posttoday

2013 ดอกบี้ยขาขึ้น-ยุติวิคิวอี กูรูจับตาระเบิดฟองสบู่ตลาดบอนด์มะกัน

07 มกราคม 2556

นอกจากประเด็นเศรษฐกิจหลักๆ ไล่เรียงตั้งแต่เรื่องหน้าผาการคลังและเพดานหนี้ของสหรัฐ เรื่องวิกฤตหนี้สาธารณะของยุโรป

นอกจากประเด็นเศรษฐกิจหลักๆ ไล่เรียงตั้งแต่เรื่องหน้าผาการคลังและเพดานหนี้ของสหรัฐ เรื่องวิกฤตหนี้สาธารณะของยุโรป

โดย...นงลักษณ์ อัจนปัญญา

เรื่องปัญหาเงินฝืดของญี่ปุ่น ไปจนถึงเรื่องเศรษฐกิจชะลอตัวของจีน ที่ต้องจับตามองอย่างใกล้ชิดในปีนี้แล้ว อีกหนึ่งประเด็นที่ไม่อาจคลาดสายตาได้เช่นกัน ก็คือ ภาวะฟองสบู่ในตลาดพันธบัตร (Bond Bubble Bursting) ที่อาจจะใกล้เวลาระเบิดในปี 2556 นี้

หรืออาจพูดได้ว่า สถานการณ์ขนาดใหญ่ทางเศรษฐกิจที่สามารถคาดหวังได้ต่อจากนี้ไปก็คือ สถานการณ์ที่ฟองสบู่ในตลาดพันธบัตรสหรัฐกำลังจะแตกนั่นเอง

ทั้งนี้ บรรดานักวิเคราะห์และนักเศรษฐศาสตร์ทั่วโลกต่างตระหนักดีว่า ตลาดพันธบัตรสหรัฐตกอยู่ในภาวะฟองสบู่มานานแล้ว โดยเป็นผลพวงจากการที่มหาอำนาจอันดับหนึ่งของโลก หันมาเสริมสภาพคล่องอัดฉีดเงินเข้าระบบขนานใหญ่หลายระลอก ด้วยการทุ่มซื้อพันธบัตรหรือตราสารหนี้ของรัฐอย่างหนักหน่วง เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

การใช้นโยบายข้างต้นหรือที่รู้จักกันดีในชื่อว่า นโยบายผ่อนคลายเชิงปริมาณ (คิวอี) รอบแล้วรอบเล่าของสหรัฐ ควบคู่ไปกับการกดอัตราดอกเบี้ยผลตอบแทนให้อยู่ในระดับต่ำ แม้จะทำให้เศรษฐกิจกระเตื้องได้ดีขึ้นช่วงสั้นๆ แต่ก็เอื้อให้เกิดการเก็งกำไรค่อนข้างรุนแรงในหมู่นักลงทุนที่กำลังหาทางหนีจากตลาดเงินตลาดทุน เพื่อหาแหล่งทำเงินใหม่ๆ

หลักฐานยืนยันก็คือ ผลสำรวจจากบริษัท อีพีเอฟอาร์ ซึ่งคอยติดตามทิศทางการไหลของกระแสทุน พบว่าตั้งแต่ปี 2551 นักลงทุนโดยเฉพาะนักลงทุนรายย่อยทุ่มเงินลงไปในตลาดพันธบัตรแล้วเกือบ 2.1 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ขณะเดียวกันก็ดึงเงินออกจากตลาดหุ้นเกือบ 7 แสนล้านเหรียญสหรัฐ และเฉพาะปี 2555 นักลงทุนเพิ่มการลงทุนในตลาดพันธบัตรแล้วมากกว่า 9 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่ดึงเงินออกจากตลาดทุนมากกว่า 1.5 แสนล้านเหรียญสหรัฐ

ปริมาณมากมายข้างต้นส่งผลให้เกิดฟองสบู่ในตลาดพันธบัตรในที่สุด

ทั้งนี้ นักเศรษฐศาสตร์ส่วนหนึ่งเริ่มเห็นสัญญาณเตือนแล้วว่า ฟองสบู่ในตลาดพันธบัตรใกล้จะได้เวลาแตกแล้วในอนาคตอันใกล้ โดยสัญญาณบ่งชี้หลักที่น่าหวาดหวั่นไม่น้อยก็คือ แนวโน้มการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ย

ข้อมูลจากผลการสำรวจบรรดาผู้จัดการการเงินและนักกลยุทธ์การลงทุนจากสถาบันชั้นนำจำนวน 32 คน โดยซีเอ็นเอ็น มันนี่ เมื่อไม่นานมานี้ พบว่าเกือบ 40% ของผู้ตอบแบบสอบถามล้วนเห็นตรงกันว่า อัตราดอกเบี้ยของสหรัฐมีแนวโน้มจะปรับตัวขึ้นภายในปีนี้ ขณะที่อีก 30% เห็นว่าอัตราดอกเบี้ยจะเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นในปี 2554 ซึ่งเร็วกว่าระยะเวลาที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) คาดการณ์ไว้ก่อนหน้า

เฟดคาดว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยหลักที่มีผลต่ออัตราดอกเบี้ยอื่นๆ ทั้งหมด ไม่น่าจะปรับขึ้นจนกว่าจะถึงปี 2558 ซึ่งเป็นระยะเวลาที่เฟดเห็นพ้องว่าเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศน่าจะกระเตื้องขึ้นดีพอที่จะยุติมาตรการคิวอี หรือมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจตัวอื่นๆ เสียที

เจฟฟ์ เวนิเจอร์ นักวิเคราะห์การลงทุนอาวุโสจากธนาคารพาณิชย์บีเอ็มโอ กล่าวว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายซึ่งอยู่ในระดับต่ำที่สุดที่ 00.25% จนทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรต่ำไปด้วยนี้ น่าจะได้เวลาปรับตัวเพิ่มขึ้นได้แล้ว แต่ไม่ว่าจะปรับขึ้นภายในปีนี้ ปีหน้า หรือปี 2558 ก็ไม่น่าวิตกเท่ากับความจริงที่ว่า จะมีการขาดทุนแบบมหาศาลของนักลงทุนจำนวนมากที่เข้าไปลงทุนก่อนหน้านี้

ทั้งนี้ การลงทุนในตลาดพันธบัตรนี้ นักลงทุนจะไม่ลงทุนแน่นอน หากว่าอัตราดอกเบี้ยผลตอบแทนปรับสูงขึ้น เพราะบรรดานักลงทุนเหล่านั้นจะตกอยู่ในภาวะขาดทุนอย่างรุนแรง หากว่าจะขายในช่วงที่ดอกเบี้ยสูงขึ้น เนื่องจากมูลค่าของพันธบัตรจะลดลงถ้าดอกเบี้ยผลตอบแทนสูง

ต้องเข้าใจว่า มูลค่าของพันธบัตรจะแพงหรือว่าถูกนั้น ส่วนหนึ่งพิจารณาจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตร ยิ่งอัตราผลตอบแทนต่ำเท่าไรมูลค่าของพันธบัตรก็ยิ่งมีมาก หรือแพงมากเท่านั้น ขณะที่ผลตอบแทนสูงมูลค่าพันธบัตรกลับถูกลง เพราะนักลงทุนต้องแบกรับความเสี่ยงจากการขาดทุนที่สูงมากตามไปด้วย

ขณะนี้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะเวลา 10 ปี ขยับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 1.91% หลังจากที่เคยทำสถิติต่ำสุด 1.4% ในเดือน ก.ค.ปีที่แล้ว โดยนักวิเคราะห์คาดว่าผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐมีแนวโน้มจะปรับเพิ่มขึ้นแตะระดับ 22.1% ในปีนี้ และอาจเพิ่มขึ้นไปสูงถึง 34% หากว่าเศรษฐกิจของสหรัฐฟื้นตัวได้ดีทันใจ ขณะที่อัตราว่างงานต่ำกว่า 6%

เหตุเพราะสถานการณ์ข้างต้นถือเป็นเงื่อนไขหลักให้เฟดยุติมาตรการทุ่มซื้อพันธบัตรของตนเองทันที จนส่งผลให้ผลตอบแทนพุ่งขึ้นแต่มูลค่าพันธบัตรกลับลดลง เพราะปริมาณความต้องการพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐลดฮวบทันที

ถือเป็นสัญญาณเสี่ยงอีกตัวที่ไม่อาจมองข้ามได้ ยิ่งเมื่อเฟดเริ่มมีการพูดคุยว่าอาจจะยุตินโยบายคิวอีภายในปี 2556 ก็ยิ่งทำให้อัตราดอกเบี้ยผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐมีโอกาสปรับตัวสูงขึ้นภายในปีนี้

ไรอัน เดอทริก นักวิเคราะห์อาวุโสจากบริษัทวิจัยด้านการลงทุน แชเฟอร์ อธิบายว่า สิ่งที่อันตรายที่สุดก็คือ การที่มีผู้ถือบอนด์รัฐบาลสหรัฐอยู่จำนวนมากในปัจจุบัน เพราะนักลงทุนเหล่านั้นซื้อไว้ในช่วงที่มีอัตราผลตอบแทนต่ำแต่ราคาแพง

“ยกตัวอย่างเช่น ถ้าคุณซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี เมื่อวันที่ 6 ธ.ค. ซึ่งมีผลตอบแทนอยู่ที่ 1.59% มูลค่ารวม 1 แสนเหรียญสหรัฐ ถ้าคุณนำออกมาขายเดือนนี้ ตอนนี้คุณจะขาดทุนแล้ว 2,900 เหรียญสหรัฐ” เดอทริก กล่าว

เรียกได้ว่า หากอัตราดอกเบี้ยมีการปรับเพิ่มจนส่งผลต่ออัตราดอกเบี้ยผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ บรรดานักลงทุนที่ซื้อไว้ก่อนหน้าในช่วงที่พันธบัตรราคาแพงเพื่อเก็งกำไร ย่อมต้องรีบเทขายออกมาเป็นการด่วนจนฟองสบู่ในตลาดพันธบัตรที่มีอยู่ในขณะนี้แตก และกลายเป็นวิกฤตเศรษฐกิจอีกระลอกในที่สุด

ทั้งนี้ แม้จะยังไม่มีนักวิเคราะห์จากสำนักใดออกมายืนกรานหนักแน่นได้ว่า ฟองสบู่ตลาดพันธบัตรจะแตกภายในปี 2556 นี้ แต่การที่อัตราดอกเบี้ยผลตอบแทนมีแนวโน้มขยับปรับตัวเพิ่มขึ้นในปีนี้ ย่อมทำให้ความเสี่ยงที่ฟองสบู่จะแตกเป็นเรื่องที่ต้องเฝ้าระวังและตามติดอย่างใกล้ชิดตลอดทั้งปีแน่นอน