posttoday

ผลเสียธนาคารกลางทุ่มอัดฉีดสปอยล์นักลงทุนรุ่น แบมือขอ

02 พฤษภาคม 2556

เป็นภาพที่มองเห็นได้ชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ สำหรับสภาพการณ์การลงทุนของบรรดานักลงทุนทั่วโลกในปัจจุบัน

โดย...นงลักษณ์ อัจนปัญญา

เป็นภาพที่มองเห็นได้ชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ สำหรับสภาพการณ์การลงทุนของบรรดานักลงทุนทั่วโลกในปัจจุบัน อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากมาตรการกระตุ้นที่ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์เคยเอ่ยปากเตือนไว้ก่อนหน้านี้

คำเตือนที่ว่าก็คือ การแก้ปัญหาเศรษฐกิจซบเซาด้วยการใช้แนวทางอัดฉีดเงินเข้าระบบอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลายาวนานจะส่งผลเสียต่อระบบเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำให้นักลงทุนรวมถึงนักธุรกิจไม่สนใจพิจารณาพื้นฐานความเป็นจริงของตลาด เพราะ “เคยชิน” และ “เคยตัว” กับการรอคอยให้ธนาคารกลางทั้งหลายทุ่มเงินเสริมสภาพคล่องเข้ามาภายในระบบ

ขณะที่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ธนาคารกลางโดยเฉพาะธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ก็ไม่เคยทำให้นักลงทุนผิดหวังแต่อย่างใด โดยนักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งให้เหตุผลตรงกันว่า เป็นเพราะสถาบันการเงินเหล่านี้ได้รับแรงกดดันทางการเมืองพอสมควร จึงไม่กล้าเสี่ยงทำให้ตลาดผิดหวังจนกระทั่งต้องตัดสินใจลดปริมาณการลงทุน

และสถานการณ์ความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นตลาดทุนทั่วโลกล่าสุด นับเป็นอีกหนึ่งหลักฐานที่ยืนยันความวิตกของบรรดานักวิเคราะห์ได้เป็นอย่างดี

เหตุเพราะ แม้รายงานตัวเลขการเติบโตของประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ชั้นนำของโลกอย่างสหรัฐ จีน หรือยุโรป จะค่อนข้างน่าผิดหวัง และสะท้อนให้เห็นแนวโน้มการขยายตัวที่จะชะลอตัว กระนั้นการซื้อขายในตลาดหุ้นก็ยังคงคึกคักสดใส ไม่มีวี่แววแผ่วแรงลดความร้อนแรงลงแต่อย่างใด

ทั้งนี้ เมื่อช่วงปลายสัปดาห์ที่แล้ว กระทรวงพาณิชย์สหรัฐได้เผยรายงานผลผลิตมวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2556 ที่มีการเติบโตเพียง 2.5% ซึ่งต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ 2.83%

ขณะที่ผลการสำรวจของนักลงทุนจาก 730 สถาบันทั่วโลก ต่างคาดการณ์ว่าสหภาพยุโรป (อียู) จะมีแนวโน้มหดตัว 0.4% ในปีนี้ ไม่เว้นแม้แต่ประเทศเศรษฐกิจแกร่งอย่างเยอรมนีที่เริ่มได้รับผลกระทบจากภาวะชะลอตัวของภูมิภาคยุโรป โดยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (พีเอ็มไอ) ภาคการผลิตของเยอรมนีในเดือน มี.ค. หดตัวลดลงที่ระดับ 49 จุด จากเดิมที่ 50.3 จุด ในเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา

ด้านสำนักงานสถิติแห่งชาติจีน (เอ็นบีเอส) เผยผลผลิตภาคอุตสาหกรรมประเทศในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ว่าอยู่ที่ระดับ 9.5% ซึ่งลดลง 2.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ขณะเดียวกันเมื่อพิจารณาเป็นรายเดือน แม้ว่าผลผลิตภาคอุตสาหกรรมในเดือน มี.ค.จะเพิ่มจากเดือน ก.พ. มาอยู่ที่ 8.9% แต่อัตราการขยายตัวกลับมีเพียง 0.66% เท่านั้น และนับเป็นการแสดงให้เห็นค่อนข้างแน่ชัดว่าเศรษฐกิจจีนเติบโตได้ช้าลงจนน่าหวั่นใจ

อย่างไรก็ตาม แม้สถานการณ์เศรษฐกิจโลกจะย่ำแย่เรื้อรังยากฟื้นคืนจากวิกฤตการเงิน แต่บรรยากาศการซื้อขายในตลาดหุ้นกลับเป็นไปในทิศทางตรงกันข้าม โดยนักลงทุนยังคงเดินหน้าหอบเงินเข้ามาลงทุนในตลาดอย่างต่อเนื่อง กระทั่ง สตีฟ ไบร์ซ หัวหน้านักกลยุทธ์การลงทุนจากสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด ประจำสิงคโปร์ ให้นิยามว่า โลกตอนนี้กำลังอยู่ในช่วงที่ตลาดหุ้นหอมหวานมากที่สุด

หรืออาจเรียกได้ว่า ขณะที่สหรัฐ จีน และยูโรโซน เติบโตได้อย่างน่าผิดหวังจนสะเทือนตลาดโภคภัณฑ์และผลตอบแทนของพันธบัตร ความอ่อนด้อยดังกล่าวกลับไม่ส่งผลใดๆ ต่อตลาดหุ้นเลยแม้แต่น้อย

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 29 เม.ย.ที่ผ่านมา ดัชนีเอสแอนด์พี 500 ในตลาดสหรัฐทำสถิติสูงสุดรอบใหม่ โดยปรับตัวเพิ่มขึ้น 11.37 จุด ปิดตลาดที่ 1,593.61 จุด เช่นเดียวกันกับดัชนีอุตสาหกรรมดาวโจนส์ ที่แม้ไม่ได้ทำสถิติสูงสุด แต่ก็ปรับเพิ่มขึ้นถึง 106.20 จุด มาอยู่ที่ 14,818.75 จุด

ด้านดัชนีเอ็มเอสซีไอของตลาดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ยกเว้นญี่ปุ่น ก็ไต่ระดับขึ้นด้วยเช่นกัน โดยเพิ่ม 1.1% ทำให้ดัชนีดังกล่าวทำสถิติสูงที่สุดในรอบ 7 เดือน

สำหรับในภูมิภาคยุโรป ความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นก็เป็นไปอย่างสดใสไม่แพ้กัน โดยดัชนีเอฟทีเอสยูโร 300 ตลอดทั้งเดือน เม.ย. เพิ่มขึ้น 1.3% กลายเป็นการปรับขึ้นอย่างต่อเนื่อง 11 เดือนติดต่อกัน

ขณะที่เมื่อพิจารณาโดยรวมทั่วโลก ดัชนีเอ็มเอสซีไอของตลาดหุ้นทั่วโลกปรับเพิ่มขึ้น 0.2% รวมอยู่ที่ 367.96 จุด ซึ่งเป็นระดับเดียวกันกับในช่วงเดือน มิ.ย. 2551 ก่อนที่จะเกิดวิกฤตการเงิน

หรือสรุปให้เข้าใจง่ายขึ้นก็คือ เม็ดเงินที่ธนาคารกลางอัดเข้าระบบเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจทำให้ตลาดหุ้นไปได้ดี แต่ไม่ได้ส่งผลต่อการปรับปรุงพัฒนาในภาคเศรษฐกิจจริงใดๆ ยืนยันได้จากตัวเลขการเติบโตแต่ละประเทศที่เชื่องช้าและอ่อนแอ

นักวิเคราะห์ นักกลยุทธ์ และผู้เชี่ยวชาญเกือบทุกสำนักต่างลงความเห็นตรงกันว่า เหตุผลสำคัญที่สุดที่นักลงทุนเลือกที่จะเมินเฉยต่อการเติบโตที่อ่อนแอ เนื่องจากเชื่อมั่นอย่างแรงกล้าว่าเฟดจะเดินหน้าใช้มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (คิวอี) ต่อไป และอีซีบีมีแนวโน้มจะตัดลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจากอัตราปัจจุบันซึ่งอยู่ที่ 0.75% ขณะที่ธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) จะไม่ส่งสัญญาณยกเลิกมาตรการทุ่มซื้อพันธบัตรของตนเองออกมาในช่วงระยะเวลาอันใกล้นี้แน่นอน

เจย์ เฟล์ดแมน ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจสหรัฐของเครดิตสวิส ประจำนครนิวยอร์ก กล่าวว่า การเติบโตที่ค่อนข้างอ่อนแอของสหรัฐ รวมถึงตลาดแรงงานที่มีการจ้างงานเพิ่มอย่างไม่สม่ำเสมอ จนอัตราการว่างงานยังไม่สามารถปรับลดลงได้ ทำให้คณะกรรมการนโยบายการเงินของเฟดต้องคงนโยบายคิวอีตามที่เคยรับปากไว้ว่าจะใช้จนกว่าอัตราว่างงานประเทศจะอยู่ในระดับต่ำกว่า 6.5%

ในส่วนของยุโรป นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่เห็นว่าท่ามกลางสถานการณ์ที่เฟด บีโอเจ หรือธนาคารกลางอังกฤษ (บีโออี) เดินหน้าใช้นโยบายการเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างเต็มที่ อีซีบี ย่อมไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากจะต้องทำตามบ้าง เมื่อเศรษฐกิจของภูมิภาคยังไม่มีวี่แววว่าจะฟื้นขึ้นมาได้

สตีเฟน คิง หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของเอชเอสบีซี ในกรุงลอนดอน กล่าวว่า หลังจากที่ยืนกรานเสียงแข็งมานาน อีซีบีเริ่มหันกลับมาพิจารณามาตรการผ่อนคลายบ้างแล้ว โดยตัวแปรสำคัญมาจากเศรษฐกิจของประเทศ หัวเรือใหญ่อย่างเยอรมนี ที่เริ่มได้รับผลกระทบแล้วเช่นกัน เห็นได้จากดัชนีพีเอ็มไอประเทศที่ปรับตัวลดลง

ท่ามกลางเศรษฐกิจยุโรปที่อ่อนแอและอ่อนล้ายากเยียวยา อีซีบีจึงมีเหตุผลที่จะตัดลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย โดยหลายฝ่ายคาดว่าอีซีบีจะประกาศตัดลดอีก 0.25% ภายในสัปดาห์นี้ หรือหากไม่มีการประกาศเปลี่ยนแปลงใดๆ นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่เห็นว่าอีซีบีจะตัดลดในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้านี้แน่นอน

ริชาร์ด ไดรฟ์เวอร์ นักวิเคราะห์ตลาดค่าเงินจากแค็กซ์ตัน เอฟเอ็กส์ ยอมรับว่า จะรู้สึกประหลาดใจมากกว่า หากอีซีบีไม่ตัดลดอัตราดอกเบี้ย เพราะอีซีบีไม่น่าจะรอให้สถานการณ์ย่ำแย่ไปมากกว่าในขณะนี้อีกแล้ว ถึงจะลงมือทำอะไรสักอย่าง

ทั้งนี้ มองในมุมหนึ่ง ย่อมถือเป็นเรื่องธรรมดาที่ธนาคารกลางของแต่ละประเทศจะออกนโยบายเพื่อช่วยผลักดันให้เศรษฐกิจโต แต่หากมองอีกมุมหนึ่ง การใช้วิธีการดังกล่าวไปต่อเนื่องนานๆ ได้ทำให้นักลงทุนหรือแม้กระทั่งประเทศที่เกิดวิกฤต ตกอยู่ในอาการคล้ายเด็กที่โดน “เอาใจ” หรือ “สปอยล์” อย่างหนัก จนเสียนิสัย เพราะเริ่มเคยตัวและติดอยู่กับการรอความช่วยเหลือจากธนาคารกลางที่ต้องออกมาตรการมาจัดการ ซึ่งอาจส่งผลให้ธนาคารกลางทั้งหลายไม่อาจถอนตัวเลิกใช้มาตรการผ่อนคลายต่างๆ ได้

ท้ายที่สุด เศรษฐกิจโลกอาจหลุดเข้าสู่วงจรที่ต้องอาศัยนโยบายเครื่องมือทางการเงินต่อไปอย่างไม่มีวันจบสิ้น แถมยังไม่มีการรับรองใดๆ อีกว่ามาตรการดังกล่าวจะช่วยผลักดันให้เศรษฐกิจโลกเติบโตได้อย่างยั่งยืนจริง