posttoday

แยกเบอร์ลงเลือกตั้ง พรรคการเมืองกุมขมับ

08 สิงหาคม 2560

เพิ่งผ่านพ้นประเด็นร้อนทางการเมืองสดๆ ร้อนๆ ไปได้ไม่นาน อย่างคำพิพากษายกฟ้อง "สมชาย วงศ์สวัสดิ์" อดีตนายกรัฐมนตรี

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์ 

เพิ่งผ่านพ้นประเด็นร้อนทางการเมืองสดๆ ร้อนๆ ไปได้ไม่นาน อย่างคำพิพากษายกฟ้อง "สมชาย วงศ์สวัสดิ์" อดีตนายกรัฐมนตรี ในคดีการสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ปรากฏว่าเวลานี้กำลังมีประเด็นร้อนการเมืองให้มีการวิพากษ์วิจารณ์กันไปทั่ว ภายหลังคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เริ่มลงมือเขียนร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง สส. อย่างเป็นทางการไปเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

เรื่องของเรื่องมีอยู่ว่า กรธ.ได้กำหนดรูปแบบการให้เบอร์ผู้สมัครใหม่คือ พรรคการเมืองจะได้เบอร์สมัครแตกต่างกันในแต่ละเขตเลือกตั้ง หรือเรียกว่า "ต่างเขตต่างเบอร์" จากเดิมที่ใช้ระบบเบอร์เดียวให้พรรคการเมืองหาเสียงได้ทั่วประเทศ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ในมุมมองของ กรธ.คิดว่าจะช่วยให้การเลือกตั้ง มีความบริสุทธิ์มากขึ้น และสร้าง ความเท่าเทียมให้กับพรรคการเมือง ทุกพรรค

"ระบบการเลือกตั้งเปลี่ยนไปจากเดิมที่ใช้ระบบลงคะแนน 2 บัตร คือ ระบบเขต และบัญชีรายชื่อ ที่ทำให้ใช้เบอร์เดียวกันได้ แต่ระบบใหม่ลงคะแนนบัตรเดียว ผู้สมัครแต่ละเขตก็จะนับเลขไปตามจำนวนคนที่เข้ามาสมัคร ยุติธรรมกับทุกฝ่าย ทุกคนมีสิทธิเท่ากัน หากพรรคการเมืองเห็นเป็นประเด็นสำคัญ สามารถเสนอความเห็นให้ กรธ. หรือสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาได้" นรชิต สิงหเสนี โฆษก กรธ.แจกแจง

การที่ กรธ.ลงมือสร้างความเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ นับว่าเป็น การรื้อระบบความเคยชินของคนไทย ในการเลือกตั้งครั้งสำคัญในรอบ เกือบ 20 ปี

กล่าวคือ ต้องไม่ลืมว่านับตั้งแต่ประเทศไทยใช้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2549 และฉบับปี 2550 ก่อนจะมีการฉีกรัฐธรรมนูญโดยทหารในปี 2557 ประชาชนคนไทยในฐานะผู้มีสิทธิเลือกตั้งอยู่กับระบบลงคะแนนเลือกพรรคการเมืองแบบเบอร์เดียวมาเกือบ 2 ทศวรรษ จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าคนไทยมีความคุ้นเคยกับระบบเขตเดียวเบอร์เดียวพอสมควร

ดังนั้น เมื่อ กรธ.ลงมือเปลี่ยนกติกาเลือกตั้งครั้งใหญ่อีกครั้ง พรรคการเมืองจึงเป็นกลุ่มคนแรกๆ ที่ได้รับผลกระทบเต็มๆ และออกมาฟาดงวงฟาดงาแสดงความไม่พอใจอย่างเห็นได้ชัด

ภูมิธรรม เวชยชัย รักษาการเลขาธิการพรรคเพื่อไทย ท้วงติงว่า "ผู้สมัครแต่ละเขต และผู้สมัครระบบบัญชีรายชื่อ ล้วนเป็นเหมือนตัวแทนของพรรคการเมืองที่เสนอให้ประชาชนอย่างชัดเจน ไม่ใช่ปัจเจกบุคคล ตัวใครตัวมันที่ไม่เกี่ยวข้องกับพรรค ดังนั้นการให้ผู้สมัครเป็นเบอร์เดียวกันทั้งพรรคจึงเป็นเรื่องสมเหตุสมผล และ ไม่ทำให้ประชาชนเกิดความสับสนแต่อย่างใด จึงไม่เห็นเหตุผลที่มีความพยายามจะไม่ให้ใช้หมายเลขผู้สมัครจากพรรคเดียวกันมีหมายเลขเดียวกันทั้งประเทศ"

เช่นเดียวกับ พรรคประชาธิปัตย์ เป็นอีกพรรคการเมืองที่ไม่เห็นด้วยกับระบบแยกเขตต่างเบอร์เหมือนกัน

"กรธ.คงคิดนำหลักนี้มาป้องกันการซื้อเสียง แต่ส่วนตัวคิดว่าคงใช้ไม่ได้ กลับกันจะทำให้คนสับสน มีปัญหาทั้งในแง่ความสะดวกของผู้หาเสียง และประชาชนผู้ไปลงคะแนน ใช้แบบเดิมคือให้ผู้สมัครมีหมายเลขเดียวกับพรรคทั้งประเทศน่าจะดีกว่า การซื้อเสียงไม่ได้ขึ้นอยู่กับหมายเลขผู้สมัครอย่างเดียว ไหนว่ากฎหมายที่ออกมาป้องกันการซื้อเสียงได้แล้ว ทำไมไม่คิดในแง่อำนวยความสะดวก สำหรับคนที่อยากไปลงคะแนน รวมถึงผู้สมัครด้วย" นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ วิจารณ์

แน่นอนในมุมของพรรคการเมืองที่ไม่เห็นด้วย เพราะคิดว่าจะสร้างความลำบากให้กับพรรคการเมืองในการหาเสียงเลือกตั้ง และไม่ได้ทำให้พรรคการเมืองได้รับความสำคัญมากขึ้น กลับกันจะมีผลให้พรรคการเมือง เบอร์เลือกตั้งที่พรรคการเมืองได้มาจากระบบการเลือกตั้งแบบเดิมนั้น จะมีลักษณะของการเป็น "เบอร์ประจำพรรค" สามารถใช้เบอร์ที่พรรคการเมืองได้จากการสมัครครั้งแรกหาเสียงได้ทั่วประเทศ อีกทั้งช่วยอำนวยความสะดวกต่อการจัดทำภูมิรัฐศาสตร์สำหรับการวางนโยบายหาเสียงเลือกตั้งด้วย

เมื่อ กรธ.เข้ามากระทุ้งกล่องดวงใจของพรรคการเมือง เป็นธรรมดาที่พรรคการเมืองย่อมต้องไม่พอใจ แต่ กรธ.ก็ยืนยันหัวเด็ดตีนขาดว่าการให้เบอร์สมัครของพรรคการเมืองแตกต่างกันไปในแต่ละเขตเลือกตั้ง จะนำมาซึ่งการปฏิรูปประเทศอย่างแท้จริง

"จะไปดูถูกประชาชนไม่ได้ การเลือกตั้งคนในเขต เขาสามารถเห็นป้ายผู้สมัคร จำหน้า จำชื่อผู้สมัครในพื้นที่ได้ทั้งเช้าค่ำ หน้าคูหาวันเลือกตั้งก็มี ผู้คนเปลี่ยนไปเยอะแล้ว ไม่ใช่ 30-40 ปีที่แล้ว ที่อ่านหนังสือกันไม่ออก การเลือกตั้งต้องรู้ว่าไปเลือกใคร ต้องขวนขวายที่จะดูว่าใครเป็นผู้สมัครในเขตของตน" เสียงยืนยันจาก "มีชัย ฤชุพันธุ์" ประธาน กรธ.

พิจารณจากเสียงของพรรคการเมืองและ กรธ.แล้ว จะเห็นได้ว่าต่างยืนยันในหลักการของตนเองทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย แบบนี้ความหนักใจจึงตกไปที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ในฐานะองค์กรที่จะอนุมัติให้ความเห็นชอบในขั้นตอนสุดท้าย

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นย่อมเป็นไปไม่ได้ที่พรรคการเมืองจะถอยหลัง เพราะพรรคการเมืองกำลังตกอยู่ในสถานะถูกกดดันจากทุกรูปแบบ ทั้งจากเงื่อนไขทางกฎหมายและทางการเมือง โดยเฉพาะเงื่อนไขทางการเมืองที่ไม่อาจทำให้พรรคดำเนินกิจกรรมทางการเมืองได้ จนเป็นอุปสรรคต่อการรักษาพื้นที่ของตัวเอง

ดูท่าแล้วศึกนี้คงไม่จบกันง่าย ต้องสู้และฟาดฟันกันอีกหลายยก