญหา หรือหากประเทศมาเลเซียไม่ขายไฟฟ้าให้เราขึ้นมาเราจะทำอย่างไร ซึ่งข้อมูลจากภาครัฐเองก็ระบุชัดเจนว่า หากภายในปี 2562-2565 ยังไม่สามารถหาแหล่งผลิตไฟฟ้าเพิ่มในภาคใต้ได้ ก็อาจเกิดวิกฤตด้านพลังงานไฟฟ้าในภาคใต้อย่างแน่นอน เมื่อมองอย่างรอบด้านแล้วก็ยิ่งเห็นถึงความจำเป็นว่าภาคใต้ต้องมีเสริมกำลังผลิตไฟฟ้ามากขึ้นโดยเร็ว เพื่อให้เกิดความมั่นคงของพลังงานไฟฟ้าในประเทศ

โจทย์สำคัญของรัฐบาลคือ ต้องพิจารณาว่าจะเพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้าอย่างไร การสร้างโรงไฟฟ้านั้นจำเป็นแน่นอน แต่เป็นโรงไฟฟ้าแบบไหน ไม่ว่าจะโรงไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ (NGV) ที่ อ.จะนะ ก็เคยมีปัญหามาก่อน หรือโรงไฟฟ้าถ่านหินไม่ว่าจะที่ อ.เทพา หรือที่ จ.กระบี่ ก็ถูกต่อต้านทุกครั้ง ซึ่งส่วนตัวผู้เขียนเองก็สนับสนุนเต็มที่ในการสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มในพื้นที่ภาคใต้ เพราะเวลาเกิดปัญหาแล้วไปขอซื้อจากต่างชาติตลอดก็ไม่ใช่วิธีแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน แต่ก็ไม่เห็นด้วยกับการเลือกใช้ถ่านหินในพื้นที่นี้ ด้วยจะมีผลกระทบจากมลพิษตามมา
รัฐบาลต้องรีบทบทวนและพิจารณาหาพื้นที่ให้ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบในพื้นที่ได้ร่วมระดมสมอง ตกผลึกว่าโรงไฟฟ้าแบบไหนที่เหมาะกับพวกเขาเอง นำปัญหามาร่วมกันคิด ร่วมกันแก้อย่างรอบด้าน ทั้งพื้นที่ตั้ง มลภาวะ มลพิษ หรือผลกระทบต่อระบบนิเวศ มากกว่านำความคิดความต้องการของตัวเองไปยัดเยียดให้พวกเขา

อย่าว่าสอนมวยเลยนะ แค่แสดงความจริงใจ พูดคุยอธิบายกับชาวบ้านดีๆ เปิดพื้นที่ให้แสดงความคิดเห็นเพื่อหาข้อสรุปร่วมกัน โดยไม่ต้องไปไล่ทุบ ไล่ตี หรือตวาดเสียงดัง ก็น่าจะหาทางออกได้ไม่ยาก