posttoday

โลกลุ้นมะกันผลัดผู้นำจุดพลิกระเบียบ-การค้า-การเงินโลก

27 กันยายน 2555

แม้จะเป็นการเคลื่อนไหวทางการเมืองภายในของสหรัฐ แต่ต้องยอมรับว่าวาระการผลัดเปลี่ยนผู้นำที่กำลังจะเกิดขึ้นในเดือน

โดย...นงลักษณ์ อัจนปัญญา

แม้จะเป็นการเคลื่อนไหวทางการเมืองภายในของสหรัฐ แต่ต้องยอมรับว่าวาระการผลัดเปลี่ยนผู้นำที่กำลังจะเกิดขึ้นในเดือน พ.ย.นี้ ได้กระตุ้นให้เกือบทุกประเทศทั่วโลกอดตามดูตามลุ้นไปกับผลการเลือกตั้งชิงตำแหน่งประธานาธิบดีไปด้วยไม่ได้

เพราะการเปลี่ยนแปลงข้างต้นอาจหมายถึงการเปลี่ยนบทบาทท่าทีของสหรัฐ มหาอำนาจอันดับหนึ่งบนเวทีโลกในด้านต่างๆ โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ ซึ่งต่างฝ่ายต่างแอบหวังว่า รัฐบาลสมัยหน้าจะสามารถเดินหน้าจัดการแก้ไขปัญหาที่แดนลุงแซมแห่งนี้กำลังเผชิญหน้าอยู่ ทั้งการเติบโตที่ชะลอตัวเหลือเพียงแค่ 1.7% ปัญหาการขาดดุลงบประมาณเรื้อรัง หนี้สินพอกพูนท่วมหัวที่สูงถึง 15 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 450 ล้านล้านบาท) ซึ่งมีแนวโน้มจะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ และปัญหาการว่างงานที่มากถึง 8.1% ให้กลับคืนสู่ภาวะปกติและคึกคักสดใส จนช่วยดึงรั้งเศรษฐกิจในภูมิภาคอื่นๆ ให้รอดพ้นจากวิกฤตเศรษฐกิจถดถอยและซบเซา

เรียกได้ว่า นโยบาย มาตรการ หรือแนวทางการจัดการเศรษฐกิจสหรัฐของผู้นำประเทศ ไม่ว่าจะหน้าใหม่หรือหน้าเก่าในอีก 4 ปีข้างหน้า จะส่งผลกระเทือนต่อสถานการณ์เศรษฐกิจทั่วโลกอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

ขณะที่มุมมองด้านเศรษฐกิจของผู้สมัครแต่ละฝ่าย ตามความเห็นของบรรดากูรูการเมืองส่วนใหญ่ จะถือเป็นตัวตัดสินชี้ขาดชัยชนะระหว่าง มิตต์ รอมนีย์ ผู้ท้าชิงจากพรรครีพับลิกัน กับประธานาธิบดี บารัก โอบามา จากพรรคเดโมแครต

สำหรับประธานาธิบดีโอบามา แนวทางการแก้ปัญหาเศรษฐกิจยังคงเหนียวแน่นอยู่กับการกระตุ้นเศรษฐกิจที่เพิ่มการใช้จ่ายและการลงทุนจากภาครัฐให้ได้อีก 22% ของจีดีพี ปรับลดภาษีบริษัทองค์การ และผู้ประกอบการขนาดเล็ก เพื่อกระตุ้นการจ้างงาน พร้อมแก้การขาดดุลโดยเพิ่มการจัดเก็บภาษีเงินได้จากผู้มีรายได้มากกว่า 2.5 แสนเหรียญสหรัฐ (ราว 7.5 ล้านบาท) ต่อปี จากเดิม 35% เป็น 39.6% และเดินหน้าตัดลดงบประมาณทางการทหาร ซึ่งคิดเป็น 20% ของงบประมาณรัฐบาลทั้งหมด เพื่อที่รัฐจะได้ไม่ต้องตัดลดค่าใช้จ่ายในส่วนของสวัสดิการสุขภาพสำหรับประชาชนมากขึ้น

สำหรับผู้ท้าชิง รอมนีย์ แนวทางการแก้ปัญหาเศรษฐกิจเป็นไปตามแนวคิดรัดเข็มขัดเป็นหลัก คือ ลดค่าใช้จ่ายภาครัฐเพิ่มขึ้นให้ต่ำกว่า 20% ต่อจีดีพี ซึ่งรวมถึงการตัดลดสวัสดิการ ประกันสุขภาพประชาชน โดยรัฐจะช่วยเหลือเพียงครึ่งหนึ่งหรือกึ่งหนึ่งเท่านั้น ปล่อยเศรษฐกิจให้เป็นไปตามกลไกตลาดเสรีเป็นหลัก เน้นการปรับลดการขาดดุลงบประมาณของรัฐให้ได้ภายใน 8 ปี ซึ่งรวมถึงการยกเลิกระบบสิทธิพิเศษในการยกเว้นภาษีเงินได้ เช่น ภาษีการกุศล เพื่อให้สามารถลดภาษี 20% ให้กับบรรดาองค์กร บริษัทห้างร้านต่างๆ ขณะเดียวกันก็ช่วยบรรดาเจ้าของกิจการเพิ่มเติมด้วยการเดินหน้ายกเลิกภาษีมรดกและภาษีอสังหาริมทรัพย์ เพื่อให้ผู้ประกอบการเหล่านี้นำเงินที่ได้ไปจัดการธุรกิจของตนเอง ซึ่งหมายรวมถึงการจ้างงานเพิ่ม และเดินหน้าเพิ่มงบประมาณทางการทหาร

นอกจากนี้ สิ่งที่ประธานาธิบดีโอบามาและรอมนีย์คิดตรงกันก็คือ การเดินหน้าขยายข้อตกลงการค้าเสรีระดับทวิภาคีและพหุภาคีกับประเทศต่างๆ ซึ่งหนึ่งในนั้นรวมถึงเกาหลีใต้ โคลัมเบีย และความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจระหว่างมหาสมุทรแปซิฟิก (ทีพีพี)

โลกลุ้นมะกันผลัดผู้นำจุดพลิกระเบียบ-การค้า-การเงินโลก

 

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาแนวทางนโยบายทางเศรษฐกิจของว่าที่ผู้นำสหรัฐทั้งสองรายแล้ว นักวิเคราะห์หลายฝ่ายเห็นตรงกันว่า ทั้งคู่ต่างมีเป้าหมายที่จะสร้างงานให้มากขึ้น ในขณะเดียวกันก็หาทางกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐให้เติบโตในอัตราที่เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และจัดการกับการขาดดุลงบประมาณของประเทศ เพื่อหลีกเลี่ยงภาวะ “หน้าผาการคลัง” (Fiscal Cliff) ที่รัฐบาลไม่มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ หรือแนวทางเพิ่มรายได้ ขณะที่ยังต้องแบกรับรายจ่ายที่มีแต่จะพอกพูนมากขึ้น

ขณะเดียวกันผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ต่างยอมรับว่า แนวมาตรการเศรษฐกิจของผู้สมัครทั้งสองฝ่ายยังส่งผลต่อทิศทางเศรษฐกิจโลกในอนาคต

เพราะต้องไม่ลืมว่า แม้เศรษฐกิจของสหรัฐอาจไม่ใช่หลักพึ่งพิงหนึ่งเดียวที่มีอยู่ในปัจจุบัน แต่ด้วยอำนาจทางการทหาร และพร้อมด้วยสกุลเงินเหรียญสหรัฐซึ่งได้รับการยอมรับเชื่อถือ ก็ทำให้สหรัฐยังคงเป็นหมายเลขหนึ่งที่มีอิทธิพลต่อทุกประเทศทั่วโลกมากน้อยต่างกันไป

เรียกได้ว่า แค่สหรัฐขยับ นานาประเทศก็มีอันต้องเขยื้อนตาม

สำหรับปัจจัยทิศทางเศรษฐกิจที่จะได้รับผลกระทบแน่นอนจากมาตรการของว่าที่ผู้นำทั้งสองนี้ สรุปออกมาได้เป็น 3 แนวทางหลักๆ ด้วยกัน คือ 1) ด้านการเงิน 2) ด้านการค้า และ 3) ด้านกฎระเบียบ

ด้านการเงินนี้ หมายถึงนโยบายที่ผสมผสานระหว่างการจัดเก็บและตัดลดภาษีของทั้งประธานาธิบดีโอบามาและรอมนีย์ ซึ่งจะส่งผลต่อดุลงบประมาณของรัฐบาล และทิศทางการเคลื่อนไหวโยกย้ายของเงินทุนจากสหรัฐไปยังสถานที่ต่างๆ ทั่วโลก

ด้านการค้า คือส่วนหนึ่งของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่หันมาเน้นการผลิตภายในประเทศมากขึ้น ซึ่งจะทำให้สหรัฐหันมาเน้นการเปิดตลาดเสรีระดับทวิภาคีเพื่อกระตุ้นการส่งออก

ด้านกฎระเบียบ คือผลพวงจาก 2 ประการแรก เพื่อให้เศรษฐกิจของสหรัฐเดินต่อไปข้างหน้าได้โดยไม่มีสะดุดหรือติดขัด ซึ่งอาจหมายรวมถึงการปฏิรูประเบียบการเงิน กฎหมายว่าด้วยการอพยพโยกย้ายแรงงาน การเพิ่มอำนาจควบคุมหน่วยงานต่างๆ กฎเกณฑ์ด้านสวัสดิการ สิ่งแวดล้อม พลังงาน ตลอดจากเพดานหนี้ของภาครัฐ

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่เห็นตรงกันก็คือ ไม่ว่าชาวอเมริกันผู้มีสิทธิเลือกตั้งส่วนใหญ่จะเทคะแนนให้ใคร โอบามาหรือรอมนีย์ โครงสร้างของสภาคองเกรสของสหรัฐมีแนวโน้มจะเป็นเช่นเดิม คือ พรรครีพับลิกันได้คุมสภาล่าง และพรรคเดโมแครตจะคุมสภาบน

พูดให้เข้าใจง่ายขึ้นก็ต้องบอกว่า นโยบาย มาตรการ หรือตัวบทกฎหมายใดๆ ของรัฐบาลสหรัฐสมัยหน้า อาจต้องเจอแรงทัดทาน หรือการขัดขวางจากสภาใดสภาหนึ่งจนต้องหยุดชะงักไปต่อไม่ได้เหมือนที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน โดยประเด็นที่ทั่วโลกวิตกกังวลกันมากที่สุดก็คือ แผนการแก้ไขปัญหา “หน้าผาทางการคลัง” เพื่อปรับดุลบัญชีของสหรัฐให้กลับสมดุล เพื่อลดภาระหนี้ของประเทศ

เพราะถ้าหากรัฐบาลชุดใหม่ยังคงไม่สามารถจัดการกับประเด็นดังกล่าวได้อย่างจริงจัง แดนลุงแซมย่อมมีสิทธิชอกช้ำจากหายนะวิกฤตการเงินเมื่อปี 2551-2552 ที่จะซ้ำรอยหวนคืนมาให้ทั่วโลกผวากันอีกครั้ง