posttoday

มองผลงานปฏิรูป เลิกยึดติดตัวบุคคล

18 สิงหาคม 2560

เป็นกระแสเรียกเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก ภายหลังคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบประกาศรายชื่อคณะกรรมการปฏิรูป 11 ด้าน ตามพ.ร.บ.แผนและขั้นตอนการปฏิรูปประเทศ พ.ศ. 2560

โดย.....ชัยรัตน์ พัชรไตรรัตน์

เป็นกระแสเรียกเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก ภายหลังคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบประกาศรายชื่อคณะกรรมการปฏิรูป 11 ด้าน ตามพ.ร.บ.แผนและขั้นตอนการปฏิรูปประเทศ พ.ศ. 2560

โดยรายนามปรากฏส่วนใหญ่ล้วนแต่คุ้นหน้าคุ้นตากันเป็นอย่างดี จนเกิดคำถามว่างานซึ่งกำลังเดินหน้าสานต่อไปจากนี้ จะประสบความเสร็จตามสิ่งที่ประชาชนคาดหวังไว้หรือไม่

พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช คณะกรรมการปฏิรูปด้านพลังงาน ให้ความเห็นกับประเด็นนี้ โดยเชื่อว่ารายชื่อส่วนใหญ่ที่ถูกคัดเลือกเข้ามานั้นมีประสบการณ์ในแต่ละด้าน เป็นมือฉมัง กูรู และเป็นนักวิชาการ โดยในส่วนของพลังงานนั้นก็มี อาทิ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เข้าร่วม

"ด้านพลังงานของผมไม่เห็นไม่มีใครไม่รู้เรื่องสักคน จริงๆแล้วมองว่าการจัดคนเชื่อว่าครม.พิจารณาคุณสมบัติของแต่ละบุคคล อีกทั้ง ยังมีช่องไว้ให้อีก 5 คน เพื่อมาดูกันว่าใครเหมาะสม ก็เสนอให้กับครม.พิจารณาเพิ่มเติมในส่วนขาด ไม่ใช่จับใส่ทั้งลำโดยไม่มีช่องที่จะเดิน ดังนั้น ประเด็นตัวบุคคลครม.มองในเรื่องของคุณสมบัติ"

ส่วนที่มองว่าบุคคลที่เข้าร่วมนั้นมาเพื่อตอบสนองความต้องการของรัฐบาลอย่างเดียว ส่วนตัวคิดว่าทุกรัฐบาลต้องการปฏิรูปประเทศให้ดีที่สุด ซึ่งต้องยอมรับตรงนี้ ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หรือรัฐบาลที่มาหลังจากการเลือกตั้ง ก็มีเป้าหมายเดียวกัน คือ ต้องการปฏิรูปประเทศให้ดีที่สุด

"ผมเชื่อว่ายังมีคนไม่เข้าใจคำว่าปฏิรูปกับยุทธศาสตร์ซึ่งเป็นคนละเรื่องกัน แต่เอามาโยงกัน ซึ่งการปฏิรูป คือ ปรับปรุง เปลี่ยนแปลง แก้ไขสิ่งที่มันเจียนตัวให้สามารถไปทำยุทธศาสตร์หรือเป้าหมายได้ และคณะของเราก็มาดูว่าอะไรเป็นปัญหา ข้อด้อย จุดอ่อน อุปสรรค ของระบบโครงสร้าง หรือกฎหมายต่างๆ นั่นคือสิ่งที่เราทำ ไม่ได้มาทำยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งบางคนยังไม่เข้าใจตรงนี้"

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าทุกรัฐบาลต้องการแก้ไขปัญหาระบบราชการ อาทิ การศึกษา โลจิสติกส์ เชื่อว่าเป้าหมายไม่ต่างกัน ดังนั้น ส่วนตัวมองไม่เห็นว่าผู้ที่มีรายชื่อเข้าร่วมทั้งหมดจะเข้ามาประโยชน์ทับซ้อนอะไร แต่สิ่งสำคัญคนวิจารณ์ไม่ได้ คือ พ.ร.บ.แผนและขั้นตอนการปฏิรูปประเทศ มีความชัดเจนในรายละเอียด

ขณะที่ เจษฎ์ โทณะวณิก คณะกรรมการปฏิรูปด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ กล่าวว่า กรณีเกิดเสียงวิจารณ์นั้น ก็คงต้องยอมรับไปก่อนว่ามันอาจจะเป็นไปตามนั้นก็ได้  และไม่สามารถตอบได้ว่าบรรดาผู้มีรายชื่อทั้งหลายเหล่านี้ เป็นที่ต้องตาต้องใจของประชาชนหรือไม่ เพราะก็เป็นหน้าเดิมๆจริง

“คำสบประมาทนั้นก็รับไปเถอะ แต่ว่าเราต้องทำงานให้มันเห็นผล ยิ่งสบประสาทเท่าไหร่อย่าไปเถียง รับมา แต่ทำงานให้เห็นผลของงาน วางแผนให้มันเดินหน้าไปเดินจนเกิดผลจริงในทางปฏิบัติ ไม่ว่าจะเป็นคนหน้าเก่าหน้าใหม่ก็แล้วแต่ พยายามทำให้ทุกภาคส่วนต่างๆในสังคมเข้ามามีส่วนร่วมให้มากที่สุด โดยเฉพาะประชาชนทั่วไปได้เข้ามาร่วมปฏิรูปประเทศชาติ เมื่อผลในทางปฏิบัติมันเกิดขึ้นไปเรื่อยๆ คำสบประมาทที่มีอยู่ก็จะหายไปเอง ถ้าทำไม่ได้แล้วไปแก้ตัวว่าเป็นคนที่มีความรู้ ความสามารถ ทำงานอยู่ได้ ต้องไปต่อ และถ้าเราทำไม่ได้ผลยิ่งไปกันใหญ่ ฉะนั้น อย่าไปเถียง รับมาเถอะ”

ส่วนที่มองว่าเป็นมือไม้ให้กับรัฐบาลนั้น ซึ่งอยากให้ดูเรื่องของการทำงานว่าท้ายที่สุด ทำงานเป็นมือไม้ให้กับประชาชน หรือทำงานเพื่อเป็นมือไม้ให้กับผู้มีอำนาจ ถ้าทำงานเป็นมือไม้ให้กับผู้มีอำนาจก็เป็นไปตามที่วิจารณ์ก็ถูกต้องแล้ว หากทำงานเป็นมือไม้ให้กับประชาชนก็สามารถลบคำสบประมาทได้เอง

“อยากติดตามผลงานมากกว่าดูเรื่องของตัวบุคคล แต่จะว่าบุคคลก็ว่าไปเพราะมีมูลความจริงอยู่ แต่ยิ่งมีมูลความจริง แต่ละบุคคลยิ่งต้องทำให้ประจักษ์ว่ามูลความจริง ไม่ว่าจะว่าใครรู้จักกับใครก็แล้วแต่ ไม่ได้ทำงานเพื่อคนเหล่านั้น แต่ทำงานเพื่อประชาชน ต้องผลักดันในเรื่องนี้ออกมา ถ้าทำไม่ได้มันก็จริง แต่ถ้าทำได้มันก็เสมอตัว ก็ถือว่าเพียงพอแล้ว เพราะการทำงานมีคำว่า คำติ มากกว่าคำชมอยู่แล้ว ถ้าไม่เคยถูกติ ถูกว่า อาจไม่เคยทำงานก็ได้”

ด้าน คำนูณ สิทธิสมาน คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย กล่าวว่า ที่มีการวิพากษ์วิจารณ์กันเป็นเรื่องที่คณะกรรมการปฏิรูปต้องน้อมรับฟังเสียงดังกล่าว และใช้ความรู้ความสามารถที่มีอยู่ทำงานให้เกิดประโยชน์มากที่สุด ถึงแม้จะมีการทำงานปฏิรูปมาก่อนหน้านี้ แต่คณะชุดนี้ภายในตั้งแต่บัดนี้ไปจนถึงไม่เกิน 8 เดือน ซึ่งแผนปฏิรูปจะต้องออกมามีรูปธรรมรายละเอียด รวมทั้ง ต้องเป็นแผนที่มีผลผูกพันตามกฎหมายรัฐธรรมนูญกับทุกรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลไหน

“ไม่ใช่เรื่องที่จะอภิปรายกันอีกต่อไป เป็นเรื่องของการทำแผนโดยละเอียด ส่วนที่มองว่ามีคนเดิมเข้ามาก็ต้องเข้าใจว่า คนเดิมบางส่วน ก็จะต้องเป็นคนที่มีความรู้ของ สปช. และสปท.มา ซึ่งเป็นรากฐานจำเป็น ไม่ใช่ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเริ่มต้นใหม่ทั้งหมด แต่เป็นการเอาทั้งงาน สปท. สปช. ซึ่งมีบางส่วนค้างคาอยู่ในระบบราชการ ก็มีความจำเป็นเอาสิ่งต่างๆเหล่านั้น ความเห็นจากหน่วยราชการ ของคณะรัฐมนตรี สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มาจัดทำให้เป็นแผน”

อย่างไรก็ตาม อยากย้ำว่าลักษณะพิเศษของคณะกรรมการชุดนี้ทั้งหมด คือ การจัดทำแผนโดยละเอียด ซึ่งแผนนั้นผ่านไปแล้วและได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ และครม. มันมีผลบังคับตามกฎหมายที่ให้ทุกรัฐบาลที่เข้ามาต้องปฏิบัติตาม ส่วนการวิจารณ์ก็ควรให้ผลงานเป็นผู้ตอบจะดีกว่า