posttoday

เขย่าหัวแบงก์รัฐ ยึดถังเงินหว่านประชานิยม

30 มกราคม 2555

แม้ว่าช่วงที่ผ่านมา รัฐบาลจะถูกวิพากษ์วิจารณ์ยกใหญ่ เกี่ยวกับความเหมาะสมตั้งคนใกล้ชิดไม่มีความรู้

แม้ว่าช่วงที่ผ่านมา รัฐบาลจะถูกวิพากษ์วิจารณ์ยกใหญ่ เกี่ยวกับความเหมาะสมตั้งคนใกล้ชิดไม่มีความรู้

โดย...เกียรติศักดิ์ ผิวเกลี้ยง

แม้ว่าช่วงที่ผ่านมา รัฐบาลจะถูกวิพากษ์วิจารณ์ยกใหญ่ เกี่ยวกับความเหมาะสมตั้งคนใกล้ชิดไม่มีความรู้ ไม่มีความเหมาะสม เข้าไปกุมบังเหียนสถาบันการเงินรัฐแห่งต่างๆ จำนวนนับไม่ถ้วน

ไม่ว่าจะเป็นธนาคารกรุงไทย ที่ส่ง วีรภัทร ศรีไชยา ทนายความครอบครัวชินวัตร และอรุณภรณ์ ลิ่มสกุล อดีตผู้บริหารบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) มาเป็นกรรมการธนาคารกรุงไทย

การตั้ง พรรณี สถาวโรดม อดีตผู้บริหารคลังที่ใกล้ชิดกับ นิพัทธ พุกกะณะสุต ที่เป็นมือเป็นไม้ด้านเศรษฐกิจให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เข้ามาเป็นประธานธนาคารออมสิน ทั้งที่ตำแหน่งนี้โดยธรรมเนียมจะเป็นปลัดกระทรวงการคลัง หรือผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงการคลัง

นอกจาก พรรณี ยังมี นงลักษณ์ พินัยนิติศาสตร์ กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท ไทยคม และสันน์ เทพรักษ์ อดีตกงสุลใหญ่ สถานกงสุลไทย ณ เมืองดูไบ ซึ่งล้วนถูกมองว่าเป็นผลประโยชน์ต่างตอบแทนมากกว่าความเหมาะสม

เขย่าหัวแบงก์รัฐ ยึดถังเงินหว่านประชานิยม

 

หรือไม่ว่าจะเป็น เฉลิมชัย จีนะวิจารณะ สส.สอบตกของพรรคเพื่อไทย เป็นกรรมการธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือเอสเอ็มอีแบงก์ ซึ่งนอกจากไม่มีความเชี่ยวชาญด้านการเงิน ยังเสี่ยงขัดระเบียบของคลังเรื่องคุณสมบัติของการเป็นกรรมการต้องไม่เป็นคนการเมือง

อย่างไรก็ตาม เสียงคัดค้านไม่ทำให้รัฐบาลสะทกสะท้าน ยังเดินหน้าเข้าคุมการดำเนินงานและผลประโยชน์ในสถาบันการเงินของรัฐอย่างต่อเนื่อง

หลังจากคุมคณะกรรมการที่เป็นผู้กำหนดกำกับนโยบายได้อยู่หมัด คิวต่อไปเป็นการเข้าควบคุมฝ่ายบริหาร เปลี่ยนหัวเรือใหญ่ของสถาบันการเงินของรัฐต่างๆ ที่ไม่ใช่คนของตัวเอง หรือเป็นคนที่รัฐบาลเก่าตั้งไว้ให้พ้นจากเก้าอี้

ช่วงที่ผ่านมาจะมีข่าวรายวัน การตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการทำงานของกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารรัฐสำคัญๆ ที่เป็นเป้าหมายของฝ่ายการเมืองที่ต้องการเข้าไปคุมอำนาจฝ่ายบริหารให้อยู่ในกำมือ

เครื่องมือที่กระทรวงการคลังในฐานะผู้ดูแลธนาคารรัฐในการเชือดผู้บริหารระดับสูงก็คือ รายงานการตรวจสอบของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่กระทรวงการคลังเชิญให้มาทำ และรายงานเหล่านี้มักจะกลายเป็นเรื่องลับ แต่ขณะนี้รายงานผลการตรวจสอบธนาคารของรัฐทยอยหลุดออกมาเป็นระยะๆ

ที่เป็นข่าวร้อนคือ คลังตั้งคณะกรรมการสอบการทำงานของ ธีรศักดิ์ สุวรรณยศ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ไอแบงก์) ที่ปล่อยสินเชื่อจำนวนหลายรายเป็นเงินหลายพันล้านบาท ทำให้ธนาคารเกิดความเสียหาย

โดยฝ่ายการเมืองพยายามจะเปิดแผลว่า ธีรศักดิ์ปล่อยสินเชื่อไม่ชอบมาพากลให้กับนายการเมืองของพรรคประชาธิปัตย์ ที่เป็นคู่แข่งทางการเมืองสำคัญของรัฐบาล หวังเดินเกมบีบธีรศักดิ์ที่จะหมดวาระในกลางปีนี้ให้ออกจากตำแหน่งก่อนวาระ หรือไม่ได้รับการต่อวาระออกไปอีก 1 สมัย

ต่อคิวจากไอแบงก์ก็เป็นธนาคารออมสิน ที่เป็นเรื่องฮือฮาในวงการธนาคารรัฐ เพราะคลังมีการตั้งกรรมการสอบการทำงานของ เลอศักดิ์ จุลเทศ ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน หลังจากได้รับเรื่องร้องเรียนการแต่งตั้งไม่เป็นธรรม และบัตรสนเท่ห์ตั้งปมการปล่อยสินเชื่อมีปัญหา

ซึ่งกรณีของเลอศักดิ์ได้รับการแต่งตั้งจากพรรคประชาธิปัตย์ มีความสนิทสนมกับบิ๊กในพรรคภูมิใจไทย และในรัฐบาลนี้ก็สนิทสนมเป็นอันดีกับ กิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง ในฐานะศิษย์เก่าของธนาคารนครหลวงไทย

เลอศักดิ์ จะหมดวาระกลางปีนี้เช่นกัน และมีแนวโน้มว่าต้องการทำงานต่ออีก 1 วาระ จึงมีแผนสกัดเลอศักดิ์ โดยมีใบสั่งตรงจากพรรคเพื่อไทยให้กระทรวงการคลังกดดันเลอศักดิ์ออกจากตำแหน่งให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้

ดังนั้น การตั้งกรรมการสอบเลอศักดิ์จะมีมูลที่ค่อนข้างอ่อน เพราะเป็นเรื่องร้องเรียน และบัตรสนเท่ห์ และผลการตรวจสอบของ ธปท.ที่ตั้งข้อสังเกตว่าหนี้เสียของธนาคารออมสินต่ำเกินจริง อาจจะเกิดจากการแต่งบัญชีก็เป็นได้

แต่ฝ่ายบริหารก็ชี้แจงว่า หนี้ที่ ธปท.ตั้งข้อสังเกตไม่ได้เป็นหนี้เสีย แต่ดอกเบี้ยเงินกู้ปรับขึ้น ทำให้ลูกค้าจ่ายหนี้ต่องวดเป็นวงเงินเท่าเดิม แต่ก็ตัดเงินต้นน้อยลงเป็นดอกเบี้ยมากขึ้น แต่ลูกหนี้ยังชำระเงินต้นแม้จะชำระไม่ครบ ก็ไม่ควรจะนับเป็นหนี้เสีย

ถึงจะอธิบายให้เข้าใจง่ายๆ อย่างไร แต่ทางฝ่ายการเมืองก็ดูเหมือนจะไม่ยอมเข้าใจ

เหตุผลของการโหมโจมตี เลอศักดิ์ให้หลุดจากเก้าอี้ เป็นที่รู้กันดีว่าธนาคารออมสินเป็นขุนทรัพย์ขนาดใหญ่มีสินเชื่อสูงถึง 1 ล้านล้านบาท มีเงินฝากจำนวนมหาศาล 1.5 ล้านล้านบาท

ที่ผ่านมาธนาคารออมสินเป็นแขนขาสำคัญของรัฐบาลในการทำนโยบายประชานิยมลดแลกแจกแถม ไม่ว่าจะเป็นกองทุนหมู่บ้าน พักหนี้รายย่อยแก่หนี้นอกระบบ ธนาคารประชาชน ปล่อยกู้รากหญ้าพ่อค้าแม่ขาย หากได้ส่งคนของตัวเองจะเดินเครื่องนโยบายได้สะดวกโยธินมากกว่านี้

ถึงแม้ว่าเลอศักด์จะมีความสนิทกับ กิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง แต่นาทีนี้ กิตติรัตน์ต้องเหนื่อยเหมือนเข็นครกขึ้นภูเขา หากจะอุ้มเลอศักดิ์ให้อยู่อีก 1 สมัย

เพราะตอนนี้มีคนจำนวนมากวิ่งกันฝุ่นตลบ ทั้งจากพรรคเพื่อไทย บ้านจันทร์ส่องหล้า และเมืองดูใบ ที่จะอาสามาเป็นเบอร์หนึ่งธนาคารออมสินคนใหม่ สานนโยบายประชานิยมให้ไปสู่เป้าหมาย

สำหรับเอ็มดีแบงก์รัฐรายล่าสุด ที่ถูกแรงกดดันให้พ้นจากตำแหน่งคือ โสฬส สาครวิศว กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสเอ็มอีแบงก์ แม้ว่าจะเหลือวาระดำรงตำแหน่งถึง 2 ปีก็ตาม

โสฬส ถูกคณะกรรมการธนาคารกดดันเรื่องการแก้ไขหนี้มีปัญหาอย่างหนัก โดยถูกมองว่ามีการแก้ไขไม่เบ็ดเสร็จ แก้แล้วก็ยังเป็นหนี้เสียกลับมาใหม่

ทั้งที่หนี้เสียที่เกิดขึ้นไม่ได้เกิดสมัยโสฬส เป็นเบอร์หนึ่งแบงก์เอสเอ็มอี แต่เป็นหนี้ที่เกิดขึ้นสมัยรัฐบาลทักษิณ 1 ที่มีการเร่งปล่อยสร้างผลงานรัฐกันขนานใหญ่ ทำให้การปล่อยไม่รอบคอบเป็นหนี้เสียเรื้อรังมาถึงทุกวันนี้

ความพยายามกดดันโสฬส จึงถูกมองเป็นอื่นไม่ได้นอกจากต้องการให้พ้นจากตำแหน่ง เพราะการทำงานที่ผ่านมา การปล่อยสินเชื่อใหม่ไม่ได้เสียหาย หนี้เก่าก็พยายามแก้ไขอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม ฝ่ายการเมืองคงไม่ท้อง่ายๆ เพราะแบงก์เอสเอ็มอีถึงจะไม่ใหญ่เท่ากับธนาคารออมสิน แต่ที่ผ่านมาก็เป็นฐานสำคัญของนักการเมือง ในการปล่อยกู้กันเองในกลุ่มพวกพ้องฐานเสียง ซึ่งรัฐบาลก็ต้องยึดที่มั่นเอสเอ็มอีกลับมาสานนโยบายนี้อีกครั้ง

ทั้งหมดเป็นธนาคารรัฐกลุ่มสำคัญ ที่ฝ่ายการเมืองพุ่งเป้าไปที่การเปลี่ยนหัวเบอร์ 1 เพื่อให้คนของตัวเองเข้าไปนั่งคุมสานนโยบายทางการเมืองต่อให้เร็วที่สุด

สำหรับธนาคารรัฐอื่นๆ ที่ไม่ใช่เป้าหมายกลุ่มแรก ส่วนหนึ่งคนที่นั่งอยู่ก็ถือว่าเป็นสายเดียวกับรัฐบาลอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็น วรวิทย์ ชัยลิมปมนตรี กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ที่ใกล้ชิดกับ สส.บ้าน 111 ที่จะพ้นกลับมาเล่นการเมืองเต็มตัวได้อีกครั้งกลางปีนี้

นอกจากนี้ ยังมีธนาคารกรุงไทยอีก 1 แห่ง ที่น่าจับตามอง เพราะ อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ก็จะหมดวาระครบสมัยที่ 2 ในเดือน พ.ย.นี้เช่นกัน

ธนาคารกรุงไทยถือเป็นแขนเป็นขา และก็เป็นขุนทรัพย์ผลประโยชน์ของกลุ่มทุนการเมืองจำนวนมหาศาลอย่างมาก จนทำให้เกิดความเสียหายจำนวนมากเช่นกัน เห็นได้จากการฟ้องร้องหลายกรณีที่ดำเนินการอยู่

อย่างไรก็ตาม สมัยของอภิศักดิ์ต้องถือว่าอ่อนนอกแต่แข็งใน นโยบายการเมืองก็ไม่ปฏิเสธให้บัวช้ำน้ำขุ่น แต่การดำเนินการก็ไม่ได้ให้จนเกิดความเสียหายกับธนาคารเหมือนที่ผ่านมา ก่อนหน้านี้ที่จะเข้ามาดำรงตำแหน่ง อภิศักดิ์ จึงถูกมองว่าไม่สนองการเมืองได้มากอย่างที่ฝ่ายการเมืองต้องการ

ในช่วงนี้จึงมีคนหมายปองจ้องตาเป็นมันกับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการธนาคารกรุงไทย และมีการพยายามเสนอตัวกับฝ่ายการเมืองจำนวนมาก ไม่แพ้เป็นเบอร์หนึ่งธนาคารออมสิน

ขณะที่ฝ่ายการเมืองก็พยายามหาคนที่เป็นคนของพรรคอย่างแท้จริง เพราะธนาคารกรุงไทยในอนาคตจะมีบทบาทปล่อยสินเชื่อจำนวนมหาศาลฟื้นฟูเศรษฐกิจ ซึ่งหลีกไม่พ้นที่ฝ่ายการเมืองต้องคุมธนาคารแห่งนี้ให้มั่นใจได้ว่า การปล่อยสินเชื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจในอนาคตก็จะตกมาอยู่กลุ่มผลประโยชน์การเมืองของตัวเองให้มากที่สุด

มหกรรมเปลี่ยนเอ็มดีแบงก์รัฐ จึงเป็นเรื่องที่รัฐบาลเดินทั้งเกมรุก กดดัน เอาผิด สารพัดวิธี เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงตามแผนที่วางไว้ให้เร็วที่สุด

การเมืองในอนาคตยังมีความผันผวน นโยบายลดแลกแจกแถมที่ออกจากธนาคารรัฐลงไปถึงรากหญ้า ถือเป็นยาหอมที่รัฐบาลต้องการโปรยลงทุกหย่อมหญ้า รวมถึงผลประโยชน์ที่ต้องล็อกให้ตกอยู่กับพวกพ้องมากที่สุด

การเปลี่ยนหัวผู้นำองค์กรเป็นคนในสังกัดของตัวเอง ภารกิจเสร็จไปกว่าครึ่งแล้ว ทำให้รัฐเดินหน้าเขย่าเก้าอี้เอ็มดีธนาคารรัฐไม่หยุดหย่อนอย่างที่เห็นและเป็นอยู่