posttoday

ศก.ชะลอตัววัดใจพู้นำจีนงดอัดฉีด เดินหน้าลุยปฏิรูป

17 มิถุนายน 2556

กลายเป็นหนังคนละม้วนไปแล้ว สำหรับทิศทางเศรษฐกิจจีน เมื่อตัวเลขสำคัญทางเศรษฐกิจหลายด้านในเดือน พ.ค. โดยเฉพาะดัชนีการส่งออก

โดย...นันทิยา วรเพชรายุทธ

กลายเป็นหนังคนละม้วนไปแล้ว สำหรับทิศทางเศรษฐกิจจีน เมื่อตัวเลขสำคัญทางเศรษฐกิจหลายด้านในเดือน พ.ค. โดยเฉพาะดัชนีการส่งออก กลับย่ำแย่ลงจากเดือนก่อนหน้าราวกับไม่ใช่ตัวเลขที่ออกมาจากประเทศเดียวกัน

จากที่เคยขยายตัวได้ถึง 14.7% ในเดือน เม.ย. เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า การส่งออกเดือน พ.ค. กลับโตได้เพียง 1% เท่านั้น ยังไม่นับรวมดัชนีสำคัญอื่นๆ ซึ่งล้วนบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจจีนอาจกำลังเข้าสู่ช่วงการเติบโตน้อยที่สุดในรอบกว่า 10 ปี และทำให้เกิดการตั้งคำถามตามมาว่า คณะผู้นำจีนชุดใหม่ภายใต้การนำของประธานาธิบดี สีจิ้นผิง จะรับมือกับช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อเช่นนี้ด้วยการ “เดินหน้าปฏิรูป” หรือ “ถอยหลังกระตุ้น”

นับเป็นบททดสอบวัดใจครั้งใหญ่ทีเดียวว่าผู้นำจีนจะสามารถนำพาการปฏิรูปเขตเศรษฐกิจขนาดใหญ่สุดอันดับ 2 ของโลกแห่งนี้ ตามที่เคยประกาศไว้เมื่อช่วงต้นปีนี้ ได้หรือไม่

ก่อนหน้านี้ คณะผู้นำรุ่นที่ 5 ต่างยอมรับว่าจีนจำเป็นต้องปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจใหม่ หากต้องการให้แดนมังกรผงาดขึ้นเป็นมหาอำนาจโลกได้อย่างแท้จริงและยั่งยืน โดยจะต้องปรับเปลี่ยนโมเดลทางเศรษฐกิจ ลดพึ่งพาการส่งออกและหันมาบริโภคภายในให้มากขึ้นแทน ซึ่งเป็นโมเดลแบบเดียวกันกับประเทศในกลุ่มพัฒนาแล้วอย่างสหรัฐและญี่ปุ่น

ทางด้านนายกรัฐมนตรี หลี่เค่อเฉียง ก็เดินหน้าสานต่อแผนปฏิรูปด้วยการประกาศนโยบายสร้างชุมชนเมืองใหม่ เพื่อกระจายรายได้และแก้ปัญหาช่องว่างในประเทศ พร้อมยังให้คำมั่นว่ารัฐบาลกรุงปักกิ่งจะลดการยื่นมือเข้าไปเกี่ยวข้องในระบบเศรษฐกิจลง โดยปล่อยให้ระบบเป็นไปตามกลไกตลาดเสรีมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม การจะปรับโมเดลทางเศรษฐกิจตามเป้าหมายระยะยาวที่วางไว้นั้น ก็จำเป็นต้องแลกมาด้วยการเสียสละตัวเลขทางเศรษฐกิจอันสดใส ดังที่จีนกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้

“ข้อมูลเดือน พ.ค. จะเป็นตัวกดดันให้กลุ่มผู้นำและธนาคารกลางของจีน ต้องหันมาทบทวนเรื่องการเติบโตและนโยบายเงินเฟ้อใหม่อีกครั้ง ดูเหมือนว่าจีนจะมองโลกในแง่ดีเกินไปถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจ และมองโลกในแง่ร้ายเกินไปกับความกังวลเรื่องเงินเฟ้อ” เฉินเจียนกวง หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ฝ่ายเอเชียของบริษัท มิซูโฮะ ซีเคียวริตีส์ ให้ความเห็นกับบลูมเบิร์ก

แม้ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้การค้าจีนปรับตัวลงอย่างฮวบฮาบ จะเป็นเพราะการเอาจริงในการปราบปรามบริษัทส่งออกจำนวนมากที่ตบแต่งตัวเลขส่งออกเกินจริง ทว่าปัจจัยพื้นฐานสำคัญที่ไม่อาจปฏิเสธได้ก็คือ การค้าทั่วโลกยังไม่กลับเข้าสู่ภาวะปกติ

เศรษฐกิจสหรัฐอาจเริ่มฟื้นตัวดีขึ้น และเศรษฐกิจยุโรปได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว แต่การบริโภคทั่วโลกก็ยังไม่สามารถฟื้นตัวกลับสู่ระดับก่อนวิกฤตการณ์ทางการเงินในปี 2551 และยิ่งเมื่อรวมกับความพยายามของจีนที่จะเน้นการบริโภคภายในแทนที่การส่งออก ก็ยิ่งฉุดให้ตัวเลขการค้าดิ่งลงตามมาอย่างฮวบฮาบ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ยังไม่รวมทิศทางด้านลบที่จะตามมาอีก หากจีนและยุโรปเปิดสงครามการกีดกันทางการค้าตามมา อันเนื่องมาจากข้อพิพาทกรณีแผงโซลาร์เซลล์

หากใจไม่แข็งพอ ก็อาจมีความเป็นไปได้สูงที่จะเห็นจีน “ถอยหลัง” กลับไปใช้นโยบายกระตุ้นทางการเงินและการคลังเหมือนหลายครั้งที่ผ่านมา เพื่อใส่เกียร์เร่งเครื่องเศรษฐกิจระยะสั้น แทนที่จะเป็นการยอมหักเพื่อปรับฐานกระตุ้นเศรษฐกิจให้ยั่งยืนในระยะยาว

ปัจจุบัน จีนยังคงเหลือพื้นที่ว่างสำหรับการกระตุ้นรอบใหม่ได้อีกมาก หลังจากที่ภาวะเงินเฟ้อเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา ปรับตัวลดลงอยู่ที่ 2.1% เท่านั้น จาก 2.4% ในเดือนที่ผ่านมา ขณะที่รัฐบาลกำหนดเป้าเงินเฟ้อในปีนี้ไว้ที่ระดับ 3.5% ส่งผลให้จีนมีความยืดหยุ่นในการปรับเปลี่ยนนโยบายการเงิน โดยเฉพาะนโยบายอัตราดอกเบี้ยตามมา

ขณะเดียวกัน อัตราการปล่อยสินเชื่อกู้ยืมใหม่ในเดือน พ.ค. ก็ยังลดลงอยู่ที่ 6.67 แสนล้านหยวน หรือน้อยกว่าในเดือนก่อนหน้ากว่าแสนล้านหยวน จึงมีความเป็นไปได้ที่จีนอาจใช้นโยบายผ่อนปรนทางการเงินและการคลังตามมาเพื่อกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศ โดยหันไปใช้มาตรการอื่นๆ เพื่อสกัดการเก็งกำไรสินทรัพย์แทน

อย่างไรก็ตาม ปัญหาสำคัญของการใช้มาตรการกระตุ้นเหล่านี้ก็คือ การถอยหลังกลับไปสู่วัฏจักรเดิมๆ ของการกระตุ้นเศรษฐกิจแค่ระยะสั้น ซึ่งไม่มีความยั่งยืน และเสี่ยงต่อการทำให้เศรษฐกิจทั้งระบบเสพติดการกระตุ้น เช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นในสหรัฐ ยุโรป และญี่ปุ่น มาแล้ว

หากยอมใจแข็งไม่ละทิ้งโอกาสในการปฏิรูปเศรษฐกิจ จีนจะต้องทนรับแรงกดดันจากตัวเลขจีดีพีที่อาจร่วงลงแตะระดับ 7% หรือต่ำสุดในรอบกว่า 10 ปี ในไตรมาส 3 ปีนี้ ซึ่งแน่นอนว่าจะฉุดให้จีดีพีตลอดทั้งปี 2556 ในยุคของ สีจิ้นผิง ได้รับการบันทึกว่าต่ำที่สุดในรอบทศวรรษของประวัติศาสตร์เศรษฐกิจแดนมังกร และอาจกระทบต่อการค้าทั่วโลกไปด้วย

อย่างไรก็ตาม หากกลุ่มผู้นำคนรุ่นใหม่ของจีนยอมทนต่อแรงกดดันได้ และสามารถดำเนินแผนปฏิรูประยะยาวตามที่ลั่นไว้ได้จริง จีนก็อาจผงาดขึ้นเป็นมหาอำนาจใหม่ในอนาคต ที่หลุดพ้นจากวัฏจักรอันเลวร้ายทางเศรษฐกิจในวันนี้ได้เช่นกัน