posttoday

ลดเป้ายิ่งลักษณ์ ใช้พรรคดันกม.นิรโทษ

09 เมษายน 2555

เส้นทางสู่ “ปรองดอง” ขยับเข้าใกล้ความจริงอีกขั้น หลังเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร 307 เสียง ตีตรา “ความชอบธรรม”

โดย...ธนพล บางยี่ขัน

เส้นทางสู่ “ปรองดอง” ขยับเข้าใกล้ความจริงอีกขั้น หลังเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร 307 เสียง ตีตรา “ความชอบธรรม” รายงานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองแห่งชาติ (กมธ.ปรองดอง) พร้อม “ส่งไม้ต่อ” ให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ดำเนินการต่อไป แม้อีกด้านจะไม่มีใครคาดหวังกับกฎหมายเพียงฉบับหรือสองฉบับ จะสามารถสลายความขัดแย้งในสังคมให้หมดไป

การอภิปราย 2 วัน 2 คืนในสภา ที่ผู้แทนราษฎร ที่ยิ่งอภิปราย ยิ่งเติมเชื้อความขัดแย้ง แทนที่จะมุ่งหน้าสู่ “ปรองดอง” จึงกลายเป็นเพียงแค่ “พิธีกรรม” ปูทางไปสู่กระบวนการปรองดองตามแนวทางของรัฐบาล ที่กังขาว่าจะเป็นเพียงแค่การ “ล้างผิด” ให้ใครคนใดคนหนึ่ง ซึ่งลือกันว่าถึงขั้นมีใบสั่งให้เร่งปิดเกม

ไม่แปลกกับท่าที “รีบเร่ง” ของ ยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกฯ และ มท.1 ที่ยืนกรานไม่สนใจข้อเสนอการจัดสานเสวนารับฟังความคิดเห็นชาวบ้าน ตามข้อเสนอของสถาบันพระปกเกล้า ล่าสุด ซึ่งถึงขั้นออกมาขู่ถอนงานวิจัย หาก กมธ.ปรองดอง ยังดึงดันเดินหน้ารวบรัดปรองดองต่อไป เนื่องจากเกรงว่างานวิจัยของตัวเองที่เป็นต้นทางที่ กมธ.ปรองดอง หยิบแค่บางส่วนบางตอนไปใช้จะกลายเป็นชนวนความขัดแย้งเสียเอง

แน่นอนว่า หากยอมคล้อยตามข้อเสนอของสถาบันพระปกเกล้า อาจต้องเสียเวลาอีกนานหลายเดือน กับทั้งการไปเซตระบบวางแผนจัดวางเวทีสานเสวนาทั่วประเทศและการรวบรวมประเมินผล ที่มีแต่จะฉุดให้กระบวนการปรองดองซึ่งออกตัวแรงมาตั้งแต่ต้น ต้องแผ่วปลายอย่างไม่รู้ว่ายืดเยื้อไปอีกนานแค่ไหน

ที่สำคัญหากพลาดพลั้ง เสียงสะท้อนจากประชาชนส่วนหนึ่งเกิดไม่เอาด้วยกับ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ซึ่งถือเป็นหัวใจของรายงาน กมธ.ปรองดองด้วยแล้ว ย่อมส่งผลให้ทุกอย่างที่เดินมาทั้งหมดต้องพังพาบลงไป

ลดเป้ายิ่งลักษณ์ ใช้พรรคดันกม.นิรโทษ

 

เพราะจับกระแสสังคมในช่วงที่ผ่านมา หลายกลุ่มหลายฝ่ายไม่ได้เห็นด้วยกับการดึงดันทำเรื่อง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเวลานี้ ตัวอย่างเช่น “พะเยาว์ อัคฮาด” แม่ของ กมนเกด อัคฮาด อาสาพยาบาลที่เสียชีวิตภายในวัดปทุมวนาราม ยังออกมายื่นเรื่องประธานสภาผู้แทนราษฎร คัดค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ด้วยเหตุผลว่าประชาชนไม่ได้ประโยชน์ คนที่ได้ประโยชน์ คือ ฝ่ายการเมืองและกองทัพ โดยต้องการให้เร่งหาความจริงที่เกิดขึ้น หาคนผิดมาลงโทษก่อนจะนิรโทษกรรม

ยิ่งในสถานการณ์ที่คะแนนนิยมของรัฐบาลเริ่มจะลดน้อยลงทุกวันจากปัญหาน้ำท่วม ของแพง ที่รัฐบาลยังไม่มีท่าทีจริงจังกับการแก้ปัญหา การจัดเวทีสานเสวนาจึงไม่ใช่ทางเลือกที่รัฐบาลจะยอมเสี่ยงในเวลานี้

จับสัญญาณผ่านเหตุผลที่ “ยงยุทธ” หยิบยกมาอธิบายถึงการไม่จัดสานเสวนา ทั้งเรื่องไม่มีสถานที่ ไม่มีเวลารับฟังความเห็นจากประชาชนกว่า 60 ล้านคน สะท้อนให้เห็นว่า รัฐบาลยืนยันจะเดินหน้าเรื่องนี้ผ่านเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร ที่สามารถใช้ความได้เปรียบที่มีอยู่สั่งซ้ายหัน ขวาหันได้ ในขณะที่ฝ่ายค้านทำได้มากที่สุดก็เพียงแค่วอล์กเอาต์ หรืองดออกคะแนนที่ไม่ได้ส่งผลสะเทือนต่อกระบวนการที่รัฐบาลจะผลักดัน

แม้แต่ประเด็นที่สถาบันพระปกเกล้าจะขอถอนงานวิจัยนั้น “ยงยุทธ” ยังออกมาดักคอตอกกลับว่า “สถาบันพระปกเกล้าเป็นองค์กรรัฐบาล ใช้งบประมาณรัฐบาลทำวิจัย ไม่ใช่ผลงานของส่วนบุคคล เป็นผลงานของหน่วยราชการ เมื่อเสนอออกมาก็เป็นเรื่องสาธารณชนว่าจะวิพากษ์วิจารณ์อย่างไร ไม่ใช่ว่าเสนอไปมีคนคัดค้านก็จะเอาคืน พอมีคนชอบก็บอกว่าดี ไม่ได้ ต้องมีมาตรฐาน”

ที่สำคัญ “ยงยุทธ” ยังมีฐานะคณะกรรมการประสานงานและติดตามผลการดำเนินการตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริง เพื่อการปรองดองแห่งชาติ (ปคอป.) ซึ่งจะเป็นเจ้าภาพพิจารณารายละเอียด คัดกรอง ศึกษาก่อน ว่ารายละเอียดจะเป็นอย่างไร ก่อนส่งให้ ครม.ดำเนินการ ดังนั้นจึงเชื่อว่าขั้นตอนต่อจากนี้จึงไม่น่าจะกินเวลานาน

โดยเฉพาะกับ “ธงหลัก” 2 ประเด็นหลัก คือ 1.การออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เฉพาะคดีการกระทำความผิดตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 และคดีอาญาที่มีวัตถุประสงค์ทางการเมือง เช่น การทำลายทรัพย์สินของรัฐหรือเอกชน 2.เพิกถอนผลทางกฎหมายที่ดำเนินการโดยคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ทั้งหมด และไม่นำคดีที่อยู่ระหว่างกระบวนการและที่ตัดสินไปแล้วมาพิจารณาใหม่อีกครั้ง ที่ตั้งต้นมาจากงานวิจัยของสถาบันพระปกเกล้า

การหยิบยกประเด็นว่า “จุดเริ่มต้น” ที่ตั้งเรื่องจากรายงานสถาบันพระปกเกล้า จนได้รับการเห็นชอบชั้นแรกใน กมธ.ปรองดอง แม้จะเป็นประเด็นถกเถียงอยู่ว่าการลงมติเห็นชอบใน กมธ.สมบูรณ์ถูกต้องแล้วหรือยัง ก่อนจะมาเห็นชอบขั้นที่สามในเวทีสภาผู้แทนราษฎร ย่อมเพิ่มความชอบธรรมให้การขับเคลื่อนฝ่าเสียงคัดค้านเป็นไปโดยสะดวกมากยิ่งขึ้น

ทว่า ทิศทางการขับเคลื่อนเวลานี้ จึงไม่ใช่อยู่ที่รัฐบาลซึ่งปฏิเสธการจัดสานเสวนาไปแล้ว แต่จะหันมาเดินเครื่องผ่านกลไกพรรคเพื่อไทย เตรียมให้ สส. 20 คน เสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม หรืออาจจะเปลี่ยนชื่อเพื่อลดแรงเสียดทานเป็น พ.ร.บ.ปรองดองเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร

นอกจากตัดตอนไม่ให้นายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เข้ามาเกี่ยวข้องกับระเบิดเวลาลูกนี้ ที่หากยังปลดชนวนไม่ได้เกิดระเบิดขึ้นมาส่งผลเสียหายต่อเสถียรภาพรัฐบาล

อีกด้านยังป้องกันไม่ให้ถูกหยิบยกเป็นประเด็นไปร้องเรียนดำเนินคดีเกี่ยวกับเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่ากฎหมายที่จะออกมาดังกล่าวย่อมเป็นคุณกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ให้คดีที่ คตส.ตัดสินไปแล้ว และอยู่ระหว่างการดำเนินคดีต้องสิ้นสุดลง

กางปฏิทินการเมืองหลังจบประเด็นแก้ไขรัฐธรรมนูญที่จะพิจารณาในวาระที่ 2 วันที่ 10-11 เม.ย.นี้ และลงมติในวาระที่ 3 ในอีกอย่างน้อย 15 วันถัดไป ซึ่งจะเป็นช่วงที่ใกล้หมดสมัยประชุมสภาสมัยนิติบัญญัตินี้

ความเป็นไปได้ที่กฎหมายปรองดองจะเสนอเข้ามาในสภาตั้งแต่เปิดสมัยประชุมช่วงเดือน ส.ค.ก.ย. จึงน่าจะเป็นไปได้มากที่สุด