posttoday

เข้าโค้งสุดท้าย ฟิสคัล คลิฟ มะกันตั้งรับ หวั่น "ตกหน้าผา"

31 ธันวาคม 2555

แม้คนทั่วโลกจะอยู่ในบรรยากาศแห่งการเฉลิมฉลองเตรียมต้อนรับปีใหม่กันอย่างครึกครื้นในวันส่งท้ายปีเก่า 31 ธ.ค.นี้

แม้คนทั่วโลกจะอยู่ในบรรยากาศแห่งการเฉลิมฉลองเตรียมต้อนรับปีใหม่กันอย่างครึกครื้นในวันส่งท้ายปีเก่า 31 ธ.ค.นี้

โดย...นันทิยา วรเพชรายุทธ

ทว่า สำหรับนักการเมืองสหรัฐและผู้กำหนดนโยบายเศรษฐกิจทั่วโลกแล้ว นี่คือวันส่งท้ายปีเก่าที่น่าระทึกมากที่สุดครั้งหนึ่ง เมื่อรัฐบาลและฝ่ายค้านในสหรัฐยังไม่สามารถเจรจาผ่าปัญหา “หน้าผาทางการคลัง”(ฟิสคัล คลิฟ) ไปได้ ทั้งที่มีกำหนดเส้นตายภายในเวลา 23.59 น. ของวันสุดท้ายแห่งปี 2555 นี้

เมื่อพิจารณาจากท่าทีของฝ่ายรัฐบาลประธานาธิบดี บารัก โอบามา ฝ่ายค้านพรรครีพับลิกัน และบรรดาผู้เชี่ยวชาญทางเศรษฐกิจแล้ว งานนี้มีแนวโน้มเป็นไปได้สูงทีเดียวว่า สหรัฐอาจจะ“ตกหน้าผา” หรือเจรจาเรื่องขึ้นภาษีและลดรายจ่ายกันไม่ทันเส้นตายวันนี้

เพราะนับตั้งแต่ที่โอบามายอมหั่นแผนวันหยุดคริสต์มาสกับครอบครัวเพื่อบินด่วนไปเจรจาแก้ฟิสคัล คลิฟ กับผู้แทนพรรคฝ่ายค้านที่นำโดยมิตช์ แม็คคอนเนล ประธานวิปฝ่ายค้านในวุฒิสภา ตั้งแต่สุดสัปดาห์ที่เพิ่งผ่านมา ก็ยังไม่ปรากฏให้เห็นความคืบหน้าด้านบวกใดๆ เลยว่าทั้งสองพรรคจะสามารถผ่าทางตันทางการเมืองเพื่อผลประโยชน์ของชาติได้ทันกำหนดเส้นตาย

ตรงกันข้าม ความคืบหน้าที่ปรากฏออกมาให้เห็นกลับเป็น “แผนฉุกเฉินรับมือการตกหน้าผา” ที่ทั้งสองฝ่ายดูจะเห็นพ้องตกลงกันได้มากกว่าการแก้หน้าผาทางการคลัง

รอยเตอร์สได้อ้างแหล่งข่าวที่เกี่ยวข้องกับการเจรจาว่า ผู้แทนจากพรรคเดโมแครตและรีพับลิกันกำลังเจรจาความเป็นไปได้ที่จะดำเนินการทุกวิถีทางเพื่อ “เลื่อน” การลดรายจ่ายต่างๆ ของภาครัฐในวงเงินราว 1.09 แสนล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 3.3 ล้านล้านบาท) ออกไปอีก 12 เดือนนี้

การเจรจาดังกล่าวหมายความว่า ทั้งสองพรรคคงไม่สามารถตกลงปัญหาฟิสคัล คลิฟ และขยายเพดานหนี้สหรัฐได้ทันเส้นตายปีนี้ ซึ่งจะทำให้กฎหมายลดหย่อนภาษีให้ชาวอเมริกันผู้มีรายได้ต่ำกว่าปีละ 1 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 30.5 ล้านบาท) หมดอายุลงโดยอัตโนมัติในปี 2555 ซึ่งตามกฎหมายสหรัฐแล้ว จะส่งผลให้รัฐบาลต้องกลับมาขึ้นภาษีและลดงบประมาณรายจ่ายต่างๆ ลงโดยทันทีในวันที่ 1 ม.ค. 2556 และจะทำให้มีเงินหายออกไปจากระบบเศรษฐกิจสหรัฐมากถึงราว 6 แสนล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 18.3 ล้านล้านบาท)

เมื่อมองเห็นถึงแนวโน้มความล้มเหลว ทั้งสองพรรคจึงเริ่มหันมาคุยแผนสำรองที่จะเลื่อนการตัดลดรายจ่ายของภาครัฐออกไป หรือไม่ให้เกิดขึ้นทันทีในวันที่ 1 ม.ค.นี้ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความสับสนวุ่นวายอย่างหนักภายในหน่วยงานของรัฐบาล

รายงานข่าวของหลายสำนักที่ติดตามความเคลื่อนไหวการเจรจาฟิสคัล คลิฟ อย่างไม่กะพริบตา อาทิ รอยเตอร์ส ได้ถ่ายทอดความเห็นของผู้ที่เข้าร่วมการเจรจาออกมาในทิศทางเดียวกันว่า อาจไม่มีข่าวดีให้ได้ชื่นใจกันอย่างที่หวัง

เพราะเป็นที่ชัดเจนว่ารัฐบาลพรรคเดโมแครตไม่มีทางยอมให้ขึ้นภาษีที่เพดานรายได้ 1 ล้านเหรียญสหรัฐขึ้นไป ตามที่พรรคฝ่ายค้านรีพับลิกันเสนอไปก่อนหน้านี้ ขณะที่ทางพรรครีพับลิกันโดยเฉพาะฝ่ายขวาจัดในพรรคนั้น ก็ดูจะไม่มีทางอ่อนข้อให้กับรัฐบาลซึ่งเสนอขึ้นภาษีที่เพดาน 4 แสนเหรียญสหรัฐ (ยอมปรับจากข้อเรียกร้องเดิมที่ 2.5 แสนเหรียญสหรัฐ)

รายงานระบุว่า พรรครีพับลิกันนำโดย จอห์น โบห์เนอร์ ซึ่งเป็นทั้งประธานวิปฝ่ายค้านและประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ (สภาล่าง) อาจพยายามถ่วงเรื่องการแก้ปัญหาฟิสคัล คลิฟ ออกไปจนกว่าจะผ่านพ้นวันที่ 3 ม.ค. 2556 เพราะโบห์เนอร์ต้องการให้ได้รับโหวตเป็นประธานสภาล่างต่ออีกสมัยก่อน ซึ่งจำเป็นต้องได้รับเสียงสนับสนุนจากเพื่อนร่วมพรรคทั้งที่เป็นสายกลางและสายเหยี่ยวขวาจัด จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่าเหตุใดผู้นำวิปฝ่ายค้านจึงไม่ยอมออกโรงกดดันเพื่อนร่วมพรรคให้ประนีประนอมเรื่องการขึ้นภาษีในช่วงนี้

ขณะเดียวกัน แม้การเจรจาครั้งใหม่ที่นำโดย แม็คคอนเนล ประธานวิปฝ่ายค้านในสภาสูงจากรีพับลิกัน และแฮร์รี รีด ประธานวิปรัฐบาลในสภาสูงเช่นเดียวกัน จะสามารถตกลงเรื่องเพดานการขึ้นภาษีได้ แต่ก็ยังมีข้อตกลงปลีกย่อยอื่นๆ ที่คาดว่าไม่น่าจะหาทางออกร่วมกันได้ง่ายๆ เช่น มาตรการพักภาษีให้บริษัทที่สนับสนุนงานด้านการวิจัยและการพัฒนา (อาร์แอนด์ดี) เป็นต้น

ทั้งนี้ สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาในปีหน้าภายหลังการตกหน้าผาทางการคลังก็คือ ชาวอเมริกันทุกระดับชั้นจะเผชิญการขึ้นภาษีกันถ้วนหน้าอย่างพร้อมเพรียง

สำหรับกลุ่มผู้มีรายได้ต่ำไปจนถึงรายได้สูงไม่เกิน 1 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี ซึ่งถือเป็นกลุ่มชนชั้นกลางที่มีจำนวนมากที่สุดในสหรัฐนั้น มาตรการลดหย่อนภาษีให้คนกลุ่มนี้ซึ่งมีมาตั้งแต่สมัยอดีตประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู. บุช จะหมดอายุลงในวันที่ 31 ธ.ค. โดยเงินช่วยเหลือส่วนนี้นั้นมีจำนวนมหาศาลถึงปีละ 5 แสนล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 15.2 ล้านล้านบาท) ส่งผลให้กลุ่มผู้มีรายได้ในขั้นต่ำสุด ต้องเสียภาษีเพิ่มจากเดิม 10% ไปเป็น 15%

ขณะที่กลุ่มผู้มีรายได้สูงสุดนั้น ต้องเจอการขึ้นภาษีจากระดับ 35.8% ในปัจจุบัน พุ่งขึ้นไปเป็น 39.6% เลยทีเดียว

ขณะเดียวกัน ภาครัฐก็ต้องตัดลดงบประมาณรายจ่ายลงถึงปีละประมาณ 1.09 แสนล้านเหรียญสหรัฐ โดยครึ่งหนึ่งนั้นเป็นงบประมาณด้านการทหาร และที่เหลือเป็นงบประมาณในด้านอื่นๆ ผสมกันไป อาทิ การศึกษาและสาธารณสุข โดยเฉพาะงบด้านสวัสดิการสำหรับผู้สูงอายุ

นอกจากจะกระทบชนชั้นกลางอเมริกันโดยถ้วนหน้าแล้ว แม้แต่คนตกงานก็ยังโดนร่างแหไปด้วย เพราะหนึ่งในมาตรการที่จะหมดอายุในวันสิ้นปี 2555 นี้ก็คือ เงินสิทธิประโยชน์ช่วยเหลือผู้ว่างงาน ที่มอบให้คนละ 300 เหรียญสหรัฐต่อสัปดาห์ ซึ่งหากถูกยกเลิกไปโดยอัตโนมัติก็จะกระทบต่อคนว่างงานกลุ่มนี้ราว 2 ล้านคนทันที

นักวิเคราะห์บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเซีย พลัส คาดว่าทางออกที่เป็นไปได้ในสิ้นปีนี้สำหรับการเจรจาเรื่องหน้าผาการคลังสหรัฐคือ การบังคับใช้มาตรการพิเศษของกระทรวงการคลังเพื่อลดรายจ่ายของภาครัฐชั่วคราว ที่น่าจะซื้อเวลาให้ฝ่ายนิติบัญญัติของสหรัฐได้ประมาณ 2 เดือน และกลับมาหาทางแก้ปัญหาอีกครั้งในเดือน ก.พ. 2556

ทั้งนี้ หากสถานการณ์ออกมาในรูปแบบนี้ แปลว่าหน้าผาการคลังยังคงบั่นทอนความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ และน่าจะกลับมากดดันตลาดหุ้นโลกให้พักฐานในช่วงต้นปี 2556 เนื่องมาจากการไหลออกของเงินทุนต่างชาติ

ขณะที่นักวิเคราะห์ บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส คาดว่า หากสหรัฐสามารถหลีกเลี่ยงปัญหาหน้าผาการคลังไปได้ ก็มีโอกาสที่เกิดปรากฏการณ์หุ้นขึ้นในเดือน ม.ค.ปีหน้านี้

เพราะหากสามารถผ่านพ้นไปได้ ก็จะทำให้มีแรงซื้อกลับมาอย่างถล่มทลาย หลังจากที่ตลาดหุ้นสหรัฐปิดตลาดในสัปดาห์สุดท้ายของปี 2555 ในแดนลบมาตลอดทั้ง 5 วันติดต่อกันทั้งสัปดาห์โดยดัชนีอุตสาหกรรมดาวโจนส์ ปิดลบไป 158.20 จุด หรือ 1.21% มาอยู่ที่ 12,938.11 จุด เช่นเดียวกับ เอสแอนด์พี ซึ่งดิ่งไป 1.10% มาอยู่ที่ 1,402.43 จุด และแนสแด็ก คอมโพสิต ปิดลบ 0.86%อยู่ที่ 2,960.31 จุด

ทว่าหากสหรัฐมีอันต้องตกหน้าผา เรื่องนี้ก็จะกลายเป็นมรสุมเศรษฐกิจสหรัฐที่สั่นสะเทือนโลก และตั้งเค้าทะมึนกันตั้งแต่วันแรกของปี 2556 กันเลยทีเดียว

ปีใหม่นี้ได้รู้กัน...!!!