posttoday

บิ๊กป้อม โยนหินถามทาง วัดเรตติ้งตั้งพรรคทหาร

08 พฤศจิกายน 2560

กลายเป็นประเด็นร้อนที่ถูกจับตาจากสังคมอีกรอบ เมื่อ บิ๊กป้อม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีเริ่มแบ่งรับแบ่งสู้กับแนวคิดเรื่องการตั้งพรรคการเมืองของคสช.

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

กลายเป็นประเด็นร้อนที่ถูกจับตาจากสังคมอีกรอบ เมื่อ บิ๊กป้อม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เริ่มแบ่งรับแบ่งสู้กับแนวคิดเรื่องการตั้งพรรคการเมืองของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

"คสช.ไม่ยุ่งการเมืองอยู่แล้ว แต่ถ้าจำเป็นต้องตั้ง ก็ต้องตั้ง ถ้าไม่จำเป็น ก็ไม่ต้องตั้ง"

ท่ามกลางกระแสข่าวที่พบความเคลื่อนไหวของ พล.ต.ทรงกลด ทิพย์รัตน์ คณะทำงานเตรียมการปฏิรูปประเทศของ คสช. เตรียมจัดตั้ง "พรรคพลังชาติไทย" ที่ถูกมองว่าอาจจะเป็นพรรคนอมินีของ คสช.

การันตีด้วยความเห็นจาก นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่ระบุว่าคนของพรรคพลังชาติไทยลงพื้นที่ภาคใต้มานานร่วมปี โดยตั้งทีมประสานงานภาคใต้อยู่ที่ จ.พัทลุง และคัดเลือกคนที่จะลงสมัคร สส.ใน จ.พัทลุง ครบทั้ง 3 เขตแล้ว เช่นเดียวกับในจังหวัดภาคใต้อื่น

แต่ไม่ว่า พล.อ.ประวิตร จะปฏิเสธไม่รับรู้เกี่ยวกับเรื่องการตั้งพรรคพลังชาติไทย หรือปฏิเสธว่าขณะนี้ยังไม่จำเป็นต้องตั้งพรรค แต่ก็ไม่อาจสลายความกังขาเรื่องพรรคนอมินีของ คสช.ให้หมดไปได้

ยิ่งล่าสุดการแบ่งรับแบ่งสู้ไม่ปิดประตูตายเรื่องการตั้งพรรคทหาร ยิ่งทำให้ถูกมองว่านี่เป็นการโยนหินถามทางของทาง คสช.ที่ต้องการจะวัดกระแสสังคมจะคล้อยตามไปกับแนวคิดนี้ด้วยหรือไม่

ที่สำคัญนี่ยังอาจเป็นการส่งสัญญาณไปถึงบรรดานักการเมืองจากพรรคการเมืองต่างๆ ที่เวลานี้ยังถูกแช่แข็งไม่ให้ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมือง ด้วยว่าจะคิดอ่านอย่างไรกับอนาคตทางการเมืองต่อไป

เมื่อตามรัฐธรรมนูญใหม่กำหนดให้แต่ละพรรคต้องมาจัดระบบสมาชิกพรรคกันใหม่ ซึ่งถูกมองว่าเป็นช่องเปิดให้เกิดการย้ายพรรคการเมืองได้ง่ายฤดูกาลปกติ

สอดรับไปกับความอ่อนแอภายในของแต่ละพรรคการเมืองทั้งขนาดกลางขนาดใหญ่ ขนาบด้วยกฎกติกาใหม่ถูกแต่ละพรรคออกมาตีโพยตีพายว่าจะยิ่งนำไปสู่ความวุ่นวายและทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอ

ยังไม่รวมกับ "ตัวช่วย" ตามกลไกรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็น สว. 250 คนที่จะมาจากการคัดเลือกของ คสช. หรือคณะกรรมการปฏิรูป คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ฯลฯ

ทั้งหมดยิ่งตอกย้ำความเป็นห่วงเรื่องนายกรัฐมนตรีคนนอกที่ชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ

หากจำได้แนวคิดการตั้งพรรคการเมืองพร้อมประกาศตัวสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีต่ออีกสมัยมีให้ได้ยินมาอย่างต่อเนื่อง ขณะที่เจ้าตัวก็ไม่ได้ตอบรับหรือปฏิเสธกับแนวคิดนี้

เริ่มตั้งแต่พรรคของ ไพบูลย์ นิติตะวัน อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ที่แม้จะยังอุบไต๋รายชื่อคนที่จะมาเป็นหัวหน้าพรรค แต่ก็ยืนยันว่ายังไม่ปลดล็อกให้พรรคการเมืองทำกิจกรรม ซึ่งจะกระทบกับการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองของพรรคในอนาคต

ถัดมาที่การขยับตัวของ สุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตแกนนำ กปปส. ที่ประกาศตัวสนับสนุนการดำเนินการของ คสช.มาตั้งแต่ต้นเรื่อยมาจนถึงการประกาศจุดยืนสวนทางกับประชาธิปัตย์สนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญ

จนมาถึงการส่งสัญญาณแบ่งรับแบ่งสู้เรื่องตั้งพรรคการเมืองที่ปล่อยให้เป็นเรื่องของอนาคต หลังจากที่ก่อนหน้านี้ปฏิเสธมาโดยตลอด

ในวันที่รอยร้าวระหว่างประชาธิปัตย์กับ กปปส.ดูจะยังไม่สามารถสมานกันได้แนบแน่นเหมือนเดิม

ปัจจัยทั้งหลายยิ่งทำให้แนวคิดเรื่องการตั้งพรรคของ คสช.ถูกจับตาเป็นพิเศษในวันที่ พล.อ.ประยุทธ์ ประกาศความชัดเจนว่าจะประกาศวันเลือกตั้งในปีหน้า สยบกระแสข่าวการคว่ำกฎหมายลูกในชั้นสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)

ทว่า ตัวแปรที่น่าเป็นห่วงอยู่ตรงคะแนนความนิยมของ พล.อ.ประยุทธ์ ดูจะไม่เปรี้ยงปร้างเหมือนหลังรัฐประหาร ตรงกันข้ามยิ่งระยะหลังคะแนนยิ่งลดน้อยลงไปตามแรงเสียดทานที่เกิดขึ้นรอบด้าน

การใช้โอกาสนี้ปรับ ครม.ชุดใหญ่ เพื่อเร่งสร้างผลงานในโค้งสุดท้ายจึงอาจเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดในเวลานี้

เมื่อที่ผ่านมานอกจากผลงานหลายเรื่องยังไม่เข้าตาแล้ว การที่คนใน คสช.หลายคนต้องไปพัวพันกับเงื่อนงำความไม่โปร่งใสในหลายเรื่อง ล้วนแต่ฉุดให้คะแนนนิยมและความเชื่อมั่นลดลง

ยังไม่รวมกับการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าระบบรากหญ้า แทบไม่ต่างกับแนวทางของพรรคการเมืองในอดีตที่มาจากการเลือกตั้งทำกันในช่วงใกล้หมดสมัยดำรงตำแหน่ง

แต่ทั้งหลายทั้งปวงอย่าลืมว่า บทเรียนจากพรรคทหารที่เข้ามาสู่การเมืองด้วยเป้าประสงค์เรื่องการสืบทอดอำนาจ ไม่ว่าจะด้วยการ หยิบยกเหตุผลอะไรมาอธิบายล้วนแต่ มีจุดจบสุดท้ายที่ไม่ค่อยดีนัก

การโยนหินถามทางของ พล.อ.ประวิตร ครั้งนี้จึงต้องชั่งใจให้ดีและวิเคราะห์อย่างรอบด้านก่อนจะตัดสินใจอย่างหนึ่งอย่างใดกับแนวคิดเรื่องพรรคทหาร