posttoday

ปรองดอง'ยิ่งลักษณ์' สัญญาณไฟขัดแย้งปี'55

02 มกราคม 2555

เริ่มศักราชใหม่ปีมะโรงไร้เหตุป่วนเมือง ทำให้บรรยากาศการฉลองท้ายปีเป็นไปด้วยความสุขชื่นมื่น

โดย...ทีมข่าวการเมือง

เริ่มศักราชใหม่ปีมะโรงไร้เหตุป่วนเมือง ทำให้บรรยากาศการฉลองท้ายปีเป็นไปด้วยความสุขชื่นมื่น

คำอวยพรสารพัดให้ประสบสุข ดำเนินชีวิตไม่ประมาท สร้างความสุขให้ฟื้นขึ้น หลังเกิดฝันร้ายจากเหตุน้ำท่วมใหญ่ในปี 2554

แต่หลายฝ่ายก็ยังกังวลกับความเสี่ยงการเมืองในปีงูใหญ่ 2555

ประเทศไทยยังคงอยู่บนทางสองแพร่งระหว่างคำว่า “ปรองดอง” กับ “ขัดแย้ง” ด้วยปมร้อนที่ขับเคลื่อนกันอยู่

ทิศทางประเทศจะเป็นอย่างไร สำคัญที่ตัวผู้นำที่มีบทบาทหลักในการกำหนดเกม

นายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กล่าวในรายการประจำวันเสาร์ล่าสุดถึงสิ่งที่รัฐบาลจะทำในปี 2555 ว่า จะเร่งแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจและทำเรื่องปรองดองของคนในชาติควบคู่ไป เนื่องจากเห็นโอกาสเอื้ออำนวย จากคนในชาติที่อยากเห็นความปรองดอง

ปรองดอง'ยิ่งลักษณ์' สัญญาณไฟขัดแย้งปี'55

“หลักการปรองดองควบคู่กับประชาธิปไตย ต้องฟังความคิดเห็นจากประชาชน และทำอย่างไรเป็นประโยชน์กับส่วนรวม เสมอภาคทุกคนและเป็นไปตามแนวทางนิติรัฐ”

การปรองดองจะทำควบคู่กับการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ นี่คือ สิ่งที่นายกฯ ยิ่งลักษณ์ ย้ำเช่นเดียวกับ บรรหาร ศิลปอาชา “บิ๊กเติ้ง” ของพรรคชาติไทยพัฒนาบอกความในใจอยากเห็นความปรองดอง ประเทศจะได้เกิดความสงบสุขเสียที ทหารจะได้ไม่เข้ามายุ่งเกี่ยวอีก และไม่ควรแก้กฎหมายหมิ่นสถาบัน ในมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา เพราะจะเป็นการก่อหวอด ปลุกกระแสความขัดแย้งขึ้น

การปรองดองเป็นสิ่งที่สังคมไทยอยากเห็นมากที่สุด ไม่ว่าผลสำรวจของโพลสำนักไหนก็ตรงกันที่ไม่อยากเห็นคนไทยต้องมาฆ่ากัน หรือเกิดเหตุการณ์รุนแรงแบบม็อบแดง ม็อบเหลือง และถ้าจะให้สลายสีเสื้อได้ก็คงดี แม้จะเป็นไปได้ยากเพราะต้องใช้เวลา หากแต่ถ้าจะขัดแย้งก็ควรมีอารยะ ไม่ใช้ความรุนแรง

พรรคเพื่อไทย ยิ่งลักษณ์ ได้ประกาศนโยบายระหว่างหาเสียงว่า จะนำสังคมไทยเข้าสู่การปรองดอง ยุติความขัดแย้ง พร้อมกับจะเดินหน้านิรโทษกรรมทุกคดีความหลังการรัฐประหาร 19 ก.ย. 2549 เป็นต้นมา

เช่นเดียวกับพรรคชาติไทยพัฒนาที่เสนอตัวเป็นพรรคทางเลือก ใช้สีชมพูเป็นสัญลักษณ์ของนโยบายปรองดอง ไม่เอาทั้งเหลืองและแดง

แต่สูตรการปรองดองมีหลายรูปแบบ และมองกันคนละมุม

ฝ่ายเพื่อไทยและทักษิณเห็นว่า หัวใจสำคัญต้องมีการนิรโทษกรรมคดีทุจริตที่ดินรัชดาของทักษิณ ที่ถูกศาลฎีกาจำคุก 2 ปี คืนเงินที่ถูกศาลยึดทรัพย์ 4.6 หมื่นล้านบาท รวมถึงคดีเกี่ยวเนื่องอื่น เช่น คดีก่อการร้ายของแกนนำเสื้อแดงที่ตกเป็นจำเลย พ่วงไปถึงคดีแกนนำเสื้อเหลืองยึดสนามบินเพื่อความเท่าเทียม

ความพยายามเร่งช่วยเหลือทักษิณที่ชัดเจนที่สุดคือ การออก พ.ร.ฎ.ขอพระราชทานอภัยโทษในช่วงเดือน พ.ย. ที่พ่วงสเปกผู้ต้องโทษทักษิณเข้าไปด้วย

ส่วนฝ่ายคัดค้านรับได้ให้มีการนิรโทษกรรม เว้นอย่างเดียวห้ามนิรโทษคดีทุจริตของทักษิณ จนเกิดเป็นขบวนการ “เครือข่ายพลเมืองคัดค้านนิรโทษกรรมคอร์รัปชันทักษิณ” (คนท.) นำโดย แก้วสรร อติโพธิ และ นพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์

ประเด็นการปรองดองจึงเคลื่อนไปที่สองเรื่องใหญ่คือ ยอมให้นิรโทษกรรมทักษิณหรือไม่รวมทักษิณ แต่ใต้ร่มธงปรองดองก็มีความเคลื่อนไหวที่ออกนอกขบวนและอาจกระทบต่อการสร้างความปรองดอง เช่น การแก้ไขรัฐธรรมนูญ การเข้าชื่อแก้กฎหมายหมิ่นสถาบันที่ร้อนแรงขณะนี้

ซึ่งตัวละครหลักที่ร่วมเคลื่อนไหวครึกโครมก็ล้วนอยู่ฝ่ายเพื่อไทยและเสื้อแดง ทั้งนักการเมือง แกนนำม็อบ นักวิชาการ และเหล่าปัญญาชนฝ่ายซ้าย

เงื่อนไขที่ทำให้เกิดการปรองดองอย่างที่ยิ่งลักษณ์ และบรรหาร อยากเห็นในปี 2555 จึงอยู่ที่ฝ่ายรัฐบาลและเครือข่ายที่สนับสนุนรัฐบาล หากต้องการปรองดองจริง ไม่อยากให้สังคมขัดแย้ง ลดการเผชิญหน้าก็ต้องลดปมร้อนเหล่านี้

คำถามคือ รัฐบาลจะยอมหรือไม่...ก็คงยาก

เพราะเกือบ 5 เดือนของรัฐบาล พิสูจน์ได้ชัดแล้วว่า มีเป้าหมายเพื่อช่วยเหลือคดีความของทักษิณเรียกได้ว่า ถ้ากะพริบตาเมื่อไร นายใหญ่อาจปลดล็อกคดีทุจริตเรียบร้อยเหมือนที่เกิดขึ้นจากการออก พ.ร.ฎ.อภัยโทษ

และทุกครั้งที่มีการช่วยเหลือครอบครัวชินวัตร ภายใต้รัฐบาลนี้ไม่ว่าการออกพาสปอร์ตให้ทักษิณ อัยการสูงสุดไม่ยื่นฎีกาต่อศาลให้พิจารณาคดีการเลี่ยงภาษีหุ้นบริษัท ชินวัตร คอมพิวเตอร์ฯ หลังศาลอุทธรณ์ยกฟ้อง คุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชร

นายกฯ ยิ่งลักษณ์ ก็ชี้แจงว่า ทุกอย่างอยู่ภายใต้หลักนิติรัฐ นิติธรรม ความเสมอภาค จนสะท้อนฉายา “นายกฯ นกแก้ว” ที่สื่อทำเนียบรัฐบาลตั้งให้เพราะ “ท่องแต่สคริปต์”

เมื่อนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ประกาศว่า ปีนี้จะแก้ปัญหาเศรษฐกิจควบคู่กับการเร่งสร้างความปรองดองก็ตอกย้ำว่า รัฐบาลจะเร่งเดินหน้าวาระทางการเมืองใหญ่อย่างที่กลุ่มรัฐบาลขับเคลื่อนอยู่

ทั้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญ การเร่งตำรวจ อัยการให้ส่งฟ้องคดีกระชับพื้นที่เสื้อแดง เพื่อเอาผิด อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และสุเทพ เทือกสุบรรณ เพื่อเป็นตัวประกันในเกมล้างบางนิรโทษกรรม

หากการทำภารกิจในวาระร้อนเหล่านี้เป็นไปเพื่อกลุ่ม หรือคนคนเดียวก็ไม่ต้องพูดถึงเรื่องการปรองดอง แต่เป็นการจุดไฟให้ลุกฮือขึ้นมา

เงื่อนไขให้การเกิดการปรองดองได้ จึงอยู่ที่รัฐบาลที่ต้องลดข้อครหาว่าทำเพื่อพวกตน

แต่คงยากเมื่อนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ยังหนีไม่พ้นการครอบงำของทักษิณ...