posttoday

ไทย-กัมพูชาลั่นกลองประจันหน้า การค้ารอเวลาเป็นอัมพาต

30 กรกฎาคม 2553

กรณีพิพาทปราสาทพระวิหารได้ปะทุขึ้นอีกครั้ง ด้วยแนวโน้มที่อาจรุนแรงไม่แพ้กับความขัดแย้งระหว่างไทยกับกัมพูชาเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งยังผลให้ทั้งสองฝ่ายต้องลดระดับทางการทูตและเผชิญหน้าด้วยอาวุธตามแนวชายแดน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริเวณชายแดนใกล้กับปราสาทพระวิหารอันเป็นศูนย์กลางแห่งข้อพิพาท

กรณีพิพาทปราสาทพระวิหารได้ปะทุขึ้นอีกครั้ง ด้วยแนวโน้มที่อาจรุนแรงไม่แพ้กับความขัดแย้งระหว่างไทยกับกัมพูชาเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งยังผลให้ทั้งสองฝ่ายต้องลดระดับทางการทูตและเผชิญหน้าด้วยอาวุธตามแนวชายแดน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริเวณชายแดนใกล้กับปราสาทพระวิหารอันเป็นศูนย์กลางแห่งข้อพิพาท

โดย...ทีมข่าวต่างประเทศ


ไทย-กัมพูชาลั่นกลองประจันหน้า การค้ารอเวลาเป็นอัมพาต

การเผชิญหน้าเมื่อปีที่แล้วนั้น ผลกระทบด้านการเมืองนั้นเห็นได้อย่างชัดเจน ที่เห็นได้ชัดที่สุดคือ การปะทะคารมระหว่างรัฐบาลทั้งสองฝ่าย โดยที่ฝ่ายฮุนเซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา มักแสดงท่าทียั่วโทสะฝ่ายไทยอยู่เสมอมา ยังผลให้การเผชิญหน้ายิ่งระอุเดือดมากขึ้น

ในเวลาต่อมา ไทยและกัมพูชาสามารถคลายปมเงื่อนความขัดแย้งในระดับหนึ่ง แต่ความขัดแย้งยังไม่จบสิ้น และรอเวลาที่จะระเบิดขึ้นอีกครั้ง ดังที่มีเค้าลางอยู่ในขณะนี้

ในด้านการเมืองมีโอกาสที่จะร้อนฉ่า และอาจถึงขั้นเลือดตกยางออกเหมือนที่แล้วๆ มา ส่วนผลกระทบด้านเศรษฐกิจมีโอกาสที่จะตกอยู่ในภาวะเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของผลกระทบด้านเศรษฐกิจ ซึ่งส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับการค้าระดับทวิภาคี จำเป็นต้องพิจารณา 2 ระดับ เนื่องจากที่ผ่านมานั้น แม้ไทยกับกัมพูชาจะเขม่นกันในประเด็นปราสาทพระวิหารและอีกสารพัดปัญหาจนแทบทำให้ความสัมพันธ์เกือบหยุดชะงัก แต่ปรากฏว่าการค้ากลับมีความเคลื่อนไหวที่ตรงกันข้าม

ในปี 2551 ซึ่งเป็นปีที่ความขัดแย้งพุ่งทะลุปรอทเป็นครั้งแรก และเป็นปีที่ยูเนสโกประกาศขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก ปรากฏว่า มูลค่าการค้าขายโดยรวมคึกคักอย่างมาก โดยสูงถึง 2,130.3 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยเฉพาะการค้าตามแนวชายแดน ซึ่งเป็นมาตรวัดที่ดีที่สุด ปรับเพิ่มขึ้นถึง 36.1% เมื่อเทียบกับปี 2550

อย่างไรก็ตาม สาเหตุที่การค้าระหว่างไทยกับกัมพูชายังคึกคัก เนื่องจากความขัดแย้งในประเด็นปราสาทพระวิหารในปี 2551 วนเวียนอยู่ที่การต่อต้านรัฐบาลของสมัคร สุนทรเวช มากกว่าการต่อต้านรัฐบาลกัมพูชา หรือเป็นความขัดแย้งที่กระจุกตัวอยู่ในไทยเป็นหลัก

แต่เมื่อเข้าสู่ปี 2552 สถานการณ์เปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง

ในด้านการเมืองและสถานการณ์ทั่วไป การเผชิญหน้าในประเด็นปราสาทพระวิหารกระฉอกออกจากไทยไปกระทบกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอย่างเต็มตัว ไม่ว่าจะเป็นเหตุปะทะระหว่างทหารไทยกับกัมพูชาในพื้นที่ขัดแย้ง รวมถึงการปะทะอย่างซึ่งๆ หน้าระหว่างรัฐบาลทั้งสองประเทศ จนนำไปสู่การยกเลิกบันทึกความเข้าใจ (MOU) ระหว่างไทยกับกัมพูชา ว่าด้วยพื้นที่ที่ไทยและกัมพูชาที่ลงนามในสมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร

ไม่เพียงเท่านั้น ไทยและกัมพูชายังลดระดับความสัมพันธ์ทางการทูต หลังจากที่ฮุนเซนแต่งตั้งให้ พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจ การตอบโต้อย่างรุนแรงยังขยายวงอย่างรวดเร็ว จนถึงขั้นที่ฮุนเซนท้าทายให้ไทยปิดด่าน ห้ามการค้าขายระหว่างทั้งสองประเทศ

ผลที่ตามมาก็คือ การค้าระหว่างสองประเทศตกต่ำอย่างรุนแรง โดยลดลงถึง 22.16% ที่มูลค่า 1,658.3 ล้านเหรียญสหรัฐ ในส่วนของการค้าตามแนวชายแดนทิ้งตัวลง 9.81% ที่มูลค่า 4.53 ล้านบาท
แต่แล้วเมื่อสถานการณ์การเผชิญหน้าคลี่คลายลงอีกครั้งเมื่อเข้าสู่ช่วงต้นปีนี้ การค้าระหว่างไทยกัมพูชากลับมาคึกคักเช่นเดิม โดยในช่วง 5 เดือนแรก มีมูลค่ารวม 425 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือขยายตัวถึง 51.43% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว

จะเห็นได้ว่าความเคลื่อนไหวด้านเศรษฐกิจและการค้าระหว่างสองประเทศจะขึ้นและลงไปตามอุณหภูมิการเมือง และมีแนวโน้มที่จะกลับสู่สภาวะเดิม หรือกลับมาดีกว่าเดิมได้อย่างรวดเร็ว

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าสิ่งใดๆ ก็ย่อมมีข้อยกเว้น

ที่ผ่านมา ความขัดแย้งระหว่างไทยกัมพูชา จำกัดวงอยู่เฉพาะระดับรัฐบาลเท่านั้น ในภาคประชาชน ซึ่งเป็นพลวัตหลักของการค้าขาย มักไม่นำประเด็นนี้มาเป็นอุปสรรคในการดำเนินธุรกิจ หรืออาจกล่าวได้ว่า ประชาชนกัมพูชาส่วนใหญ่ไม่ใส่ใจเท่าใดนักกับท่าทีของไทยต่อการทวงคืนประสาทพระวิหาร

แต่วันนี้เริ่มมีความเปลี่ยนแปลงในภาคประชาชนบ้างแล้ว

หลังจากที่มีกลุ่มนักเคลื่อนไหวในกัมพูชาเป็นตัวตั้งตัวตีจัดตั้ง และเรียกร้องให้ประชาชนกัมพูชาโดยทั่วไปเข้าร่วม “วันแห่งความโกรธแค้นประเทศไทย” ซึ่งทำให้ความขัดแย้งปะทุขึ้นมาอีกครั้ง ปรากฏว่าท่าทีเช่นนี้เริ่มกระทบอย่างเห็นได้ชัดต่อการค้าที่เริ่มดีขึ้น ดังจะเห็นได้จากการค้าตามแนวชายแดนในวันที่มีกำหนดการจัดงานซบเซาลงในทันทีในหลายพื้นที่  โดยเฉพาะบริเวณปราสาทพระวิหาร อันเป็นสถานที่ที่เป็นหัวใจของความขัดแย้ง

สาเหตุมาจากชาวกัมพูชาไม่กล้าเข้ามาค้าขายในไทย เพราะกลัวจะตกเป็นเป้าของความแค้นเสียเอง ส่วนคนไทยก็ไม่กล้าเข้ามาซื้อขายในเขตกัมพูชาด้วยเหตุผลคล้ายคลึงกัน

หากความบาดหมางลงลึกจนถึงระดับพื้นฐานเช่นนี้ คงยากที่ความเคลื่อนไหวด้านการค้าจะลงเร็วขึ้นเร็วเหมือนดังที่เป็นมา

เมื่อบวกเข้ากับการเผชิญหน้ากลางเวทีประชุมยูเนสโก และการเผชิญหน้าในระดับที่ร้อนแรงและดุเดือดยิ่งกว่าภายหลังที่ประชุมมีมติใดๆ ออกมาแล้ว ผลลัพธ์ต่อภาคการค้าที่จะติดตามมาอาจไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

ในระดับเป็นทางการมีโอกาสที่มูลค่าทางการค้าจะดิ่งฮวบลงอีก หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งสั่งปิดด่านหรือมีการกระทำใดก็ตามที่เป็นภัยคุกคามต่อการค้าตามแนวชายแดน ไม่ว่าจะเป็นการปะทะด้วยอาวุธ หรือการตอบโต้ทางการทูตในระดับที่เลวร้ายยิ่งกว่าการเรียกทูตกลับเมื่อปี 2552

แต่การค้าระดับนี้ มีเงื่อนไขที่จะต้องกังวลอีกอย่างหนึ่ง

หากไทยยังทะเลาะกับกัมพูชาไม่หยุดหย่อน จะยังผลให้ฐานะของไทยในฐานะประเทศคู่ค้าอันดับต้นๆ ของกัมพูชายิ่งถดถอยไปเรื่อยๆ จากเมื่อปีที่แล้วไทยเพิ่งสูญเสียอันดับ 3 ให้กับจีน และอาจเสียฐานะผู้ลงทุนรายใหญ่เป็นอันดับ 2 ให้กับชาติอื่นที่กำลังมาแรงในกัมพูชา อย่าง เกาหลีใต้ หรือไต้หวัน

บางคนอาจไม่ยี่หระกับการสูญเสียตลาดอย่างกัมพูชา โดยมองว่าเป็นเพียงประเทศเล็กๆ อีกทั้งมูลค่าการค้ายังไม่มากมายนักเมื่อเทียบกับการค้าขายระหว่างไทยกับประเทศอื่นๆ

กระนั้นการค้าระหว่างไทยกับกัมพูชามีมูลค่าซ่อนเร้นที่ไม่ได้มีการสำรวจเป็นมูลค่ามหาศาล

กรมการค้าต่างประเทศ ระบุว่า แท้จริงแล้วกัมพูชาเป็นตลาดที่ช่วยรองรับสินค้าเกษตรที่กำลังจะล้นตลาดในไทย อีกทั้งยังรองรับสินค้าอุตสาหกรรมที่ตกเกรด ทำให้สินค้าสามารถระบายออกสู่ตลาดได้ ช่วยแก้ปัญหาราคาตกต่ำ ซึ่งจะยังผลให้รัฐบาลไทยต้องใช้งบประมาณหลายพันล้านบาทเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว

ด้วยเหตุนี้หากการเผชิญหน้าจนถึงขั้นปิดชายแดนจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงอย่างที่ประเมินไม่ได้ต่อภาคการผลิตของไทยที่ “พึ่งพา” ตลาดกัมพูชาอยู่เสมอมา ยังไม่นับผู้ค้ารายย่อยที่ได้รับผลกระทบก่อนใคอื่น

ผลลัพธ์ไม่พึงประสงค์อีกประการคือ เม็ดเงินที่หมุนเวียนในธุรกิจกาสิโนและการท่องเที่ยวมูลค่ามหาศาลจะเหือดหายไปในทันที ซึ่งในส่วนนี้ย่อมกระทบอย่างรุนแรงต่อเอเยนต์ธุรกิจท่องเที่ยวของไทย รวมถึงธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการขนส่ง ดังจะเห็นได้จากยอดจองทัวร์ไปยังกัมพูชาเมื่อปีที่แล้วดิ่งวูบลงในช่วงความขัดแย้งถึงขีดสุด

คำถามก็คือหากธุรกิจกาสิโนและการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบ กัมพูชาจะยอมอ่อนข้อให้ไทยหรือไม่ เนื่องจากเห็นว่าไทยเป็นลูกค้ารายหลักที่นำเงินมหาศาลเข้ากัมพูชาจากธุรกิจทั้งสองด้าน

โชคร้ายที่กัมพูชามีแผนสำรองในเรื่องนี้เอาไว้แล้ว

ล่าสุดสำนักข่าวรอยเตอร์ส รายงานว่า ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของเกาหลีใต้จะเปิดตัวกาสิโนขนาดยักษ์มูลค่า 400 ล้านเหรียญสหรัฐในเมืองเสียมเรียบ เพื่อหวังดึงนักท่องเที่ยวจีนโดยเฉพาะ เพราะเป็นกลุ่มใหญ่ที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวและทำธุรกิจยังกัมพูชามากขึ้นทุกขณะ

จะเห็นได้ว่าวันนี้กัมพูชามีทั้งเกาหลีและจีนคอยประคับประคองการลงทุนและการค้า

เมื่อเป็นเช่นนี้ การค้ากับไทยจึงมีแนวโน้มที่น่ากังวลอย่างมาก และมีโอกาสสูงที่รัฐบาลกัมพูชาจะปิดด่านหากคิดที่จะยั่วโทสะของไทย หรือไทยเป็นฝ่ายปิดเพราะความแค้นเคือง หรือทั้งสองประเทศเกิดควาบาดหมางรุนแรงทางการทูต

หรือในกรณีที่เสียงปืนเกิดลั่น และตามมาด้วยการนองเลือดตามแนวชายแดนขึ้นอีกครั้ง