posttoday

แก้ รธน.ชั่วคราว ปลดล็อกระเบิดการเมือง

09 กุมภาพันธ์ 2559

ในช่วงสัปดาห์นี้การเมือง ถนนทุกสายกำลังมุ่งหน้าไปที่ทำเนียบรัฐบาล หลังจาก “วิษณุ เครืองาม” รองนายกรัฐมนตรี

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

ในช่วงสัปดาห์นี้การเมือง ถนนทุกสายกำลังมุ่งหน้าไปที่ทำเนียบรัฐบาล หลังจาก “วิษณุ เครืองาม” รองนายกรัฐมนตรี เตรียมนัดหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหารือถึงการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญในวันที่ 10 ก.พ.นี้ แม้วาระการประชุมในวันดังกล่าวจะเน้นเรื่องถามหน่วยงานต่างๆ ถึงความพร้อมในการทำประชามติ แต่มีอีกประเด็นหนึ่งที่จะทำให้เกิดความชัดเจนไปในคราวเดียวกัน คือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557

ก่อนหน้านี้มีความเคลื่อนไหวเป็นระยะ ดังจะเห็นได้จากการที่ “พรเพชร วิชิตชลชัย” ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ออกมายอมรับได้หารือกับรองนายกฯ วิษณุ ถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

“ได้ประสานกับรองนายกฯ ในเรื่องการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่ยังมีผู้ที่ตีความหมายต่างในประเด็นเกณฑ์ที่ร่างรัฐธรรมนูญจะผ่านประชามติต้องใช้เสียงข้างมากของผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติ โดยมีความเป็นไปได้ว่าจะมีการแก้ไขถ้อยคำให้ความหมายชัดเจนว่าเป็นเสียงข้างมากของผู้ใช้สิทธิ เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ใดนำไปสู่การฟ้องร้องในชั้นศาล” ส่วนหนึ่งของการแถลงข่าวของประธาน สนช. เมื่อ
วันที่ 5 ก.พ.ที่ผ่านมา

ถัดมาอีกไม่กี่วัน รองนายกฯ วิษณุ ยืนยันได้คุยกับประธาน สนช.จริง เพียงแต่ยังไม่ระบุกำหนดการที่เสนอญัตติขอแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 อย่างเป็นทางการ

มาในสัปดาห์นี้จึงมีความเป็นไปได้ที่รัฐบาลจะแสดงความชัดเจนเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญออกมา ภายใต้เหตุผลสำคัญ คือ การสร้างความเชื่อมั่น

ต้องไม่ลืมว่าที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ประกาศต่อสาธารณะหลายครั้งว่าประเทศไทยจะมีการเลือกตั้งในปี 2560 ซึ่งเป็นสิ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์ ย้ำหนักแน่นมาตลอด ถึงขนาดที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ต้องหาทางแก้ไขบทเฉพาะกาลในร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรกเพื่อให้การเลือกตั้งเกิดขึ้นกลางปี 2560

“ทุกอย่างให้เป็นไปตามโรดแมปของรัฐบาลที่วางไว้ คือต้องมีการเลือกตั้งภายในเดือน ก.ค. 2560 ทั้งนี้จะมีรัฐบาลเมื่อไหร่นั้น ต้องขึ้นอยู่กับขั้นตอนที่เกี่ยวข้องต่างๆ ว่าใช้เวลาดำเนินการเท่าไหร่”พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวเมื่อวันที่ 2 ก.พ.

ดังนั้น หากประเทศไม่มีการเลือกตั้งขึ้นในปี 2560 ไม่ว่าจะเป็นกลางปีหรือปลายปี 2560 แน่นอนว่าผลกระทบต่อประเทศในภาพรวมน่าจะมีมากพอสมควรอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ จึงเป็นที่มาของความจำเป็นที่ต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 เพื่อให้ประชาชนและสังคมโลกเห็นว่าประเทศไทยจะมีเข็มทิศทางในการเดินหน้าสู่การเลือกตั้งอย่างไร ภายใต้สมมติฐานทั้งกรณีที่ร่างรัฐธรรมนูญผ่านและไม่ผ่านประชามติ

อย่างไรก็ตาม ถ้ามองแนวโน้มของการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 โดย คสช.แล้วนั้น มีแนวโน้มพอสมควรที่จะลงมือเป็นสองระยะ

ระยะแรก ดำเนินการก่อนการออกเสียงประชามติ ซึ่งแก้ไข 2 ประเด็นสำคัญ ได้แก่ 1.เกณฑ์การออกเสียงประชามติ เดิมทีในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 มาตรา 37 วรรค 7 บัญญัติว่า “ถ้าผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติโดยเสียงข้างมากเห็นชอบด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ ให้นายกรัฐมนตรีนำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายภายในสามสิบวัน...”

ข้อความดังกล่าวทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ว่าอาจทำให้ร่างรัฐธรรมนูญผ่านประชามติได้ยากในทางปฏิบัติ และก่อให้เกิดปัญหาในการตีความด้วยว่า สมมติถ้ามีผู้มาใช้สิทธิ 24 ล้านคน จากผู้มีสิทธิทั้งหมดจำนวน 40 ล้านคน แต่มีผู้เห็นชอบ 13 ล้านคน แบบนี้จะถือว่าร่างรัฐธรรมนูญผ่านการทำประชามติหรือไม่ ด้วยเหตุนี้เองจึงเป็นไปได้สูงที่รัฐบาลจะต้องแก้ไขให้ชัด

2.กรอบการแสดงความคิดเห็น แม้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันจะให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ไปออกประกาศหลักเกณฑ์ วิธีการ และระยะเวลาในการออกเสียงประชามติ ซึ่งหนึ่งในนั้นรวมถึงการกำหนดกติกาสำหรับการแสดงความคิดเห็นของประชาชน แต่เมื่อปัจจุบันยังมีกฎเหล็กของ คสช.ที่มีสถานะเทียบเท่ากับกฎหมายที่ห้ามเคลื่อนไหวทางการเมืองอยู่ ย่อมเป็นอุปสรรคต่อการแสดงความคิดเห็นของประชาชนทั้งในฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ ทำให้เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่รัฐบาลกำลังหาวิธีผ่อนปรนผ่านการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน เพื่อเป็นหลักประกันให้กับประชาชน

ระยะสอง อาจจะเป็นการดำเนินการหลังจากวันออกเสียงประชามติ เพื่อกำหนดว่าถ้าร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติจะต้องทำอย่างไรต่อไป อย่างไรก็ตาม ถ้าร่างรัฐธรรมนูญผ่านความเห็นชอบ ก็ไม่จำเป็นต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันอีก เพราะสามารถเดินหน้าให้ร่างรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้

ทว่า หากเกิดกรณีที่ร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติขึ้นมา จะเป็นความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้ประเทศมีทางออก เช่น ตั้ง กรธ.ชุดใหม่ ให้มีเวลาทำงานสั้นลงเพื่อให้ทันกับการเลือกตั้งปี 2560 และเมื่อดำเนินการเสร็จแล้วให้ประกาศบังคับใช้ได้ทันที โดยไม่ทำประชามติ หรือใช้อำนาจตามมาตรา 44 ดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งทันที เป็นต้น

อาจเรียกได้ว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 ในครั้งนี้ไม่ต่างอะไรกับการปลดล็อกระเบิดการเมืองของ คสช.