posttoday

งานหินฝ่ามวลชนหาพื้นที่ รับน้ำนอง

06 กุมภาพันธ์ 2555

ฝนหลงฤดูเดือน ก.พ. เป็นสัญญาณที่น่าใส่ใจยิ่ง และกระตุ้นเตือนให้รัฐบาลยิ่งลักษณ์และทุกองคาพยพเร่งแผนลงทุนระบบป้องกันน้ำท่วมระยะเร่งด่วน  

ฝนหลงฤดูเดือน ก.พ. เป็นสัญญาณที่น่าใส่ใจยิ่ง และกระตุ้นเตือนให้รัฐบาลยิ่งลักษณ์และทุกองคาพยพเร่งแผนลงทุนระบบป้องกันน้ำท่วมระยะเร่งด่วน  

โดย...จตุพล สันตะกิจ

ฝนหลงฤดูเดือน ก.พ. เป็นสัญญาณที่น่าใส่ใจยิ่ง และกระตุ้นเตือนให้รัฐบาลยิ่งลักษณ์และทุกองคาพยพเร่งแผนลงทุนระบบป้องกันน้ำท่วมระยะเร่งด่วน ทั้งการพร่องน้ำจากเขื่อนและแผนงานพัฒนา คลังข้อมูลและระบบพยากรณ์น้ำฝน โดยเฉพาะการจัดหาพื้นที่รับน้ำนองเพื่อทำแก้มลิง 2 ล้านไร่ ที่ทำให้เกิดการเผชิญหน้าระหว่าง “รัฐ” และ “มวลชน”

ล่าสุด ธีระ วงศ์สมุทร รมว.เกษตรและสหกรณ์ ลงนามคำสั่งกระทรวงเกษตรฯ ที่ 54/2555 วันที่ 23 ม.ค. 2555 แต่งตั้งคณะทำงานจัดแผนงานกำหนดพื้นที่รับน้ำนองและมาตรการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากการใช้พื้นที่เพื่อรับน้ำ มี เจษฎา แก้วกัลยา ที่ปรึกษา รมว.เกษตรฯ เป็นประธาน และที่ปรึกษานักวิชาการ เช่น ชูเกียรติ ทรัพย์ไพศาล สมบัติ อยู่เมือง

คณะทำงานชุดนี้มีหน้าที่ในการกำหนดพื้นที่รับน้ำนองในเขตเจ้าพระยาตอนบนและเจ้าพระยาตอนล่าง ตั้งแต่เขื่อนหลักในพื้นที่ภาคเหนือ ตลอดจนสองฝั่งของลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่สามารถใช้เป็นพื้นที่รับน้ำนองได้ พัฒนาพื้นที่รับน้ำนองที่กำหนดขึ้นเป็น “แก้มลิงธรรมชาติ”

งานหินฝ่ามวลชนหาพื้นที่ รับน้ำนอง

 

พร้อมทั้งมีหน้าที่กำหนดมาตรการชดเชยความเสียหายเป็นกรณีพิเศษ โดยคำสั่งระบุชัดว่า ควรจะเป็นการชดเชยในส่วนของ “รายได้” ที่หายไป ไม่ใช่เป็นการชดเชยส่วนต่าง นั่นหมายความว่า ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการนำพื้นที่ไปเป็นพื้นที่รับน้ำนองจะได้รับการชดเชยรายได้ในส่วนที่หายไปทั้งหมด

แม้หลักการการชดเชยมีความชัดเจน และขณะนี้กระทรวงเกษตรฯ อยู่ระหว่างการจัดทำหลักเกณฑ์การจ่ายเงินชดเชย มีการพูดถึงตัวเลขเงินชดเชยสูงถึง 7,000 บาทต่อไร่ แต่หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ชาวบ้านจะปฏิเสธการรับสภาพจำยอมของการถูก “ขีดเส้น” เป็นพื้นที่รับน้ำนอง เพราะเขาต้องสูญเสียโอกาสอย่างน้อย 3 ประการ

คือ 1.การเข้าถึงโครงการจำนำสินค้าเกษตรของรัฐบาล เช่น โครงการรับจำนำข้าวเปลือก และปรากฏการณ์ในวันนี้พบว่าชาวนารายหนึ่งใน จ.พระนครศรีอยุธยา ที่ระบุว่าต้องยอมเสียเงินซื้อน้ำมัน 5,000 บาท สูบน้ำออกจากนาที่ถูกน้ำท่วมตั้งแต่เดือน ก.ย. 2554 เพื่อปลูกข้าวนาปรัง แน่นอนว่าราคารับจำนำข้าวที่ 1.5 หมื่นบาทต่อตัน เป็นแรงจูงใจที่คุ้มกับค่า “เสี่ยง”

2.ที่ดินที่ถูกกันเป็นพื้นที่รับน้ำนองหรือแก้มลิง ยังหมายถึงมูลค่าหรือราคาที่ดินทรุดตัวลงอย่างถาวรจากน้ำที่ท่วมขังนานนับเดือนนับปี เพราะเมื่อที่ดินไม่สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจแล้ว หรืออยู่ในภาวะที่ไม่แน่นอนว่าน้ำจะท่วมหรือไม่ แม้จะมีการปรับแผนการเพาะปลูกรองรับ แต่มูลค่าที่ดินในเชิงเศรษฐศาสตร์เสี่ยงมีค่าเป็น “ศูนย์”

3.มูลค่าความสูญเสียในเชิงสังคมที่ไม่อาจวัดเป็นเงินได้ เพราะเมื่อน้ำมาชุมชนต้อง “อพยพ” ส่งผลให้คนในพื้นที่หลายหมื่นครัวเรือนต้องตกอยู่ในสภาพ “พลัดที่นา คาที่อยู่” เขาไม่เพียงสูญเสียอาชีพ สูญเสียรายได้ แต่ยังสูญเสียความมั่นคงเชิงสังคม ในขณะที่แผนอพยพและจัดหาพื้นที่พักพิงให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบที่รัฐจัดไว้ไม่อาจชดเชยในสิ่งเหล่านี้ได้

จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่า เหตุใดแผนงานปรับพื้นที่เกษตรกรรมในพื้นที่ชลประทานที่มีน้ำท่วมถึงจำนวน 2 ล้านไร่ เพื่อรองรับน้ำหลากหรือแก้มลิง ต้องใช้งบประมาณสูงถึง 6 หมื่นล้านบาท ไม่รวมตัวเลขวงเงินที่จะใช้ในการชดเชยน้ำท่วมในแต่ละปี กรณีที่มีการผันน้ำเข้าทุ่งนาชาวบ้าน

ขณะที่การทำ “ประชาพิจารณ์” แบบ “สมยอม” อาจเป็นเพียงพิธีกรรมการสร้างความชอบธรรมให้กับภาครัฐในการจัดหาพื้นที่น้ำนองก็เป็นได้

เช่นกันคงปฏิเสธไม่ได้ว่าเหตุผลที่ต้องมีพื้นที่รับน้ำนองเพื่อเก็บน้ำ ก็เพื่อป้องกันพื้นที่เขตเศรษฐกิจและชุมชนเมืองไม่ให้ “จมน้ำ” เม็ดเงินลงทุน 3 แสนล้านบาท ถูกจัดสรรในภารกิจสร้างพื้นที่ปิดล้อมหรือพื้นที่ห้ามน้ำท่วมในเขตเศรษฐกิจหลัก คือ จ.พระนครศรีอยุธยา นนทบุรี ปทุมธานี กรุงเทพมหานคร (กทม.) และสมุทรสาคร พื้นที่ประมาณ 6,360 ตารางกิโลเมตร

โครงการสร้างคันกั้นแม่น้ำเจ้าพระยาทั้งฝั่งตะวันออกและตะวันตกตั้งแต่ จ.พระนครศรีอยุธยา ผ่านปทุมธานี กทม. ก่อนลงสู่อ่าวไทย ระยะทาง 500 กิโลเมตร คันกั้นน้ำสูงกว่าแนวน้ำท่วมปี 2554 ประมาณ 50 เซนติเมตร ความกว้าง 1 เมตร เงินลงทุนประมาณ 4,000 ล้านบาท อยู่ในแผนการลงทุนจัดการน้ำระยะยาว

การสร้างถนนหรือคันกั้นน้ำล้อมพื้นที่ห้ามท่วมฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่พื้นที่ใต้เขื่อนพระราม 6 เลียบคลองระพีพัฒน์ผ่าน จ.พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี สระบุรี และ กทม. จรดอ่าวไทย และแผนลงทุนสร้างคันกั้นน้ำคลองพระยาบันลือ การเสริมคันกั้นน้ำตลอดแนวแม่น้ำท่าจีน สร้างพื้นที่ปิดล้อมเขตเศรษฐกิจและชุมชนฝั่งตะวันตกแม่น้ำเจ้าพระยา

“ทำเลทอง” ผุดขึ้นท่ามกลางพื้นที่น้ำหลาก ในขณะที่ราคาที่ดินทั้งในเขตอุตสาหกรรมและที่อยู่อาศัยจะเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 10% แม้นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์มองว่าราคาที่ดินพื้นที่ห้ามท่วมจะเพิ่มขึ้นไม่มาก เพราะหากราคาที่ดินสูงขึ้นจะทำให้อุตสาหกรรมย้ายฐานการผลิตไปที่อื่น ดังนั้น เพดานราคาที่ดินจะจำกัดอยู่เพียงเท่านี้

แต่หากจำกัดได้ “ดร.โกร่ง” วีรพงษ์ รามางกูร คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ (กยอ.) เคยให้สัมภาษณ์ว่า เขามั่นใจว่าอุตสาหกรรมฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ที่ฐานการผลิต 60% ของโลกอยู่ที่ จ.พระนครศรีอยุธยา จะไม่ย้ายฐานการผลิตไปจากพื้นที่นี้แน่นอนแม้จะได้รับความเสียหนักจากน้ำท่วม

เพราะนอกจากอุตสาหกรรมฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์จะต้องการใช้น้ำในกระบวนการผลิตในปริมาณที่มากแล้ว แต่ “น้ำ” ที่ จ.พระนครศรีอยุธยา ยังมีคุณภาพ “พิเศษ” ที่ไม่มีที่อื่นในโลก และมีความจำเป็นต่ออุตสาหกรรมอย่างนี้ นี่เป็นคำยืนยันที่ ดร.โกร่ง ได้รับฟังจาก รมว.เศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น (เมติ) ครั้นเยือนญี่ปุ่นปลายปีที่แล้ว

แนวโน้มมูลค่าที่ดินในพื้นที่ห้ามท่วมมีโอกาสเพิ่มขึ้นอีกมากจากสารพัดโครงการลงทุนขนาดใหญ่ตามแผนของรัฐบาล เช่น โครงการรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯเชียงใหม่ ที่รัฐบาลไทยลงนามความร่วมมือการพัฒนาเส้นทางนี้กับทางการจีน โครงการมอเตอร์เวย์ระหว่างเมือง 2 เส้น คือ บางปะอินสระบุรีนครราชสีมา และบางปะอินนครสวรรค์

ในขณะที่เขต กทม.และปริมณฑลเอง รัฐบาลมีแผนลงทุนโครงข่ายรถไฟฟ้าเพิ่ม 12 สายทาง ระยะทาง 495 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ 680 ตารางกิโลเมตร ประชากร 5.13 ล้านคน กำหนดแล้วเสร็จในปี 2572 ราคาที่ดินตามแนวรถไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล

แน่นอนเส้นที่ขีดไว้สำหรับพื้นที่ห้ามท่วมราคาที่ดินมีแต่ “พุ่ง” กับ “พุ่ง” ขึ้นเท่านั้น

ท่ามกลางแผนการเร่งรัดจัดระบบป้องกันน้ำท่วมและบริหารจัดการน้ำท่วม ที่มีทั้งฝ่ายที่ได้ฝ่ายเสียประโยชน์ชัดเจนและสูงยิ่งเช่นนี้ งานจัดการด้าน “มวลชน” ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบและกลายสภาพเป็น “พลเมืองชั้นสอง” ทั้งคนที่อยู่ในพื้นที่ที่จัดให้เป็นพื้นที่รับน้ำนอง 2 ล้านไร่ และพื้นที่น้ำหลาก หรือฟลัดเวย์

การฝ่ากระแสมวลชนในการบริหารจัดการน้ำระดับชาติเช่นนี้ น่าหนักใจยิ่งสำหรับการตัดสินใจของนายกรัฐมนตรีมือใหม่ เช่น ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่มีอำนาจเต็มในองค์กรจัดการน้ำและอุทกภัยที่จะเสนอเข้าคณะรัฐมนตรีในวันที่ 7 ก.พ.นี้ ในขณะที่ “พื้นที่” ทางการเมืองที่ให้อำนาจในการขีดผังพื้นที่รับน้ำนองอยู่ในมือ “คนต่างพรรค”

ต้องบอกเลยว่าเป็น “งานยาก” และ “งานหิน” และเสี่ยงต่อการเผชิญหน้ากับมวลชนอย่างยิ่ง