posttoday

คสช.ปาดเหงื่อศึกนอกหนักกว่าศึกใน

25 มิถุนายน 2557

ศึกภายใน คสช.จะคุมสถานการณ์อยู่หมัด ไร้กระแสต่อต้าน แต่ศึกภายนอกจากนานาประเทศรุมกันกดดัน

โดย....ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

1 เดือนหลังรัฐประหาร ปฏิเสธไม่ได้ว่าคนที่เหนื่อยที่สุดและทำงานหนักพอๆ กับคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ก็คือ สีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ และข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งหมายรวมถึงเอกอัครราชทูตและเจ้าหน้าที่สถานทูตไทยซึ่งประจำอยู่ทั่วโลก ที่ต้องชี้แจงความชอบธรรมของการรัฐประหารให้นานาชาติเข้าใจ

ไม่ว่า คสช.หรือกระทรวงการต่างประเทศจะชี้แจงกับคนไทยว่า ทุกประเทศเข้าใจเหตุผลของการรัฐประหารมากขึ้น หรือต่างประเทศมีทัศนคติเชิงบวกกับรัฐบาลทหารไทยแล้ว แต่ปฏิกิริยาที่ออกมาจากนานาชาติในแต่ละวันล้วนออกมาในเชิงลบ มิหนำซ้ำยังมีการเพิ่มมาตรการในการกดดันคณะทหารให้คืนอำนาจให้ประชาชนโดยเร็ว ซึ่งหากทบทวนย้อนหลัง 1 เดือนของการรัฐประหาร เสียงจากนานาชาติล้วนเป็น “ก้อนหิน” มากกว่าจะเป็น “ดอกไม้”

เริ่มจากสหรัฐอเมริกา ที่ จอห์น แคร์รี รมว.ต่างประเทศ แสดงท่าทีการคัดค้านรัฐประหาร รวมถึงประกาศตัดความสัมพันธ์ทางการทหารกับไทยทันที จนกว่าจะคืนอำนาจให้ประชาชน รวมถึงยกเลิกการกำหนดการเยือนประเทศไทยของผู้บัญชาการกองเรือประจำภาคพื้นแปซิฟิก และยกเลิกกำหนดการเยือนสหรัฐอเมริกาของ พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร ผบ.สส. ทั้งที่นัดหมายไว้ล่วงหน้าแล้วด้วย

เคราะห์ซ้ำกรรมซัดอีกครั้ง เมื่อกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกาออกแถลงการณ์ปรับลดระดับการค้ามนุษย์ในประเทศไทย จาก Tier 2 เป็น Tier 3 แม้จะไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับ คสช. เนื่องจากเป็นผลการดำเนินงานภาพรวมตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา คาบเกี่ยวหลายรัฐบาลระบุว่าไม่ดีขึ้น แต่ก็กลายเป็นภาระหนักอึ้งที่ คสช.จำเป็นต้องรับไว้บนบ่าในฐานะผู้มีอำนาจสูงสุด และต้องจำยอมมาตรการลดความช่วยเหลือทางการค้าระหว่างประเทศจากสหรัฐ

ก่อนหน้านั้นไม่นาน รัฐบาลออสเตรเลียก็แสดงท่าทีแข็งกร้าว ลดระดับความสัมพันธ์ทางทหาร ห้ามผู้นำทหารไทยเข้าประเทศ รวมถึงเรียกร้องให้คืนอำนาจประชาชนโดยเร็วที่สุด เช่นเดียวกับรัฐบาลอังกฤษ ฝรั่งเศส และเยอรมนี ที่ออกแถลงการณ์ประณาม

ส่วนญี่ปุ่น ที่ลงทุนในประเทศไทยเป็นอันดับที่ 1 นั้น ไม่ได้ออกแถลงการณ์ประณามรัฐบาลทหารเช่นเดียวกับประเทศอื่น แต่ระบุว่า “น่าเสียใจเป็นอย่างยิ่ง” ที่รุนแรงที่สุด คือ ปฏิกิริยาจากการประชุมของคณะรัฐมนตรีต่างประเทศสหภาพยุโรป (อียู) ซึ่งตัดสินใจคว่ำบาตรการลงนามในทุกสัญญากับไทย รวมถึงยกเลิกการเดินทางเยือนระหว่างสองประเทศ จนกว่าจะมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งอีกครั้ง ซึ่งส่งผลกระทบอย่างสูงต่อความน่าเชื่อถือของ คสช. เพราะสหภาพยุโรปมีประเทศสมาชิกรวมกว่า 28 ประเทศ และถือเป็นคู่ค้าอันดับ 4 ของไทย

จนถึงขณะนี้ ท่าทีของมหาอำนาจโลกส่วนใหญ่ ล้วนเป็นปฏิปักษ์กับ คสช.

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ในไทยเป็นหนังคนละม้วนกับสถานการณ์นอกประเทศ เมื่อสวนดุสิตโพลสำรวจความพึงพอใจต่อการบริหารงานของ คสช. ได้รับคะแนนสูงถึง 8.82 เต็ม 10 และอีก 72% เห็นว่าภาพรวมการบริหารงานของ คสช.ทำให้ประเทศสงบสุข นั่นทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ และ คสช. ยังมีกำลังใจในการทำงานต่อไป

ยิ่งมีเสียงเชียร์มากขึ้น ก็ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ลังเลใจที่จะรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเอง โดยให้ผู้บัญชาการเหล่าทัพต่างๆ เข้าไปนั่งเป็นผู้ช่วยในคณะรัฐมนตรี ผสมผสานกับเทคโนแครตและข้าราชการที่จะทำหน้าที่ช่วยเหลือ พล.อ.ประยุทธ์ ให้เดินหน้าปฏิรูป อย่างที่ คสช.วางโรดแมปไว้

“ขอขอบคุณเจ้าหน้าที่ที่ได้ร่วมมือกันในการปฏิบัติงาน ทำให้งานของ คสช.เดินหน้าไปได้ แม้สหรัฐอเมริกาและยุโรปจะมีท่าทีคัดค้านการเข้าบริหารงานของ คสช.อยู่บ้าง แต่ก็ต้องคำนึงถึงศักดิ์ศรีของประเทศไทยด้วย” พล.อ.ประยุทธ์ ได้กล่าวในที่ประชุมร่วมกับรองหัวหน้า คสช. เมื่อวันที่ 24 มิ.ย.ที่ผ่านมา สะท้อนชัดว่า คสช.ไม่ได้ยี่หระต่อท่าทีของประเทศมหาอำนาจเหล่านี้ รวมถึงพร้อมเดินหน้าบริหารงานต่อไปด้วยท่าทีแบบเดิม

เช่นเดียวกับ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษา คสช.ด้านต่างประเทศ และอดีต รมว.คลัง ที่ยืนยันว่ามุมมองของแต่ละประเทศเป็นเรื่องที่ “เข้าใจได้” และไม่ใช่เรื่องที่ต้องโกรธเคืองกัน แต่เป็นเรื่องความไม่เข้าใจถ่องแท้ถึงสาเหตุของการยึดอำนาจว่าเป็นไปเพื่ออะไร และหากไม่มีการยึดอำนาจของ คสช. เหตุการณ์อาจลุกลามถึงขั้นเกิดสงครามกลางเมือง ขณะเดียวกัน สมคิด ก็ยังเชื่อมั่นว่าหาก คสช.สร้างความเชื่อมั่นให้ทั่วโลกเห็น รวมถึงจริงจังในการปฏิรูป ทั่วโลกก็จะกลับมาคบค้ากับประเทศไทยได้ตามเดิม

เมื่อ คสช.ไม่สนใจท่าทีต่อมหาอำนาจโลกและยังมั่นใจว่าไทยยังบริหารงานได้ แม้หลายประเทศทั่วโลกจะประณาม การทำงานหลังจากนี้ของ คสช.จึงต้องเรียกคะแนนจากคนในประเทศให้เกิดความเชื่อมั่นให้ได้มากที่สุด เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้มากพอในการนำไปสู่การปฏิรูป มากกว่าจะทำตามความต้องการของฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด อย่างที่คนไทยทั้งประเทศอยากเห็น

อย่างไรก็ตาม แม้ศึกภายใน คสช.จะคุมสถานการณ์อยู่หมัด ไร้กระแสต่อต้าน แต่ศึกภายนอกจากนานาประเทศรุมกันกดดัน แผนการคืนความสุขให้กับประเทศของ คสช.คงไม่ง่ายนัก และนับจากนี้ คสช.คงต้องเจอมรสุมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้