posttoday

ปัจจัยเสี่ยง"มาร์ค"

06 มิถุนายน 2553

สัมภาษณ์พิเศษ "สมบัติ ธำรงธัญวงศ์" อธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ที่วิเคราะห์สถานการณ์ของรัฐบาลอภิสิทธิ์ที่หลังจากแนวโน้มจะอยู่รอดปลอดภัยถึงสิ้นปี แต่จากนั้นอะไรจะเกิดขึ้น!!!

สัมภาษณ์พิเศษ "สมบัติ ธำรงธัญวงศ์" อธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ที่วิเคราะห์สถานการณ์ของรัฐบาลอภิสิทธิ์ที่หลังจากแนวโน้มจะอยู่รอดปลอดภัยถึงสิ้นปี แต่จากนั้นอะไรจะเกิดขึ้น!!!

 โดย...ทีมข่าวการเมือง

หลังผ่านศึก “พฤษภามหาโหด” แบบใจหายใจคว่ำ รัฐบาลอภิสิทธิ์ก็ต้องมาเจอกับมรสุมในรัฐบาลผสมกับความขัดแย้งระหว่างภูมิใจไทยกับเพื่อแผ่นดิน บนเหตุ “ไม่ไว้วางใจ-แทงข้างหลัง” จนที่สุด “ก๊กเพื่อแผ่นดิน” เป็นฝ่ายพ่ายพ้น ครม.

1 ปี 5 เดือนของ “รัฐนาวาอภิสิทธิ์” เหมือนเรือผุปะทะคลื่นมรสุมแรงตลอด หนทางจากนี้ใช่ว่าจะสงบ ทุกอย่างแค่พักรบ เมื่อ “ปัจจัยหลัก-ปัจจัยแทรก” รอท้าทายอยู่เบื้องหน้ามากมาย

สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) วิเคราะห์ว่า สถานการณ์ของรัฐบาลน่าจะอยู่รอดปลอดภัยถึงสิ้นปี แต่จากนั้นอะไรก็เกิดขึ้นได้!!

 

ปัจจัยเสี่ยง"มาร์ค" สมบัติ

“ความจริงมีปัจจัยต่างๆ ที่กระทบต่อเสถียรภาพมาก ทั้งภายนอกและภายในตัวรัฐบาล แต่เชื่อว่าพรรคประชาธิปัตย์จะคลี่คลายสถานการณ์ได้ อย่างการปรับกลุ่มในพรรคเพื่อแผ่นดินออก ก็ยังมีกลุ่มการเมืองที่ต้องการร่วมรัฐบาลอยู่ ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องการต่อรองผลประโยชน์เท่านั้น เมื่อการต่อรองผลประโยชน์ลงตัว รัฐบาลก็ยังสามารถคุมเสียงข้างมากของรัฐสภาไว้ได้ และในช่วง 3 เดือนข้างหน้าจะไม่มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ภารกิจหลักของรัฐบาลคือการจัดทำร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ 2554 ซึ่งเชื่อว่าจะผ่านไปด้วยความเรียบร้อย”

สมบัติ บอกว่า ทุกรัฐบาลก็อยากอยู่ยาว สำหรับรัฐบาลนี้ต้องการให้มีผลงานรูปธรรมชัดเจน โดยเฉพาะนโยบายประกันรายได้เกษตรกร ทั้งการประกันราคาข้าว มันสำปะหลัง ข้าวโพด ที่ผลประโยชน์จะตกถึงมือเกษตรกรเต็มที่ อีกเรื่องการแก้ปัญหาหนี้สินของเกษตรกร ถ้านโยบายเหล่านี้ออกดอกออกผล ก็จะทำให้รัฐบาลได้รับความนิยมมากขึ้น มีผลต่อการเลือกตั้งในอนาคต

ทว่า “ปัจจัยแทรก” ที่เป็นความเสี่ยงสูงสุดของพรรคประชาธิปัตย์ คือ คดียุบพรรคที่คาอยู่ในชั้นศาลรัฐธรรมนูญ ถ้าการยุบพรรคส่งผลกระทบต่อการตัดสิทธิทางการเมืองของนายกฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ประเด็นนี้ก็จะกระทบแน่ แต่ถ้าเป็นการยุบพรรคที่ไม่กระทบต่อการตัดสิทธิของนายกฯ อภิสิทธิ์ ก็สามารถแก้ไขได้ง่าย แค่เปลี่ยนชื่อพรรคเท่านั้น

ปัจจัยอื่นที่เป็นความเสี่ยง ในทัศนะของสมบัติ คือ การคุกคามของคนเสื้อแดง เพราะเป้าหมายของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ยังไม่บรรลุ และ พ.ต.ท.ทักษิณ ก็ยังมีศักยภาพสูงในการใช้เครือข่ายกดดันให้ยุบสภา แต่ถ้าหน่วยงานของรัฐดำเนินการเรื่องผู้กระทำผิดคดี “ก่อการร้าย” อย่างรวดเร็ว เอาเรื่องขึ้นสู่ศาลและลงโทษแกนนำที่ทำผิด ก็จะลดศักยภาพของแกนนำกลุ่มเสื้อแดงลง กระนั้นก็อาจมีการสร้างแกนนำรุ่น 2-3 มาชดเชยต่อ

โอกาสจะกลับมาชุมนุมใหญ่กดดันรัฐบาลต่อขึ้นอยู่กับอะไร? ...

สมบัติ วิเคราะห์ว่า ในช่วง 5-6 เดือนจากนี้คงไม่รุนแรงมากกว่าที่เกิดขึ้นในเหตุการณ์ “19 พฤษภา” เพราะกลุ่มเสื้อแดงเพลี่ยงพล้ำไปมาก คนกลางๆ อาจเห็นว่าการกระทำของกลุ่มเสื้อแดงที่ทำเพื่อประโยชน์ส่วนตนได้ก่อให้เกิดผลกระทบต่อประเทศชาติและประชาชนมาก ฉะนั้น การขับเคลื่อนด้วยยุทธวิธีเก่าไม่ได้ผลแล้ว กลุ่มเสื้อแดงอาจต้องระดมความคิดแล้วแสวงหายุทธวิธีใหม่ที่จะกดดันรัฐบาล ซึ่งต้องใช้เวลาพอควร

ผลพวงจาก “พฤษภามหาพินาศ” ที่ซีกเพื่อไทยต้องปลุกเรื่องผู้เสียชีวิตมาขยายผลต่อ ทัศนะของสมบัติ เห็นว่า เรื่องนี้อาจแค่รังควานให้รัฐบาลอยู่ไม่สุข แต่ถึงขั้นโค่นล้มรัฐบาลคงทำได้ยาก

“ข้อมูลข่าวสารที่เกิดขึ้นจากเหตุการณ์ 19 พฤษภา มันมีมากมาย คนเห็นว่ามีกลุ่มชุดดำที่เป็นกองกำลังใช้ความรุนแรง และเป็นความจำเป็นที่รัฐบาลต้องเข้าไปสกัดกั้นจริงๆ เมื่อรัฐบาลใช้กองกำลังเข้าไปต่อสู้ก็ต้องมีความสูญเสียเกิดขึ้น คนทั่วไปก็ต้องยอมรับเพราะมันเป็นสภาพปกติ จะไปต่อสู้กับกลุ่มที่ใช้อาวุธแล้วไม่มีการสูญเสีย มันเป็นไปไม่ได้ และประชาชนก็รับรู้แล้วว่า แกนนำเสื้อแดงประกาศสู้ด้วยทฤษฎีแก้ว 3 ประการชัดเจน 1.ต้องมีพรรคการเมืองสนับสนุนในสภา 2.มีมวลชนเสื้อแดง 3.มีกองกำลังติดอาวุธ โดยมีชุดดำเป็นแนวร่วม ฉะนั้นการจะฟื้นฝอยโดยนำเรื่องผู้เสียชีวิตมากล่าวอ้างก็คงมีผลกระทบกับรัฐบาลบ้าง แต่คงไม่รุนแรงถึงกับทำให้รัฐบาลต้องยุบสภา

แต่นักเคลื่อนไหวอีกกลุ่มจะเรียกร้องให้รัฐบาลรับผิดชอบทางการเมืองต่อ 88 ศพ จะกระทบต่อนายกฯ อภิสิทธิ์แค่ไหน ... “คงมีผลน้อยเพราะถ้าเป็นประเด็น หรือเป็นจุดอ่อน สมัยรัฐบาลทักษิณกรณี “ตากใบ” ตาย 70 กว่าศพ เอาคนขึ้นมาโยนแล้วทับกันตายแล้ว ซึ่งคนก็รับไม่ได้ แต่คุณทักษิณยังรอด ยิ่งคราวนี้บริบทมันก็ต่างกันชัด”

“คนที่คิดว่ามีคนตายแล้วคุณต้องลาออก ก็คือ พวกที่สนับสนุนกลุ่มคนเสื้อแดงที่ใช้วลีนี้มาพูด ผมเห็นว่ารัฐบาลใช้อำนาจที่ชอบธรรมเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย ไม่ให้บ้านเมืองกลียุค ถูกเผาบ้านเผาเมือง และการต่อสู้ของ นปช.ก็ไม่เป็นไปตามแนวทางประชาธิปไตยที่ต้องชุมนุมอย่างสงบ สันติ และเรียกร้องเพื่อประโยชน์ประชาชน และต้องไม่ทำให้ประชาชนเดือดร้อน ประเทศชาติเสียหาย แต่กลุ่ม นปช.ทำตรงกันข้ามหมด

“ใครที่บอกเป็นนักประชาธิปไตยถามหน่อย ประเทศประชาธิปไตยที่ไหนเขายอมให้ผู้ชุมนุมมาทำผิดกฎหมาย แล้วก็มาใช้อำนาจทำให้คนบริสุทธิ์เดือดร้อน โดยเฉพาะการระดมผู้บริสุทธิ์ เอาเด็ก คนแก่ มาเป็นโล่มนุษย์ ยังใช้ปัจจัยเงินมาชุมนุมกดดันรัฐบาลไม่มีประเทศประชาธิปไตยที่ไหนในโลกเขายอมให้ทำอย่างนี้ ต่อให้อเมริกา อังกฤษ ที่เป็นต้นแบบประชาธิปไตยก็ไม่ยอม นอกจากประเทศไทยที่อ้างกันอยู่ได้อย่างนี้”

อีกปัจจัยที่เป็นตัวแปรสำคัญต่อการอยู่การไปของรัฐบาล คือ การแก้ปัญหาเศรษฐกิจ และปัญหาคอร์รัปชัน ที่หลายรัฐบาลตกม้าตายก่อนวัยอันควร อธิการบดีนิด้าสังเคราะห์ว่า ถ้าดูจากผลโพล ประชาชนพอใจรัฐบาลในการแก้ปัญหาปากท้องมากที่สุด ล่าสุดนิด้าได้ทำโพลพบว่า 50% พอใจมากในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ขณะที่ปัญหาการคอร์รัปชันตรงกันข้ามคนพอใจน้อย

“เรื่องคอร์รัปชันเป็นปัญหาที่ฝังแน่นการเมืองไทย ยากที่กำจัดโดยเร็ว ปัญหานี้จะยังมีอยู่ต่อเนื่อง เพียงแต่ว่าถ้าเกิดการทุจริตแล้วนายกฯ อภิสิทธิ์ ไม่เข้าไปแก้ไข แต่ถ้ามีการคอร์รัปชัน และปรับรัฐมนตรีออก เอาผิดตามกฎหมาย ถ้าทำอย่างนี้ชัดเจน แม้มีเรื่องทุจริต รัฐบาลก็ยังอยู่ได้ เพราะไม่ถือว่าเป็นการทุจริตของนายกฯ และจุดยืนของนายกฯ อภิสิทธิ์ ก็มีความได้เปรียบนายกฯ บางคน เพราะไม่มีเรื่องธุรกิจการเมือง และประชาชนค่อนข้างเชื่อมั่นว่า นายกฯ อภิสิทธิ์ เป็นมิสเตอร์คลีน ดังนั้น ถ้าตัวเองไม่กระทำการทุจริต และไม่ปกป้องคนทำทุจริตใน ครม. ก็จะทำให้ตัวเองอยู่รอดได้”

สมบัติ ยังวิเคราะห์ถึง “จุดแข็ง” ที่ทำให้รัฐบาลอภิสิทธิ์ดำรงอยู่ได้ถึงวันนี้ คือ ความสำเร็จในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยช่วงแรกที่รัฐบาลเข้าทำงาน เศรษฐกิจติดลบ 7% กระทั่งมาไตรมาสแรกของปีนี้ทำได้บวก 12% การส่งออกและการท่องเที่ยวเพิ่มถึง 30% ถ้าไม่มาเจอเหตุการณ์ “พฤษภา 53” ก่อน เชื่อว่าเศรษฐกิจของประเทศอาจพุ่งถึง 8%

“อย่างคุณทักษิณเป็นนายกฯ ที่ได้รับยกย่องว่าเก่งกาจสามารถ ในช่วง 5 ปีก็ยังไม่เคยมีช่วงไหนเลยที่สามารถทำให้จีดีพีโตได้ถึง 12%”

อะไรคือ “จุดอ่อน” รัฐบาล? ...

สมบัติบอกมี2 ข้อ

ประการแรกจุดอ่อนภายในเนื่องจากการเป็นรัฐบาลผสม ขณะเดียวกัน นายกฯ อภิสิทธิ์ ก็ให้แต่ละพรรคดูแลงานของกระทรวงที่ตัวเองรับผิดชอบโดยตรง ทำให้การบริหารประเทศมีลักษณะกระจาย ขาดความเป็นเอกภาพ และนายกฯ ไม่ได้เข้าไปชี้นำ ทำให้เกิดปัญหาความไม่เป็นเอกภาพในการบริหารประเทศ จึงเป็นจุดอ่อนนำไปสู่ความขัดแย้งภายในพรรคร่วมรัฐบาลอย่างที่เห็น

ประการที่สอง รัฐบาลปล่อยให้ฝ่ายตรงข้ามใช้ข้อมูลผ่านสื่อต่างๆ นำไปสู่การปลุกระดม การดูแลเรื่องเหล่านี้ยังไม่เข้มแข็ง ทำให้ประเทศแตกแยกมาก

ส่วนการปรองดองจากนี้ จะเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่ เพราะวันนี้สังคมแตกแยกร้าวลึกมาก?...

สมบัติฟันธง ขึ้นอยู่กับปัญหาของทักษิณ

“ผมพูดตรงๆ ไม่อ้อมค้อมนะ ตัวป่วน หัวหน้าขบวน จริงๆ คือ คุณทักษิณยังมีศักยภาพในการเคลื่อนไหวทางการเมืองในประเทศอยู่ และที่กลไกต่างๆ ทำงานก็เพราะเครือข่ายและท่อน้ำเลี้ยงคุณทักษิณที่ยังอู้ฟู่อยู่”

สิ่งที่หลายฝ่ายวิตก การต่อสู้ในอนาคตจะยกระดับเป็น “สงครามกลางเมือง” หรือไม่ เพราะ พ.ต.ท.ทักษิณ สั่งให้คนเสื้อแดงใช้เกมใต้ดินสู้ อธิการบดีนิด้ามองว่า กลุ่ม นปช.คงไม่สามารถฟื้นตัวกลับมาใช้ความรุนแรงได้ในทันที และการที่จะลงใต้ดินก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องมีปัจจัยสนับสนุนต่อเนื่อง มีศักยภาพอำพรางตัวจากรัฐบาล และถ้าหน่วยงานของรัฐเข้มแข็ง รัฐก็สามารถใช้อำนาจตามกฎหมายปราบปรามได้

“กลุ่มใต้ดินในประเทศไทยตั้งแต่มีพรรคคอมมิวนิสต์มา ก็มีเครือข่ายที่เข้มแข็งที่สุดก็ไปไม่รอด ดังนั้นความเสี่ยงอาจมีอยู่ แต่ก็ไม่ใช่ง่าย อยู่ที่ตำรวจ ทหาร ถ้าเข้มแข็งมีความเป็นมืออาชีพก็จะทำให้กลไกของรัฐมีประสิทธิภาพมากขึ้น”

สมบัติ ตบท้ายถึงอนาคตที่ดูจะเปราะบางของนายกฯ อภิสิทธิ์ ในภาวะ “สึนามิการเมือง” ว่า การเป็นรัฐบาลในช่วงปีกว่าที่ผ่านมาคงไม่มีอะไรที่รุนแรงมากกว่าวิกฤตในเหตุการณ์พฤษภา 53 อีกแล้วเพราะเป็นความเสียหายมหาศาลที่ประเทศต้องเผชิญ และเป็นวิกฤตที่สุดที่นายกฯ อภิสิทธิ์ ได้รับ

“สิ่งที่นายกฯ อภิสิทธิ์ เผชิญมันมีสองส่วน ส่วนหนึ่งต้องบอกว่า ช้ำจริงๆ อีกส่วนหนึ่งก็แข็งจริงๆ หมายความว่า ผ่านความช้ำมาได้แล้วมันก็แข็ง คุณลองนึกดู คนหนุ่มอายุ 45 ผ่านแบบนี้แล้วรอดมาได้ แล้วมันทำให้เขารู้สึกเชื่อมั่น มีกำลังใจเยอะขึ้น แล้วมันก็เพิ่มบารมีขึ้นมาทันที ทำให้พวกกลไกต่างๆ มันจะยอมสยบลงเยอะ ผมคิดว่าช่วง 2 ปี มันจะสร้างบารมีให้คุณอภิสิทธิ์เยอะ”

นายกฯ อภิสิทธิ์ อยู่ได้???....

“ผมว่า คุณอภิสิทธิ์คงตั้งใจอยู่อีก 5-6 เดือนไปก่อน แต่หลังจากนั้นก็คงดูความพร้อมแล้วล่ะ ถ้าสิ่งที่ทำไปมีผลงานชัดก็คงทันที เขาคงไม่ได้คิดให้อยู่จนครบวาระ”

***************

ยาขนานเอกสู่ความสำเร็จ

“ตั้งแต่ผมเป็นนักศึกษาและมาต่อสู้ทางการเมือง มีจุดยืนที่มั่นคงกับความถูกต้อง ความยุติธรรมของสังคมมาตลอด ไม่เคยเข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์ในป่า และไม่เคยรับใช้นายทุนการเมือง ผมมาเป็นอาจารย์ที่มีจุดยืนอย่างนี้อย่างมั่นคง ส่วนจะตรงข้ามหรือสอดคล้องกับใคร ก็แล้วแต่ใครจะคิด”

ปัจจัยเสี่ยง"มาร์ค"

คำอธิบายตัวตนแบบกระชับๆ ของ “สมบัติ ธำรงธัญวงศ์” ที่เคลื่อนไหวทางการเมืองมาตั้งแต่เหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 ในบทบาทอดีตเลขาธิการศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย ผ่านมา 37 ปี วันนี้ สมบัติ ดำรงตำแหน่งอธิการบดี สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) มาจนครบ 1 สมัย

ด้วยวัย 59 ปี สมบัติยังคงมุ่งมั่น สอนหนังสือและบริหารนิด้าอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย รวมเป็นอาจารย์มา 21 ปี

ในโลกวิชาการนับว่าประสบความสำเร็จทั้งสองด้าน ด้านงานวิชาการที่ได้เป็น “ศาสตราจารย์” และงานบริหารในเก้าอี้อธิการบดีนิด้า จนสามารถยกระดับสถาบันนี้ให้มีคุณภาพทางวิชาการ ทำให้ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งต่ออีกสมัยแบบไร้คู่แข่ง

เคล็ดลับของความสำเร็จ โดยเฉพาะในยามเจออุปสรรค สมบัติเฉลยว่า ส่วนตัวมีเป้าหมายในการทำงานให้เกิดความสำเร็จตลอด และให้ความสำคัญกับ “คุณค่าของเวลา” มาก เพราะประเทศจะพัฒนาได้ ทุกคนต้องตรงต่อเวลา แต่หากท้อแท้ก็จะยึดต้นแบบบุคคลสำคัญมาเป็นกำลังใจให้ตัวเอง

“สมัยหนุ่มผมจะอ่านมาก เพราะมันทำให้มีกำลังใจ เช่น พอเรารู้สึกว่าเราลำบาก ก็จะคิดว่ามีคนลำบากและต่อสู้มากกว่าเรา อย่างมหาตมะ คานธี จบบัณฑิตจากอังกฤษแล้วพาประชาชนมาต่อสู้ สละชีวิต ทำไมเขาทำได้ อีกคนที่ผมยกย่อง เหมาเจ๋อตง เขาเป็นนักต่อสู้จากครู แล้วขึ้นมาเป็นผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์จีน เปลี่ยนแปลงจีนทั้งประเทศ ในแง่ชีวิตการต่อสู้ของคนคนหนึ่งถือว่ายิ่งใหญ่มาก เพราะถ้าไม่มีเหมาเจ๋อตง ก็ไม่มีจีนที่ยิ่งใหญ่ในวันนี้”

อีกคนที่สมบัติใช้เป็นแบบอย่าง คือ ลีกวนยิว อดีตผู้นำสิงคโปร์ ถือเป็นนักบริหารสมัยใหม่ที่มุ่งความสำเร็จ สร้างประเทศจากไม่มีอะไรให้กลายเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว ยังมี “ปักชุงฮี” อดีตประธานาธิบดีเกาหลีใต้ แม้จะมาจากการยึดอำนาจ แต่ก็สามารถเปลี่ยนประเทศให้พ้นจากความยากจน ใช้อำนาจนั้นเพื่อประโยชน์ของประชาชนจริงๆ เช่น รื้อระบบการศึกษาใหม่ ยกฐานะเกษตรกรให้มีความเป็นอยู่ดีขึ้น