posttoday

ศาลรธน.กุมประชามติ "ได้ไปต่อ-ไร้กำหนดเลื่อน"

27 มิถุนายน 2559

บางที วันที่ 29 มิ.ย. อาจจะไม่สำคัญเท่ากับว่าท่าทีของรัฐบาลที่มีจะออกมา หลังจากเห็นคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

ศาลรัฐธรรมนูญนับเป็นหนึ่งในองค์กรที่มีอิทธิพลต่อทิศทางทางการเมืองของประเทศพอสมควร ย้อนกลับไปเมื่อสองปีที่แล้ว ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยสองกรณี ได้แก่ 1.การสิ้นสุดความเป็นนายกรัฐมนตรีของ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” และ 2.การแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ในส่วนของที่มา สว. ซึ่งทั้งหมดส่งผลให้การเมืองเกิดจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญ ก่อนที่จะเกิดการรัฐประหารในปี 2557 ตามมา

มาถึงปี พ.ศ. 2559 ศาลรัฐธรรมนูญกำลังจะเข้ามาเป็นองค์กรที่เข้ามากำหนดทิศทางการเมืองของประเทศอีกครั้ง ซึ่งครั้งนี้จะเป็นกรณีการวินิจฉัยว่าบทบัญญัติมาตรา 61 วรรคสองของ พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 ขัดกับรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 หรือไม่ โดยศาลรัฐธรรมนูญจะลงมติชี้ขาดในวันที่ 29 มิ.ย.

โดยคดีนี้ผู้ตรวจการแผ่นดินเป็นฝ่ายรับเรื่องมาจาก “จอน อึ๊งภากรณ์” ผู้อำนวยการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์) ซึ่งไอลอว์มองว่าเนื้อหาในมาตรา 61 วรรคสอง ขัดต่อการรองรับเรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 มาตรา 4 บัญญัติเอาไว้

“ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาค บรรดาที่ชนชาวไทยเคยได้รับการคุ้มครองตามประเพณีการปกครองประเทศไทย ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและตามพันธกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศไทย มีอยู่แล้ว ย่อมได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญนี้” เนื้อหาในมาตรา 4

กลุ่มไอลอว์พยายามชี้ให้เห็นว่าแม้ประเทศไทยจะไม่มีรัฐธรรมนูญฉบับถาวรที่บัญญัติรับรองสิทธิเสรีภาพ เนื่องจากรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ได้ถูกประกาศยกเลิก แต่ในเมื่อรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 มาตรา 4 ได้รับรองสิทธิเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญในอดีตเคยให้หลักประกันไว้ เท่ากับว่า สิทธิและเสรีภาพของประชาชนยังคงมีอยู่ครบถ้วนทุกประการ ย่อมไม่มีกฎหมายอื่นมาจำกัดสิทธิเสรีภาพนั้นได้

ขณะที่ คำร้องของผู้ตรวจฯ ที่ยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญระบุสาระสำคัญว่า “เนื้อหาในวรรคสองมีการบัญญัติคำว่า ‘รุนแรง ก้าวร้าว หยาบคาย’ นั้น มีความไม่ชัดเจนและคลุมเครือ นำไปสู่ความสับสนของประชาชน ไม่กล้าแสดงความคิดเห็น และอาจทำให้การปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ดำเนินการโดยดุลพินิจของตัวเอง จนทำให้กระทบสิทธิของประชาชนที่อาจนำไปสู่ความเสียหาย  จึงเห็นควรส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย เฉพาะมาตรา 61 วรรคสอง”

ทั้งนี้ มาตรา 61 วรรคสองบัญญัติว่า “ผู้ใดดําเนินการเผยแพร่ข้อความ ภาพ เสียง ในสื่อหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ สื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือในช่องทางอื่นใด ที่ผิดไปจากข้อเท็จจริงหรือมีลักษณะรุนแรง ก้าวร้าว หยาบคาย ปลุกระดม หรือข่มขู่ โดยมุ่งหวังเพื่อให้ผู้มีสิทธิออกเสียงไม่ไปใช้สิทธิออกเสียง หรือออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือไม่ออกเสียง ให้ถือว่าผู้นั้นกระทําการก่อความวุ่นวายเพื่อให้การออกเสียงไม่เป็นไปด้วยความเรียบร้อย”

ปฏิเสธไม่ได้ว่าการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญจะได้รับผลกระทบมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในวันที่ 29 มิ.ย.

ถ้าศาลรัฐธรรมนูญยกคำร้อง เท่ากับว่า มาตรา 61 วรรคสองและกระบวนการจัดทำประชามติจะยังคงอยู่ต่อไปเพื่อให้การออกเสียงในวันที่ 7 ส.ค.เป็นไปด้วยความเรียบร้อย

แต่หากไม่เป็นเช่นนั้นผลกระทบย่อมเกิดขึ้นพอสมควร ขึ้นอยู่ว่ารัฐบาลจะผ่อนหนักให้เป็นเบาอย่างไร

1.ในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติฯ ตกไปทั้งฉบับ สมมติฐานที่จะเป็นไปได้ก็ต่อเมื่อศาลเห็นว่ามาตรา 61 วรรคสอง เป็นหลักการและสาระสำคัญของ พ.ร.บ.ดังกล่าว สถานการณ์เช่นนี้การทำประชามติในวันที่ 7 ส.ค.ต้องเลื่อนออกไปโดยปริยาย แต่จะเป็นเมื่อไหร่นั้นอยู่ที่ความรวดเร็วของรัฐบาลในการเสนอร่างกฎหมายฉบับใหม่ให้สภา ตามกระบวนการทั่วไปการเสนอพิจารณากฎหมายในสภาจะเวลาอย่างน้อย 3 เดือน

2.เฉพาะเนื้อหาในมาตรา 61 วรรคสองเท่านั้นที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ เท่ากับว่า พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติฯ ยังมีผลบังคับใช้ต่อไป เพียงแต่บทบัญญัติมาตรา 61 วรรคสองจะถูกตัดออกไปด้วยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ทีนี้ต้องมาดูว่ารัฐบาลจะตัดสินอย่างไร

ถ้ารัฐบาลเห็นว่ามาตรา 61 (1) ที่ว่าด้วยการห้ามก่อความวุ่นวายเพื่อให้การออกเสียงไม่เป็นไปด้วยความเรียบร้อย เพียงพอต่อการจัดการประชามติ ก็ไม่จำเป็นต้องร่างกฎหมายเพื่อเติมเนื้อหาคล้ายมาตรา 61 วรรคสองแบบที่ไม่สวนทางกับศาลรัฐธรรมนูญเข้า สนช.

ตรงกันข้าม ถ้ารัฐบาลเห็นว่าสมควรเสนอร่างกฎหมายเพื่อเพิ่มเนื้อหาเข้า สนช. อาจมีผลให้วันลงประชามติต้องเลื่อนออกไปมาก เพราะการเสนอร่างกฎหมายที่มีจำนวนมาตราไม่มากนั้น สนช.สามารถให้การรับรองได้ภายในวันเดียวที่อยู่ในระเบียบวาระการประชุม สนช.

อย่างไรก็ตาม ในกรณีเฉพาะมาตรา 61 วรรคสองขัดกับรัฐธรรมนูญ มีความเป็นไปได้สูงที่รัฐบาลจะไม่ดำเนินการเสนอกฎหมายเข้า สนช. โดยมองว่าแค่มาตรา 61 (1) มาตราเดียวก็ครอบคลุมแล้ว

ดังนั้น บางที วันที่ 29 มิ.ย. อาจจะไม่สำคัญเท่ากับว่าท่าทีของรัฐบาลที่มีจะออกมา หลังจากเห็นคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ