posttoday

หนี้ครัวเรือนไทยเริ่มวิกฤต

08 เมษายน 2556

ข้อมูลที่สำนักงานสถิติแห่งชาติ เปิดเผยผลสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนปี 2555 โดยระบุว่า ขณะนี้ความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยและคนจนเพิ่มขึ้นจนน่าตกใจ

โดย...บากบั่น บุญเลิศ

ข้อมูลที่สำนักงานสถิติแห่งชาติ เปิดเผยผลสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนปี 2555 โดยระบุว่า ขณะนี้ความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยและคนจนเพิ่มขึ้นจนน่าตกใจ

เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการอุปโภคบริโภคต่อคนต่อเดือนของคนรวย 20% แรกของประเทศสูงกว่าค่าใช้จ่ายอุปโภคบริโภคของคนจน 20% แรกของประเทศถึง 7 เท่า เทียบกับปี 2554 ที่ห่างกันแค่ 6.3 เท่า

โดยกลุ่มคนรวย 20% บนสุดของประเทศ มีรายจ่ายอุปโภคบริโภคต่อคนต่อเดือนเพิ่มจาก 12,109 บาท ในปี 2554 เป็น 13,867 บาท เพิ่มขึ้น 0.7%

ขณะที่ส่วนคนจน 20% ล่างสุดของประเทศ มีรายจ่ายเพิ่มจาก 1,930 บาท ในปี 2554 เป็น 1,985 บาท หรือเพิ่มขึ้น 0.5%

ขณะที่กลุ่มคนชั้นกลาง 3 กลุ่ม พบว่ารายจ่ายอุปโภคบริโภคต่อคนต่อเดือนอยู่ที่ 2,983-5,829 บาท ในปี 2554 เพิ่มเป็น 3,144-6,569 บาท ในปี 2555 น้อยกว่ากลุ่มคนรวย 20% แรกของประเทศ 2-6 เท่า

ข้อมูลเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำในการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคของกลุ่มคนรวย กลุ่มคนชั้นกลาง และคนจน 20% ล่างสุดของประเทศอย่างชัดเจน

ขณะเดียวกันก็สะท้อนภาพของรวยกระจุกจนกระจายได้อย่างชัดเจน

ยิ่งพิจารณาจากข้อมูลที่ วิบูลย์ทัต สุทันธนกิตติ์ ผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ ระบุว่า ในปี 2555 ครัวเรือนไทยทั่วประเทศมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 18,766 บาทต่อเดือน โดยค่าใช้จ่าย 34.1% เป็นค่าใช้จ่ายอาหารและเครื่องดื่ม

รองลงมา เป็นค่าที่อยู่อาศัยและเครื่องใช้ในบ้าน 20% ค่าใช้จ่ายเดินทางและยานพาหนะ 19.3% ของใช้ส่วนบุคคล 5.4% ค่าสื่อสาร 3.1%

ส่วนค่าใช้จ่ายที่ไม่เกี่ยวกับบริโภค เช่น ค่าภาษี ของขวัญ เบี้ยประกันภัย ซื้อหวยและสลากกินแบ่งรัฐบาล และดอกเบี้ยคิดเป็นสัดส่วน 11.7%

จะเห็นได้ว่า คนที่จนสุดมีภาระในการใช้จ่ายเพื่อการดำรงชีพที่สูงกว่าคนรวยมาก และเมื่อพิจารณาจากฐานรายได้ พบว่า คนจนเริ่มมีรายได้ไม่พอจ่ายมากขึ้น

สถานการณ์ในยามนี้ต้องบอกว่า สังคมไทยน่าเป็นห่วงในหลายประเด็น เริ่มจากปัญหาหนี้ครัวเรือนมีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในงวดเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา ยอดค้างสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภครวมมูลค่าถึง 2.9 ล้านล้านบาท ซึ่งกว่า 21% เป็นการเพิ่มขึ้นในกลุ่มสินเชื่อซื้อรถยนต์ สินเชื่อซื้อรถจักรยานยนต์ 33% และสินเชื่อเพื่อบริโภคส่วนบุคคล 29%

ที่สำคัญตัวเลขผิดนัดชำระหนี้ยังคงอยู่ในระดับสูง โดยการผิดนัดชำระหนี้เกิน 3 เดือนของสินเชื่อภายใต้การกำกับของธนาคารแห่งประเทศไทยนั้นเพิ่มขึ้นถึง 28% ส่วนสินเชื่อบัตรเครดิตมีอัตราผิดนัดชำระเฉลี่ยอยู่ในระดับ 3%

นอกจากนี้ตัวเลขหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือหนี้เสีย (เอ็นพีแอล) จากสินเชื่ออุปโภคบริโภคส่วนบุคคลที่เพิ่มขึ้น 20.5%

สะท้อนภาพชัดเจนว่า ภาคครัวเรือนอยู่ในภาวะชักหน้าไม่ถึงหลัง

ยิ่งเมื่อพิจารณาเปรียบเทียบอัตราการออมของภาคครัวเรือนที่พบว่ากลับลดต่ำเพียง 5% ของผลผลิตมวลรวมประชาชาติ (จีดีพี) เท่านั้น

โดยจากข้อมูลในปี 2554 บ่งชี้ว่า ครัวเรือนไทย 9.09 ล้านครัวเรือน หรือประมาณ 54% ไม่มีความสามารถในการออม

ถ้าพิจารณาขีดความสามารถในการออมของคนไทยในปัจจุบันนั้น จะพบว่าใกล้เคียงกับปี 2540 ซึ่งเป็นช่วงฟองสบู่เศรษฐกิจไทยแตก

ขณะนั้นภาคครัวเรือนของไทยมีเงินออมต่อจีดีพีคิดเป็น 4.9% ต่อมาเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวขึ้น ระหว่างปี 2541-2549 ปรากฏค่าเฉลี่ยตัวเลขเงินออมภาคครัวเรือนต่อจีดีพีขยับขึ้นมาอยู่ที่ 6.13%

ดังนั้น อัตราการออมของภาคครัวเรือนที่ยืนอยู่ในระนาบ 5.3% ในปัจจุบันจึงเป็นการส่งสัญญาณให้รัฐบาลและคนไทยตระหนักในภารกิจสร้างเงินออมรับมือการลงทุนในอนาคต

เรื่องแบบนี้นักเศรษฐกิจและนักเศรษฐศาสตร์ต่างทราบดีว่า มันมีปัญหาในเชิงโครงสร้างที่รัฐบาลต้องเร่งแก้ไขแต่เนิ่นๆ ก่อนที่ปราสาททรายจะพังทลายลงมา

เพราะตามทฤษฎีเศรษฐศาสตร์สำนักเคนส์ เมื่อใดที่เงินออมน้อยกว่าเงินลงทุน แสดงว่ากำลังอยู่ในห้วงของการขาดแคลนเงินออม หรืออาจมีการลงทุนที่มากจนเกินไป ซึ่งอาจทำให้เศรษฐกิจของประเทศในยามนั้นร้อนเกินไป จนอาจเกิดโอเวอร์ฮีตหรือฟองสบู่ได้

และเมื่อใดที่อัตราเงินออมมากกว่าเงินลงทุน แสดงว่าคนหวาดกลัวการลงทุนและการว่างงานเพิ่มขึ้น รัฐบาลจะต้องกระตุ้นการลงทุนภาครัฐ

นี่คือโจทย์ที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร หัวหน้าทีมเศรษฐกิจของรัฐบาล และธนาคารแห่งประเทศไทยจะต้องเข้าไปดูแลอย่างใกล้ชิด

เพราะในยามนี้ครัวเรือนผู้มีรายได้น้อยกลายเป็นเพียงกลุ่มเดียวที่ก่อหนี้เพิ่มขึ้น โดยมีหนี้สินเฉลี่ยที่ 28,883 บาทต่อครัวเรือนต่อปี หนี้เพิ่มขึ้น 6.1 เท่าตัว จากฐานปี 2552 ที่มีภาระค่าใช้จ่ายและหนี้สินต่อรายได้เป็น 1.9 เท่า

ขณะที่ผู้มีรายได้ระดับสูงกลับมีการก่อหนี้ลดลง 8.8% มีภาระค่าใช้จ่ายและหนี้สินต่อรายได้แค่ 1.1 เท่า

ดังนั้น หากมีปัจจัยเสี่ยงทางเศรษฐกิจที่กระทบรายได้ อาจกระทบต่อมาตรฐานการครองชีพและความสามารถในการชำระหนี้ของกลุ่มผู้มีรายได้น้อยอย่างรุนแรง

ขณะที่ภาพรวมตลอดทั้งปี 2555-2556 พบว่าอัตราการก่อหนี้ครัวเรือนพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการกู้สินเชื่อเพื่อซื้อรถยนต์ตามนโยบายรถคันแรกของรัฐบาล

ขณะที่นโยบายลดภาษีให้กับผู้ซื้อรถคันแรกของรัฐบาลทำให้มีผู้ถอยรถป้ายแดงถึงกว่า 1 ล้านคัน ออกมาวิ่งตามท้องถนน ซึ่งนอกจากทำให้รถที่ติดอยู่แล้ววิกฤตมากยิ่งขึ้น แล้วยังทำให้รัฐมีภาระทางการคลังนับแสนล้านบาท เพื่อสร้างคะแนนนิยมทางการเมืองให้พรรคการเมือง โดยที่ไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศแม้แต่น้อย และยังเป็นการเผาผลาญพลังงานสวนทางกับนโยบายประหยัดพลังงานของรัฐบาลเป็นอย่างยิ่ง

นอกจากหนี้ครัวเรือนแล้ว ในส่วนของรัฐบาลนับตั้งแต่เข้ามาบริหารประเทศนานเพียง 1 ปี 6 เดือน แต่กลับใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดินอย่างมือเติบและก่อหนี้สาธารณะให้กับประเทศสูงเป็นประวัติศาสตร์คิดเป็นมูลค่ากว่า 3 ล้านล้านบาท ไปกับสารพัดโครงการประชานิยมและโครงการขนาดใหญ่ ซึ่งจะกลายเป็นภาระแก่คนรุ่นหลัง

สารพัดโครงการประชานิยมของรัฐบาลกำลังกลายเป็นต้นไม้พิษที่กำลังผลิดอกออกผลให้กับเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งหนี้ภาคครัวเรือนตลอดจนหนี้ของประเทศที่พุ่งสูงขึ้น

นี่คือผลสืบเนื่องจากที่รัฐบาลเข็นโครงการประชานิยมที่ล้วนเพิ่มภาระในการก่อหนี้ให้ภาคครัวเรือน แทนที่จะสนับสนุนให้ครัวเรือนไทยรู้จักวางแผนการเงินและรู้จักการออม รู้จักการใช้จ่ายอย่างประมาณตนแทบทั้งสิ้น

พิษไข้ที่กำลังก่อตัวขึ้นมาแบบนี้ ไม่แก้ไขไม่ได้แล้ว