posttoday

รอยร้าว พท.-กองทัพ ย้าย ประยุทธ์ เสี่ยงปฏิวัติ

07 ตุลาคม 2554

ปกติความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลพรรคเพื่อไทยกับกองทัพ ก็ไม่สู้ดีอยู่แล้ว เพราะถือว่าเป็นคนละขั้วอำนาจ

ปกติความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลพรรคเพื่อไทยกับกองทัพ ก็ไม่สู้ดีอยู่แล้ว เพราะถือว่าเป็นคนละขั้วอำนาจ

โดย...วาสนา นาน่วม

ปกติความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลพรรคเพื่อไทยกับกองทัพ ก็ไม่สู้ดีอยู่แล้ว เพราะถือว่าเป็นคนละขั้วอำนาจ

การที่พรรคเพื่อไทยจะยื่นแก้ไข พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม ปี 2551 ซึ่งเป็นมรดกของคณะปฏิวัติ อาจส่งผลให้เกิดความขัดแย้งมากขึ้น เพราะฝ่ายกองทัพไม่ต้องการให้แก้ไข เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องดีอยู่แล้วที่ให้กองทัพดูแลกันเอง

ผลพวงจากการแต่งตั้งโยกย้ายนายพล 584 ตำแหน่งล่าสุด ที่ฝ่ายรัฐบาลไม่สามารถเข้าไปมีส่วนจัดวางตัวนายทหารในกองทัพ เนื่องจาก พ.ร.บ.กลาโหมฉบับนี้ ได้ลดอำนาจ รมว.กลาโหม ซึ่งเป็นตัวแทนของฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายการเมือง ในการโยกย้ายทหาร โดยมาตรา 25 กำหนดให้ใช้คณะกรรมการในการพิจารณาการโยกย้าย ประกอบด้วย 7 คน คือ รมว.กลาโหม รมช.กลาโหม ผบ.สส. ผบ.ทบ. ผบ.ทร. ผบ.ทอ. และปลัดกลาโหม

แต่เนื่องจากไม่ค่อยมีการตั้ง รมช.กลาโหม จึงมีคณะกรรมการแค่ 6 เสือกลาโหม เท่านั้น

ที่สำคัญ ในฐานะที่เป็นประธาน คณะกรรมการ รมว.กลาโหม มักจะไม่ออกเสียงเมื่อต้องมีการโหวตลงคะแนนใน ผบ.เหล่าทัพ แต่หากเสียงก้ำกึ่ง ตกลงกันไม่ได้ ก็ให้ รมว.กลาโหม ในฐานะประธานเป็นคนชี้ขาดตัดสินใจ

กระนั้นที่ผ่านมา ผบ.เหล่าทัพมีความเป็นเอกภาพ ทำให้รวมคะแนนเสียงได้มากกว่าฝ่ายการเมือง หรือ รมว.กลาโหม

นี่คือเป้าหมายหลักสำคัญของ พ.ร.บ.กลาโหม ที่รัฐบาลของ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ที่เกิดขึ้นหลังการปฏิวัติได้ร่างเอาไว้ โดยมี พล.อ.บุญรอด สมทัศน์ เป็น รมว.กลาโหม และนายทหารในสาย คมช. ร่วมกันยกร่างขึ้นมาเพื่อต้องการให้ พ.ร.บ.กลาโหมนี้เป็น เกราะกำบัง ไม่ให้การเมืองแทรกแซงการโยกย้ายนายทหาร

รอยร้าว พท.-กองทัพ ย้าย ประยุทธ์ เสี่ยงปฏิวัติ

แต่ด้วยบทบาทของกองทัพ ภายใต้การนำของ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ในช่วงที่เป็น ผบ.ทบ. เรื่อยมาจนถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็น ผบ.ทบ. ที่สนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์ ใช้อาวุธปราบปรามคนเสื้อแดง จนมีการสูญเสียจำนวนมาก ส่งผลให้พรรคเพื่อไทยและคนเสื้อแดงต้องการให้มีการจัดวางกองทัพใหม่ ให้เป็นทหารอาชีพไม่ยุ่งการเมือง

ทว่า พ.ร.บ.กลาโหมฉบับนี้กลายเป็นอุปสรรค ก้างขวางคอ ไม่ให้ฝ่ายการเมืองเข้าแทรกแซงการโยกย้าย จนมีแนวคิดในการแก้ไข เพื่อให้ รมว.กลาโหม กลับมามีอำนาจสูงสุดในการโยกย้ายทหารตามเดิม ไม่ใช่ในรูปของคณะกรรมการฯ

พล.อ.จงศักดิ์ พานิชกุล ที่ปรึกษา รมว.กลาโหม บอกว่า “เราไม่ต้องการให้เกิดความขัดแย้ง ก็ปล่อยให้เป็นเรื่องของพรรคเพื่อไทยทำเรื่องนี้ พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รมว.กลาโหม จะไม่ดำเนินการในเรื่องนี้”

“เราก็รู้ว่า กองทัพไม่ต้องการแก้ไข พ.ร.บ.กลาโหม ทำไปก็ขัดแย้ง แล้วไม่ใช่เรื่องง่ายด้วยที่จะแก้ไขได้ แต่ในเมื่อพรรคเพื่อไทยต้องการแก้ไข ก็ปล่อยให้เป็นเรื่องของพรรค เพราะกระบวนการแก้ไขต้องเข้าสภาอยู่แล้ว”

พล.อ.จงศักดิ์ ยังระบุว่า มีกฎหมายหลายฉบับที่ออกมาในยุคคณะปฏิวัติ 19 ก.ย. 2549 ของ คมช. ซึ่งควรจะแก้ไข รวมทั้ง พ.ร.บ.กลาโหมด้วย

“ผมมองว่า อาจเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการที่รัฐบาลตั้งขึ้น ซึ่งมี อุกฤษ มงคลนาวิน เป็นประธาน ที่จะแก้ไขกฎหมายของคณะปฏิวัติทั้งหมด”

หลังการโยกย้ายทหารครั้งนี้ ซึ่งกองทัพยังคงแข็งแกร่ง โดยที่ พล.อ.ยุทธศักดิ์ ไม่สามารถต่อรองใดๆ ได้ส่งผลให้นายทหารในพรรคเพื่อไทยและคนเสื้อแดงไม่พอใจบทบาทหน้าที่ของ พล.อ.ยุทธศักดิ์ จนเกิดกระแสเรียกร้องให้เปลี่ยน รมว.กลาโหม และแก้ไข พ.ร.บ.กลาโหมฉบับนี้

ผลที่ปรากฏ คือ นายทหารที่เป็น บูรพาพยัคฆ์ ที่โตจากกองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ และ ทหารเสือราชินี ที่โตจากกรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ ได้ขยับคุมกำลังสำคัญกันแบบยกแผง เช่นเดียวกับเพื่อนร่วมรุ่นเตรียมทหาร 12 ของ พล.อ.ประยุทธ์ ก็ขึ้นมาเป็นแผง รวมถึง พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร เพื่อน ตท.12 ก็ได้เป็น ผบ.สส. อีกด้วย

ไม่แปลกที่กองทัพจะพอใจกับ พ.ร.บ.กลาโหมฉบับนี้ และไม่ต้องการให้แก้ไข

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ อดีต รมว.กลาโหม ก็ออกมาต้านการแก้ไข พ.ร.บ.ฉบับนี้ เพราะเห็นว่าเป็นกฎหมายที่ดีที่ให้กองทัพดูแลกันเอง

ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ ออกแนวแข็งกร้าว ถึงขั้นประกาศว่า “อย่ากดดันทหาร ควรให้เกียรติทหารในการดูแล จัดการกันเอง คนที่ไม่เกี่ยวข้องในการโยกย้ายตาม พ.ร.บ.ก็ไม่น่าเข้ามาเกี่ยวข้อง ที่สำคัญ พ.ร.บ.กลาโหมนี้ผมไม่ได้ต้องการเอาไว้ต่อสู้กับฝ่ายการเมือง เพราะเรายึดหลักคุยกันด้วยเหตุผลมากกว่า และเพื่อให้เกิดความเป็นธรรม”

อย่างไรก็ตาม กองทัพมองว่า การที่พรรคเพื่อไทยจะแก้ พ.ร.บ.นี้เพื่อต้องการโยกย้าย พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งมีอายุราชการถึงปี 2557 ออกจากเก้าอี้ ผบ.ทบ. ในการโยกย้ายปลายปีหน้า ส่วน พล.อ.ประยุทธ์ ก็ต้องการใช้ พ.ร.บ.ฉบับนี้ปกป้องตัวเองจากการถูกเด้ง และคุ้มครองลูกน้องที่เกี่ยวข้องกับการปราบม็อบเสื้อแดง

“ถ้าผมไม่ทำประโยชน์ ก็ย้ายผมได้ แล้วผมทำประโยชน์หรือเปล่าล่ะ ผมทำดีหรือไม่ ผมนำพากองทัพดีหรือไม่ กองทัพอ่อนแอหรือเปล่า ถ้าหากทำให้กองทัพอ่อนแอ ก็คงต้องโดนลงโทษ แต่ผมคิดว่ากองทัพก็ยังเข้มแข็งอยู่ในการทำงาน ทำหน้าที่” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว เมื่อถูกถามว่า หากไม่มี พ.ร.บ.กลาโหมนี้ อาจจะมีการย้าย ผบ.ทบ.

การแก้ไข พ.ร.บ.กลาโหม จึงจะเป็นเงื่อนไขที่จะเพิ่มความขัดแย้งระหว่างกองทัพกับรัฐบาลพรรคเพื่อไทยมากขึ้น ยิ่งหากฝ่ายกองทัพมองว่า ฝ่ายการเมืองเข้ามาแก้ พ.ร.บ.กลาโหม เพื่อที่จะเข้ามาแทรกแซงกองทัพหวังย้าย ผบ.ทบ. เมื่อนั้นก็จะเสี่ยงต่อความขัดแย้งที่อาจสูง ถึงขั้นเกิดการปฏิวัติรัฐประหาร โดยเฉพาะหากปลายปีหน้า รัฐบาลยิ่งลักษณ์เผชิญกับวิกฤตศรัทธาหรือปัญหาต่างๆ หนักหนาขึ้น

การแก้ไข พ.ร.บ.กลาโหมนี้ จึงเป็นเรื่องที่อ่อนไหวและเปราะบางอย่างยิ่ง...