posttoday

ลดส่งออก-ลุยบริโภค ทางรอดที่จีนต้องปฏิรูป

11 ธันวาคม 2555

แทนที่การเดินทางครั้งแรกหลังเข้ารับตำแหน่งหัวหน้าพรรคคอมมิวนิสต์คนใหม่ของ “สีจิ้นผิง”

แทนที่การเดินทางครั้งแรกหลังเข้ารับตำแหน่งหัวหน้าพรรคคอมมิวนิสต์คนใหม่ของ “สีจิ้นผิง”

โดย...นันทิยา วรเพชรายุทธ

แทนที่การเดินทางครั้งแรกหลังเข้ารับตำแหน่งหัวหน้าพรรคคอมมิวนิสต์คนใหม่ของ “สีจิ้นผิง” จะเป็นฐานที่มั่นพรรคคอมมิวนิสต์ในอดีตเหมือนกับผู้นำรุ่นที่ผ่านมา เช่น หูจิ่นเทาซึ่งเลือกไปเยือนฐานที่มั่นสุดท้ายก่อนยึดเมืองหลวงของ เหมาเจ๋อตง ในเมืองสือเจียจวง มณฑลหูเป่ย์ ทว่าผู้นำรุ่นที่ 5 ของจีนกลับเลือกที่จะไปยังเมืองเสิ่นเจิ้น มณฑลกวางตุ้ง ที่ขึ้นชื่อในด้านเศรษฐกิจมากกว่าการเมือง

สำหรับจีนที่นิยมการส่งสัญญาณทางอ้อมผ่านสัญลักษณ์ต่างๆ แล้ว การเดินทางไปยังพื้นที่แรกที่ เติ้งเสี่ยวผิง วางเป้าหมายพัฒนาให้เป็นเขตเศรษฐกิจภายหลังเปิดประเทศในปี 1979 ก่อนจะลงพื้นที่ตามมาในปี 1992 นั้น จึงนับเป็นสัญลักษณ์บ่งชี้ที่ชัดเจนว่า จีนจะดำเนินนโยบาย “เปิดกว้างและปฏิรูป” ตามมาอย่างแน่นอนในยุคผู้นำรุ่นที่ 5 นี้

โดยเฉพาะการปฏิรูปเศรษฐกิจ ปรับลดโมเดลพึ่งพาการส่งออก และหันมากระตุ้นการบริโภคภายในประเทศให้มากขึ้นแทน ซึ่งถือเป็นไฟต์บังคับที่จีนไม่ทำไม่ได้แล้วในเวลานี้

แม้ว่าผู้นำคนใหม่ของจีนจะมีหัวก้าวหน้าเป็นทุนเดิม ทว่าปัจจัยภายนอกหลายด้านกำลังกดดันให้จีนต้องหันมาเร่งปรับเปลี่ยนโมเดลภายใน หากยังต้องการให้จีนยังคงบทบาทมหาอำนาจทางเศรษฐกิจโลกได้อย่างต่อเนื่อง เพราะการเติบโตของจีนในปัจจุบัน เริ่มสะท้อนให้เห็นถึงความไม่ยั่งยืนมากขึ้นทุกขณะ

ช่วงนี้จีนอาจมีข่าวดีตัวเลขสำคัญทางเศรษฐกิจออกมาให้โลกได้ชื่นใจในหลายด้าน อาทิ ดัชนีผลผลิตภาคโรงงานเดือน พ.ย. ที่ปรับตัวขึ้น 10.1% จากเดือนก่อนหน้า เช่นเดียวกับตัวเลขค้าปลีกเดือนเดียวกัน ซึ่งโตได้ 14.9% จาก 14.5% ในเดือน ต.ค. ขณะที่ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (พีเอ็มไอ) โดยธนาคารเอชเอสบีซี ก็ปรับตัวขึ้นสูงสุดในรอบ 13 เดือน ไปอยู่ที่ 50.4 จุด ซึ่งตัวเลขเหล่านี้ล้วนบ่งบอกว่าเศรษฐกิจจีนกำลังเริ่มฟื้นตัวขึ้น

ทว่าดัชนีที่ “สำคัญที่สุด” ต่อโรงงานผลิตอันดับ 1 ของโลกอย่างภาคการส่งออก กลับไม่สอดคล้องกันเท่าที่ควร เมื่อตัวเลขการส่งออกเดือน พ.ย. ขยายตัวแบบปีต่อปีเพิ่มขึ้นเพียง 2.9% อยู่ที่ 1.794 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่การนำเข้าขยายตัว 2% อยู่ที่ 1.598 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ส่งผลให้ยอดการค้าเกินดุลของจีนในเดือน พ.ย. ดิ่งลงถึง 38.6% จากเดือนก่อนหน้า

การค้าที่เกินดุลมาเพียง 1.96 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์แทบทุกสำนักคาดการณ์นั้น จึงนำไปสู่บทสรุปได้อย่างหนึ่งว่า เศรษฐกิจจีนยังเปราะบางเกินกว่าที่จะเป็นผู้นำการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกอย่างมั่นคงได้

เพราะหากวิกฤตการณ์หนี้ยุโรปกลับมาทวีความรุนแรงอีกครั้งในปีหน้า หรือการเมืองสหรัฐแตกแยกจนไม่สามารถหาข้อตกลงแก้หน้าผาทางการคลัง (ฟิสคัล คลิฟ) ได้ทันก่อนวันที่31 ธ.ค.ปีนี้ จนนำไปสู่การตัดลดรายจ่ายและยกเลิกมาตรการช่วยเหลือต่างๆ โดยอัตโนมัติในปีหน้า จีนก็ย่อมหนีไม่พ้นความเสี่ยงที่จะผลิตไม่ได้ขายไม่ออกตามไปด้วย

เหรินเสียนฟาง นักเศรษฐศาสตร์จากบริษัทวิจัย ไอเอชเอส โกลบอล อินไซต์ เปิดเผยกับเอเอฟพีว่า การส่งออกของจีนที่อ่อนแอลงอย่างมาก นับเป็นอีกหนึ่งหลักฐานชั้นดีของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจจีนที่ยังคงเปราะบาง

การฟื้นตัวของจีนที่เห็นนั้นเป็นผลมาจากการลงทุนของภาครัฐในด้านโครงสร้างพื้นฐานเป็นหลัก โดยทุ่มอัดเงินลงทุนไปก่อนหน้านี้เพื่อให้ได้ตัวเลขที่น่าพอใจทันการประชุมใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีนเมื่อเดือนที่แล้ว

ทางการจีนเผชิญกับยอดการส่งออกที่ลดลงอย่างหนักตลอดทั้งปีนี้ จากผลพวงปัญหาเศรษฐกิจในยุโรปและสหรัฐ จนมีการยอมรับเมื่อไม่นานมานี้ว่า จีนอาจพลาดเป้าส่งออกซึ่งตั้งไว้ที่ 10% ในปี 2555 หลังจากตัวเลขการส่งออกตลอด 11 เดือนที่ผ่านมา เติบโตเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วเพียง 7.3% อยู่ที่ 1.8 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ท่ามกลางยอดการค้าโดยรวม 11 เดือนที่โตเพียง 5.8% อยู่ที่ 3.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ

ทางด้าน จางจื้อเหว่ย นักเศรษฐศาสตร์จากโนมูระ อินเตอร์เนชันแนล ในฮ่องกง ให้ความเห็นกับเอเอฟพีว่า สถานการณ์ที่ไม่น่าไว้วางใจเรื่องหน้าผาทางการคลังในสหรัฐ เป็นปัจจัยลบสำคัญที่ฉุดการส่งออกของจีนเดือน พ.ย. ให้ดิ่งลงมาอย่างหนัก

“การส่งออกที่ปรับตัวลง แสดงให้เห็นถึงความต้องการในต่างประเทศที่ผันผวนไม่แน่นอน เนื่องจากความกังวลต่อปัญหาหน้าผาทางการคลังในสหรัฐ” จาง กล่าว

นอกจากความไม่ยั่งยืนของเศรษฐกิจจีนจะสะท้อนผ่านภาคการส่งออกแล้ว ความจำเป็นที่ผู้นำรุ่นใหม่ต้องเดินหน้านโยบายเปิดกว้างและปฏิรูปประเทศ ยังเป็นเพราะปัจจัยภายในกับปัญหาช่องว่างทางสังคมและรายได้ระหว่างคนจนคนรวยที่ขยายตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางยุคสมัยที่ข่าวสารเปิดกว้างเข้าถึงประชาชนมากขึ้น

สถาบันวิจัยและสำรวจสำหรับการเงินภาคครัวเรือนจีน ได้เปิดเผยดัชนีสัมประสิทธิ์จีนี หรือดัชนีชี้วัดความเหลื่อมล้ำของการกระจายรายได้ในสังคม ซึ่งปรากฏว่าระดับความเหลื่อมล้ำของจีนได้ขยายตัวไปอยู่ที่ 0.61 จุด ในปี 2553 ซึ่งเลยจุดสีเหลืองหรือเส้นเตือนความเหลื่อมล้ำที่ระดับ 0.40 จุด และทำให้จีนกลายเป็นประเทศที่มีช่องว่างคนจนคนรวยสูงที่สุดประเทศหนึ่งในโลกในกลุ่มเดียวกับประเทศแถบแอฟริกาไปแล้ว

ทางด้านปัญหาการว่างงานก็กำลังเริ่มคุกคามจีนหนักขึ้น โดยอัตราการว่างงานในเขตเมืองเดือน ก.ค. ขยายตัวขึ้นไปถึง 8.1% จากการสำรวจครัวเรือน 8,438 ครัวเรือน ขณะที่การว่างงานในกลุ่มแรงงานอพยพจากต่างจังหวัดนั้นก็ขยายตัวไปถึง 6% ในเดือนเดียวกัน หรือเพิ่มขึ้นเกือบครึ่งหนึ่งจาก 3.4% ในเดือนเดียวกันของปีที่แล้ว

“จีนต้องเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการกระจายรายได้ และต้องทุ่มงบประมาณลงไปอีกมหาศาล เพื่อลดช่องว่างของความเหลื่อมล้ำนี้” กานหลี่ ศาสตราจารย์มหาวิทยาลัยเทกซัส เอแอนด์เอ็ม ในสหรัฐ ให้ความเห็นกับบลูมเบิร์ก

เพราะหากไม่เร่งฉวยจังหวะในยามที่มหาอำนาจอื่นๆ ยังอ่อนแอจากวิกฤตเศรษฐกิจ และทยอยปรับเปลี่ยนโมเดลเศรษฐกิจให้มีความสมดุลและโตอย่างยั่งยืนมากขึ้น จีนอาจตกเป็นฝ่ายต้องตั้งรับแทนในวันที่คู่แข่งต่างฟื้นกลับมาได้อย่างเต็มตัว