posttoday

50ปีอาเซียน ไทยต้องโชว์ศักยภาพกว่านี้

24 มีนาคม 2560

ศูนย์อาเซียนศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้จัดงาน “TU ASEAN Expo 2017” เนื่องในโอกาสครบรอบ 50 ปีอาเซียน เพื่อเตรียมความพร้อมการเข้าสู่ยุคเปลี่ยนผ่าน 4.0

โดย...ชัยรัตน์ พัชรไตรรัตน์

ศูนย์อาเซียนศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้จัดงาน "TU ASEAN Expo 2017" เนื่องในโอกาสครบรอบ 50 ปีอาเซียน เพื่อเตรียมความพร้อมการเข้าสู่ยุคเปลี่ยนผ่าน 4.0 พร้อมจับตาบทบาทอนาคตไทยในฐานะสมาชิกของประชาคมอาเซียน ณ ห้องประชุมใหญ่ ท่าพระจันทร์ เมื่อวันที่ 23 มี.ค. ที่ผ่านมา

ดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.ต่างประเทศ กล่าวปาฐกถาตอนหนึ่งว่า อาเซียนเกิดจากการรวมตัวของกลุ่มประเทศในอาเซียนเพื่อจุดประสงค์แรกในเรื่องการเมือง ก่อนขยับไปสู่การค้าเสรีกับหลายประเทศ หรือ เอฟทีเอ ซึ่งเป็นตลอดระยะ 50 ปีที่ผ่านมา

นอกจากนี้ อาเซียนมีขึ้นเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาระหว่างประเทศเพราะความแตกต่าง แต่ช่วง 20 ปีหลังได้ขยับขึ้นมาเป็นแกนกลางอาเซียนในการดึงชาติมหาอำนาจ อาทิ สหรัฐ รัสเซีย จีน หรือผู้แทนระดับสูงอียูซึ่งถือเป็นองค์กรที่มีกลไกค่อนข้างสูง จึงต้องพัฒนาให้เป็นประชาคมอาเซียนเพื่อให้สอดคล้องกับการเมือง ความมั่นคง และวัฒนธรรม ซึ่งเป็นสามเสาหลักสำคัญ

"ในที่สุดเมื่อพิจารณาทุกสิ่งในกรอบประชาคมทุกอย่างจะต้องมาจากประชาชน บนพื้นฐานกติกาชัดเจน โดยให้ประชาคมเป็นศูนย์กลางและทุกอย่างทำเพื่อไปลงประชาชน เนื่องด้วยทุกเรื่องราวที่ไปคุยในอาเซียนหรือทวิภาคี ประชาชนได้ประโยชน์อะไร ซึ่งเชื่อว่าหลายประเทศก็คิดแบบนั้น"

ขณะที่ สุริยา จินดาวงษ์ รองอธิบดีกรมอาเซียน กล่าวว่า เจเนอเรชั่น X Y Z เป็นสิ่งสำคัญ และในปฏิญญากรุงเทพฯ ได้มองไปข้างหน้าหรือรุ่นต่างๆ ได้ประโยชน์จากอาเซียนหลังเริ่มก่อตั้ง ซึ่งเป็นวิสัยทัศน์ที่แท้จริง โดยในยุคปัจจุบันก็ได้ประโยชน์ แม้เป็นเรื่องใกล้ตัวก็ไม่มีใครรู้จักเท่าที่ควร

เป็นคำถามทายกัน ทราบหรือไม่ว่าชาติอาเซียนไหนเป็นคนแรกที่ได้รับเกียรติบินขึ้นไปยังอวกาศ คือ เวียดนาม ในปี 1979 โดยบินร่วมกับโซเวียต แม้เป็นเรื่องเล็กน้อยแต่สะท้อนความรู้จักในประเทศอาเซียน และฟุตบอลโลกประเทศไหนในอาเซียนที่ได้เข้าชิงรอบสุดท้าย คือ อินโดนีเซีย ในปี 1938 ซึ่งเป็นประเทศอาเซียนชาติเดียว

อย่างไรก็ตาม เป็นความสามารถหลากหลายในประเทศอาเซียน เพราะอาเซียนเป็นมากกว่านโยบายและมากกว่าการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เสถียรภาพความมั่นคงการเมือง แต่มันคือจิ๊กซอว์สำคัญจากประเทศสมาชิก ความหมายในมิติพลเมืองอาเซียนอย่างแท้จริง เป็นสิ่งสำคัญที่สุด และทั้งหมดจะเกิดขึ้นได้ก็ต้องมาจากทุกคนช่วยกัน

นอกจากนี้ ปัจจัยการผลิตในเรื่องของคนต้องเตรียมตัว เพราะภาษาอังกฤษเป็นภาษากลางอาเซียนซึ่งเลี่ยงไม่ได้ แต่ไม่ต้องกลัว อยากให้เตรียมพร้อมโดยเฉพาะเจน Y และ Z ที่อยากฝาก 50 ปี ไทยอาเซียนสัมพันธ์อย่างไรนั้น อาเซียนเป็นแหล่งนักท่องเที่ยวใหญ่สุดในไทย นอกจากจีนและญี่ปุ่น ถ้าอาเซียนปฏิบัติตามกรอบความตกลงได้ทั้งหมด จะเป็นเศรษฐกิจอันดับ 4 ของโลก จึงอยากชี้ให้เห็นว่าอาเซียน มีศักยภาพ

ด้าน ศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ และประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น  กล่าวถึงมุมมองและจุดยืนของไทยในอาเซียนว่า บริษัทลงทุน 20 ประเทศทั่วโลกส่วนใหญ่เป็นอาเซียน

ทั้งนี้ เศรษฐกิจและสังคมประชาคมอาเซียนมีประชากร 640 ล้านคนถือว่าใหญ่มาก การขับเคลื่อนเศรษฐกิจต้องขยับไประบบอุตสาหกรรม ทำให้ทุนขยายและกระจายไปอย่างต่อเนื่องทั้งในประเทศและต่างประเทศ แต่ในยุค 4.0 เป็นการถ่ายเทข้อมูลสูงกว่าระบบทุนนำ ข้อมูลเหล่านี้ไม่ได้เชื่อมต่อกันเอง แต่ยังเชื่อมต่ออุปกรณ์ หรือ บิ๊กดาต้า เป็นอุปกรณ์ต่อมนุษย์อย่างเต็มรูปแบบ

เศรษฐกิจอาเซียนเติบโตเฉลี่ย 5% ไทย 3% เอเชียรวม 5.7% ช่วงที่ผ่านมามีปัญหาไทยเป็นตัวดึงค่าเฉลี่ยอาเซียน ทุกวันนี้การลงทุนทั่วโลกเลือกมองว่าจะลงทุนในอาเซียนและเลือกประเทศไหนเป็นศูนย์กลาง ถ้ามองลงทุนไทยในยุค 4.0 อาทิ รถขับเคลื่อนไฟฟ้า แบตเตอรี่ พลังงานทางเลือก เทคโนโลยี ถามว่าจะลงประเทศไหนเพื่อสนับสนุนทุกภูมิภาค เพราะทุกที่มีจุดอ่อนและ จุดแข็ง ดังนั้นต้องแบ่งบทบาทและประเทศไทยก็ต้องแสดงความแข็งแกร่งออกมา

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี ระบุว่า วาระ 50 ปีอาเซียนเป็นโอกาสดีในการมองย้อนกลับไป เพื่อดูเหตุผลการก่อตั้ง เพื่อรวมกลุ่มเป้าหมายดูแลด้านความมั่นคง เนื่องจากเกรงภัยคุกคามการขยายตัวของกลุ่มคอมมิวนิสต์ และสามารถพัฒนาเศรษฐกิจ การเมือง ทำให้อาเซียนประสบความสำเร็จตามผู้ก่อตั้ง

ทั้งนี้ อาเซียนถูกตำหนิจากชาติชั้นนำว่าไม่ค่อยมีบทบาท ทว่าก็ทำสำเร็จในหลายมิติ เช่น ความมั่นคง ทุกวันนี้ไม่ได้จัดประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนอย่างเดียว แต่เป็นเวทีสำคัญเพราะสามารถดึงเอาประเทศมหาอำนาจเข้ามาร่วมประชุมเพื่อพบปะพูดคุยได้ง่ายขึ้น

ส่วนตัวอยากให้ย้อนกลับมาดูกรอบวิธีคิดอาเซียนตลอด 50 ปีจะเดินหน้าไปอย่างไร ถ้าอาเซียนต้องการแน่นแฟ้น ประชาชนในภูมิภาคต้องรู้สึกจริงจังว่าเป็นภูมิภาคอาเซียน มีส่วนร่วมในการกำหนดจุดยืนแนวทาง แต่ยังห่างไกลพอสมควร ที่สำเร็จคือทำให้คนตื่นตัวว่ามีอาเซียน