posttoday

จำนำข้าวเจ๊งเครดิตประเทศไทยพังพาบ

04 มิถุนายน 2556

ต้องบอกว่าหายนะโครงการรับจำนำข้าวทุกเมล็ดของรัฐบาล กำลังสร้างความเสียหายให้กับเศรษฐกิจประเทศทุกหย่อมหญ้า

โดย...เกียรติศักดิ์ ผิวเกลี้ยง

ต้องบอกว่าหายนะโครงการรับจำนำข้าวทุกเมล็ดของรัฐบาล กำลังสร้างความเสียหายให้กับเศรษฐกิจประเทศทุกหย่อมหญ้า

เพียงแค่ 2 ปี รัฐบาลดำเนินการโครงการรับจำนำข้าวมาสร้างหนี้สาธารณะให้กับประเทศเพิ่มขึ้นไปแล้ว 4.1 แสนล้านบาท ทำให้หนี้สาธารณะของประเทศเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

ขณะเดียวกัน รัฐบาลยังใช้สภาพคล่องของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ไปอีก 9 หมื่นล้านบาท รวมเป็นเงินที่ใช้ในโครงการรับจำนำข้าวตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ 5 แสนล้านบาท

แต่ทว่าโครงการรับจำนำข้าวมีโอกาสที่จะใช้เงินเกินวงเงินที่ ครม.เห็นชอบด้วยการเลี่ยงบาลี ด้วยการเปิดให้กระทรวงพาณิชย์เปิด โอ/ดี ใช้เงินสำรองจ่ายของ ธ.ก.ส. อีกก้อนโต หากไม่มีเงินจากการระบายข้าวมาใช้ในการรับจำนำจากเกษตรกร

จึงมีการประเมินกันว่ารัฐบาลใช้เงินรับจำนำข้าว 2 ปี บานทะโร่ไปถึง 7 แสนล้านบาท

โครงการรับจำนำข้าวทุกเมล็ดของรัฐบาลเพื่อไทย นอกจากสร้างหนี้ก้อนโตให้กับประเทศแล้ว ทั้งที่แสดงให้เห็นและซุกไว้ที่ ธ.ก.ส.แล้ว โครงการรับจำนำข้าวยังสร้างความเสียหาย มีผลขาดทุนมโหฬาร โดยคณะกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าวที่เดิม สุภา ปิยะจิตติ รองปลัดกระทรวงการคลัง นั่งเป็นประธาน ปิดบัญชีโครงการแค่ปีแรกพบว่าขาดทุนถึง 2.6 แสนล้านบาท จนทำให้รัฐบาลเด้ง สุภา ออกจากประธานปิดบัญชี ที่นำความจริงมาเปิดเผย

การขาดทุนก้อนโต เนื่องจากการรับจำนำข้าวตันละ 1.5-2 หมื่นบาท สูงกว่าราคาตลาดถึง 40% ทำให้รัฐบาลขาดทุนทั้งยืน ยิ่งตอนนี้มีปัญหาค่าเงินบาทแข็งค่า ทำให้การขายข้าวของรัฐบาลยิ่งมากเท่าไร ยิ่งขาดทุนมากเท่านั้น

ขณะที่การอภิปรายงบประมาณ 2557 ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ฝ่ายค้านก็ใช้เวทีนี้ซักฟอกโครงการรับจำนำข้าว มีการทุจริตทุกหย่อมหญ้า เงินส่วนใหญ่เข้ากระเป๋านายทุนและนักการเมืองใหญ่ของประเทศ

ข้อมูลการทุจริตข้าวของฝ่ายค้านสอดคล้องกับผลการศึกษาของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ระบุความเสียหายจากโครงการรับจำนำข้าวทุก 1 แสนล้านบาท ถึงมือชาวนาที่ยากจนเพียง 1.7 หมื่นล้านบาทเท่านั้น ที่เหลืออีกร่วม 8.3 หมื่นล้านบาท ตกอยู่ในมือชาวนาที่ร่ำรวย พ่อค้า เจ้าของโรงสี และนักการเมือง

นั่นคือพิษภัยของโครงการที่รัฐบาลภูมิใจหนักหนา

แต่นั่นยังไม่ร้ายเท่ากับการที่สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ มูดี้ส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส ได้ออกรายงานฐานะเครดิตประเทศไทย ระบุว่า ภาระโครงการรับจำนำข้าวของไทยทั้งปี 2554 และ 2555 รวมถึงความเสียหายที่จะเกิดขึ้นในอนาคต จะทำให้การทำงบประมาณสมดุลภายในปี 2560 ตามที่รัฐบาลตั้งเป้าไว้ทำได้อยาก

ที่สำคัญ มูดี้ส์ เน้นย้ำว่าโครงการรับจำนำข้าวหากยังดำเนินการต่อไป จะเป็นความเสี่ยงสำคัญที่ทำให้ มูดี้ส์ ปรับลดเครดิตของประเทศไทยลง จากปัจจุบันอยู่ที่ Baa1

นั่นหมายถึงต้นทุนทางการเงินของคนทั้งประเทศจะสูงขึ้นโดยอัตโนมัติ

มูดี้ส์ ระบุในรายงานว่า ได้พยายามสอบถามข้อมูลภาระความเสียหายจากหน่วยงานของรัฐบาล และแหล่งข่าวในรัฐบาล แต่กลับไม่ได้คำตอบหรือข้อมูลใดๆ ที่เป็นประโยชน์ ทำให้ต้องมองเครดิตไทยในมุมมองที่เป็นลบไว้ก่อน

จะว่าไปแล้ว ข้อเท็จจริงก็เป็นไปตามที่มูดี้ส์กล่าวอ้าง เพราะตลอดที่ผ่านมารัฐบาลพยายามซุกข้อมูลจำนำข้าว ไม่เปิดข้อมูลที่แท้จริง ทั้ง กิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง ที่เลี่ยงตอบความเสียหายที่เกิดจากโครงการรับจำนำ โดยบอกปัดว่าเบื่อเรื่องนี้แล้ว

หรือแม้แต่ผู้บริหารระดับสูงของ ธ.ก.ส. ก็ซุกเงียบจำนวนเงินที่ใช้ไปในโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เกินวงเงิน 9 หมื่นล้านบาทที่ ครม.เห็นชอบไปเท่าไร

ขณะที่กระทรวงพาณิชย์ก็ซุกการระบายข้าว ไม่เปิดเผยให้มีการตรวจสอบทั้งราคาและปริมาณที่ขายออกมา ทำให้เกิดช่องโหว่ของการทุจริตกันเป็นกอบเป็นกำ

ดังนั้น คำเตือนของมูดี้ส์ถือว่าเป็นเรื่องนิ่งดูดายไม่ได้ เพราะนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่มูดี้ส์ออกมาเตือน ตั้งแต่รัฐบาลนี้เข้ามาเป็นรัฐบาล รายงานทุกครั้งของมูดี้ส์ได้แสดงความเป็นห่วงเครดิตของประเทศไทยที่เกิดจากโครงการประชานิยมที่สร้างภาระการคลัง รวมถึงความไม่แน่นอนทางการเมืองมาตลอด ที่เป็นตัวบั่นทอนความน่าเชื่อถือของเศรษฐกิจไทย

จึงตรึงเครดิตประเทศไว้ในระดับเดิม คือ Baa1 มาหลายปี แม้ว่าเศรษฐกิจของประเทศจะดีขึ้นก็ตาม

นอกจากนี้ มูดี้ส์ ยังถือเป็นสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือที่ตรงไปตรงมาที่สุดในบรรดาสถาบันจัดอันดับเครดิตให้ประเทศไทยทั้งหมด

แม้ว่าในปีที่ผ่านมารัฐบาลโดย กิตติรัตน์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง จะทุ่มสุดตัวเดินสายไปหลายประเทศเพื่อล็อบบี้ให้สถาบันจัดอันดับชั้นนำของโลกปรับเครดิตให้ประเทศไทย แต่ก็ไม่ประสบผล โดยเฉพาะมูดี้ส์ที่นอกจากไม่ปรับแล้ว ยังขู่ที่จะลดเครดิตของไทยลงอีกด้วย เหมือนอย่างที่ออกรายงานมาล่าสุด

ขณะที่ สถาบันจัดอันดับ สแตนดาร์ดแอนด์พัวร์ หรือเอสแอนด์พี ก็ยังคงอันดับความน่าเชื่อถือของไทยไม่ต่างจากมูดี้ส์ เพราะเห็นตรงกันว่าเครดิตของประเทศยังมีความเสี่ยง แม้ว่าเศรษฐกิจไทยยังขยายตัวได้ดีก็ตาม

ส่วนฟิทช์ เรทติ้งส์ แม้ว่าจะปรับเครดิตให้ไทยในช่วงต้นปีที่ผ่านมา แต่การปรับเครดิตของฟิทช์ ก็เป็นการปรับเครดิตให้ขึ้นมาอยู่ในระดับเดียวกับมูดี้ส์ และเอสแอนด์พีเท่านั้น ไม่ได้เป็นการปรับที่สูงกว่า ซึ่งนั่นหมายความว่าฟิทช์ก็ไม่ได้มองเครดิตของประเทศไทยดีไปกว่าเครดิตชั้นนำอีก 2 แห่ง

ดังนั้น การที่มูดี้ส์ออกมาส่งสัญญาณร้ายจะลดเครดิตประเทศไทยจากพิษโครงการรับจำนำข้าว ถือว่าเป็นวิบากกรรมเครดิตของประเทศรอบใหม่

เพราะหากมูดี้ส์ปรับลดเครดิตของไทยลงเมื่อไร เชื่อว่าจะทำให้สถาบันจัดอันดับเครดิตแห่งอื่นปรับลดเครดิตของไทยตาม

ผลที่ตามมา การที่ประเทศถูกลดเครดิต ทำให้การกู้เงินของรัฐบาลและเอกชนในต่างประเทศมีต้นทุนสูงขึ้น

แน่นอนว่า อาจทำให้การลงทุนทั้งภาครัฐและเอกชนมีปัญหาต้องสะดุด ซ้ำเติมการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงอย่างรวดเร็ว เนื่องจากแรงขับเคลื่อนด้านต่างๆ มีปัญหา ทั้งการส่งออกหดตัว การลงทุนภาครัฐล่าช้า และการบริโภคเอกชนก็แผ่วลง หลังรัฐบาลหมดมาตรการกระตุ้น

ยิ่งประเมินความเสียหายจากโครงการรับจำนำข้าว ก็จะเห็นว่ามุมมองของมูดี้ส์ไม่ได้เกินเลยไป และก็เป็นเรื่องที่นักวิชาการจำนวนมากได้ออกมาเตือนความเสียหายจำนวนมากหลายแสนล้านบาทจากโครงการรับจำนำข้าว

เพราะหากลงไปดูในรายละเอียดของการรับจำนำ รัฐบาลใช้เงินในโครงการไปแล้ว 5 แสนล้านบาท ไม่นับรวมเงินสำรองจ่ายของ ธ.ก.ส. ที่ใช้นอกเหนือมติ ครม. จะพบความเสียหายแค่ปีแรก 2.6 แสนล้านบาท ครึ่งหนึ่งของเงินที่ใช้รับจำนำ หากการดำเนินการในปีที่ 2 ขาดทุนเท่ากับปีแรก ก็เท่ากับว่าเงิน 5 แสนล้านบาท มลายหายสิ้นไปหมด

คำถามก็คือ รัฐบาลจะนำเงินจากที่ไหนมารับจำนำข้าวปีที่ 3 ที่จะเริ่มขึ้นในไม่ช้า รวมถึงปีต่อๆ ไป

หากพิเคราะห์ทางออกในการแก้ปัญหา รัฐบาลหนีไม่พ้นต้องดำเนินการใน 2 ทาง

ทางแรก คือ ตั้งงบประมาณนำเงินมาโปะความเสียหาย ซึ่งในปีงบประมาณ 2557 รัฐบาลก็ต้องใช้เงินถึง 7-8 หมื่นล้านบาท มาโปะโครงการรับจำนำข้าวให้มีเงินหมุนต่อรับจำนำข้าวรอบใหม่ ซึ่งเป็นเหตุผลสำคัญทำให้มูดี้ส์ประเมินว่าไทยจะทำงบสมดุลไม่ได้ตามเป้าที่ตั้งไว้ เพราะรัฐบาลจะต้องใช้เงินงบประมาณมาโปะโครงการจำนำข้าวเพิ่มขึ้นทุกๆ ปี

แต่ปัญหาคือ เงินงบประมาณมีจำกัด ไม่เพียงพอที่จะมาโปะโครงการรับจำนำที่ใช้เงินมหาศาล

ทางสอง ก็ย่อมทำให้รัฐบาลหนีไม่พ้นต้องกู้เงินเพิ่มมาใช้ในโครงการรับจำนำข้าวปีที่ 3 ที่จะเริ่มขึ้น

วิธีการดังกล่าวสอดคล้องกับข้อมูลที่คณะทำงานจำนำข้าวของรัฐบาลเสนอให้มีการกู้เงินก้อนใหม่ถึง 4 แสนล้านบาท เพื่อใช้ในโครงการรับจำนำข้าวรอบใหม่ ทำให้หนี้สาธารณะเร่งตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

ปัญหานี้ มูดี้ส์มองว่าเป็นจุดอันตรายและหากเกิดขึ้นก็หนีไม่พ้นต้องปรับลดเครดิตไทย

ถึงวันนี้รัฐบาลต้องยอมรับว่า โครงการรับจำนำข้าวกำลังสร้างความเสียหายให้กับเศรษฐกิจของประเทศครั้งใหญ่ เพราะความเสียหายเริ่มเป็นช้างตายทั้งตัวเอาใบบัวปิดไม่มิด รัฐบาลที่เป็นคนก่อก็ควรเป็นคนแก้ ไม่ใช่โยนเผือกร้อนให้ข้าราชการแบกหน้าไปแก้ต่างให้แทน ซึ่งไม่มีน้ำหนัก ไม่มีอำนาจตัดสินใจเชิงนโยบาย

การที่รัฐบาลลอยตัวเหนือปัญหา ยิ่งจะทำให้เครดิตของประเทศถูกลดอันดับเร็วเท่านั้น