posttoday

น้ำมันโลกขาลงเศรษฐกิจโลกซบ-วิกฤตลิเบียใกล้ยุติ

23 สิงหาคม 2554

นับเป็นชัยชนะที่ทั่วโลกต่างจับตามองด้วยใจระทึก หลังจากที่ฝ่ายต่อต้าน พ.อ.โมอัมมาร์ กัดดาฟี

นับเป็นชัยชนะที่ทั่วโลกต่างจับตามองด้วยใจระทึก หลังจากที่ฝ่ายต่อต้าน พ.อ.โมอัมมาร์ กัดดาฟี

โดย...ทีมข่าวต่างประเทศ

นับเป็นชัยชนะที่ทั่วโลกต่างจับตามองด้วยใจระทึก หลังจากที่ฝ่ายต่อต้าน พ.อ.โมอัมมาร์ กัดดาฟี ซึ่งปกครองประเทศลิเบียมาอย่างยาวนาน 42 ปี สามารถเข้าครองกรุงตริโปลี ฐานที่มั่นสุดท้ายของกัดดาฟีได้อย่างเกือบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด

เพราะแม้จะเป็นประเทศเล็กๆ ที่มีพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นทะเลทราย แต่ลิเบียถือเป็นหนึ่งในประเทศผู้ผลิตและผู้ส่งออกน้ำมันดิบชั้นนำของโลก ด้วยกำลังการผลิตที่สูงถึง 1.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน หรือคิดเป็น 2% ของปริมาณน้ำมันที่ผลิตป้อนสู่ตลาด และเป็นแหล่งที่มีปริมาณน้ำมันดิบสำรองที่ใหญ่ที่สุดในทวีปแอฟริกา

นอกจากนี้ น้ำมันดิบของลิเบียยังมีคุณภาพสูง โดยสามารถนำมาใช้ผลิตเป็นน้ำมันเบนซิน ดีเซล และน้ำมันสำหรับเครื่องบินได้ เพราะมีสารซัลเฟอร์ผสมอยู่น้อยมากเมื่อเทียบกับน้ำมันที่ส่งมาจากซาอุดีอาระเบีย ทำให้น้ำมันของลิเบียเป็นที่ต้องการอย่างมากในตลาดยุโรปและเอเชีย

หากยังจำกันได้ ในช่วงที่ลิเบียเกิดการต่อสู้รุนแรงจนต้องหยุดการผลิตและการส่งออกน้ำมันนั้น ตลาดโลกต้องพบกับความโกลาหลครั้งใหญ่ ราคาน้ำมันดิบในตลาดสหรัฐซึ่งอยู่ที่ 84 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล พุ่งขึ้นอย่างรวดเร็วจนไปอยู่ในราคาที่มากกว่า 110 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลในช่วงปลายเดือน เม.ย. ขณะที่น้ำมันดิบเบรนต์ในยุโรปปรับสูงขึ้นมากกว่า 120 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล โดยมีความต้องการใช้น้ำมันในตลาดประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่อย่างจีน เป็นปัจจัยหนุนให้ราคาน้ำมันในตลาดโลกเพิ่มมากขึ้น

น้ำมันโลกขาลงเศรษฐกิจโลกซบ-วิกฤตลิเบียใกล้ยุติ

ราคาน้ำมันที่แพงขึ้นจึงกลายเป็นความท้าทายยิ่งใหญ่สำหรับเศรษฐกิจของหลายๆ ประเทศ ที่ต้องพึ่งพาการบริโภคพลังงานเพื่อช่วยในการฟื้นตัว

ดังนั้น เมื่อความวุ่นวายที่ยืดเยื้อมาเป็นเวลานานถึง 6 เดือนมีทีท่าว่าจะยุติลง ตลาดน้ำมันโลกจึงมีท่าทีที่ผ่อนคลายมากขึ้น เพราะเริ่มมั่นใจว่า ลิเบียจะสามารถกลับมาผลิตน้ำมันป้อนตลาดได้อีกครั้งภายในไม่กี่เดือนข้างหน้านี้ โดยราคาน้ำมันดิบเบรนต์ปรับตัวลดลงถึง 3.22 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล โดยมีราคาขายอยู่ที่ 105.40 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล

อย่างไรก็ตาม ในสายตาของนักวิเคราะห์และผู้เชี่ยวชาญ ราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ลดลงไม่ใช่เรื่องที่น่ายินดีเท่าไรนัก

เพราะราคาน้ำมันในตลาดโลกในปัจจุบันนี้มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว ซึ่งราคาน้ำมันดิบเบรนต์ลดลง 14% นับตั้งแต่ต้นเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา โดยปัจจัยหลักที่ทำให้ราคาน้ำมันในตลาดโลกลดลงก็เพราะปริมาณความต้องการใช้ลดลง โดยมีสาเหตุหลักๆ อยู่ที่ภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอการเติบโตเป็นหลักใหญ่ และกรณีของลิเบียเป็นเพียงปัจจัยเสริมอีกตัวหนึ่งที่ทำให้ราคาน้ำมันลดลงเท่านั้น

ทั้งนี้ ก่อนหน้าข่าวดีเรื่องชัยชนะของกลุ่มกบฏลิเบียเพียงไม่กี่สัปดาห์ ทางกลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมันเพื่อการส่งออก (โอเปก) ได้ออกมาปรับลดค่าความต้องการน้ำมันในตลาดโลกลง โดยในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2554 นี้ ความต้องการน้ำมันจะอยู่ที่ 88.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน ลดลงจากการคาดการณ์ก่อนหน้าที่ 88.18 ล้านบาร์เรลต่อวัน

ขณะที่ในปี 2555 โอเปกคาดการณ์ว่าความต้องการน้ำมันจะเพิ่มขึ้น 1.5% มาอยู่ที่ 89.44 ล้านบาร์เรลต่อวัน แต่ก็ยังน้อยกว่าปริมาณที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ 89.50 ล้านบาร์เรลต่อวัน

สาเหตุหลักที่ทำให้กลุ่มโอเปก กลุ่มที่มีบทบาทสำคัญในการผลิตน้ำมันราว 40% ป้อนตลาดโลกต้องออกมาปรับลดค่าการคาดการณ์ในครั้งนี้ ก็เพราะว่าสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันที่ประเทศพัฒนาแล้วอย่างสหรัฐและยุโรป ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากปัญหาหนี้สุมท่วมหัว และอัตราการว่างงานที่สูงลิ่ว ขณะที่บรรดาประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ในเอเชียอย่างจีน ก็ต้องคุมเงินเฟ้อจนส่งผลกระทบต่อภาคการผลิต

สัญญาณข้างต้นล้วนบ่งชี้ให้กลุ่มโอเปกและนักวิเคราะห์หลายสำนักเริ่มมองเห็นทิศทางของเศรษฐกิจโลกในอนาคตที่มีแนวโน้มซบเซา ซึ่งตัวเลขผลประกอบการของกิจกรรมในภาคอุตสาหกรรมต่างก็เริ่มแสดงอาการชะลอตัวให้เห็นบ้างแล้ว

ทั้งนี้ แม้ว่าในช่วงที่เกิดเหตุความวุ่นวายและความไม่สงบในภูมิภาคตะวันออกกลางและทางตอนเหนือของแอฟริกา จะทำให้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกพุ่งสูงขึ้น เนื่องจากความกังวลต่อปริมาณการผลิตน้ำมันที่จะป้อนเข้าสู่ตลาด จนทำให้โอเปกจำต้องปรับเพิ่มกำลังการผลิตให้มากขึ้นถึง 4 แสนบาร์เรล มาอยู่ที่ 30.07 ล้านบาร์เรลต่อวัน เมื่อเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา เพื่อทดแทนปริมาณการผลิตจากลิเบีย อิรัก อิหร่าน และไนจีเรีย

แต่ทว่าปริมาณการผลิตที่เพิ่มขึ้นดังกล่าวกลับน้อยกว่าเกณฑ์เฉลี่ยที่กลุ่มประเทศโอเปกคาดการณ์ว่าจะต้องผลิตในไตรมาส 3 ของปีนี้เกือบ 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน จนทำให้เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาโอเปกต้องลดปริมาณการส่งออกน้ำมันไปสหรัฐและยุโรปลงอีก 0.5% จาก 22.75 ล้านบาร์เรลต่อวันมาอยู่ที่ 22.63 ล้านบาร์เรลต่อวันอีกครั้ง

ประกอบกับตัวเลขทางเศรษฐกิจล่าสุด เช่น ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ในไตรมาส 2 ของปี ทั้งสหรัฐ (1.3%) เยอรมนี (0.1%) และฝรั่งเศส (0%) ซึ่งล้วนเป็นประเทศยักษ์ใหญ่ทางเศรษฐกิจของโลก ยังอยู่ในระดับที่ต่ำจนแทบจะเรียกได้ว่าไม่มีการเติบโตเลย ยิ่งทำให้บรรดาบริษัทห้างร้านทั่วโลกต่างชะลอกิจกรรมทางเศรษฐกิจของตนเองลง เนื่องจากยักษ์ใหญ่ของโลกเริ่มส่งสัญญาณชะลอตัวแล้ว

ทั้งนี้ เมื่อต้องตกอยู่ในสภาพเศรษฐกิจโลกที่ผันผวนเอาแน่เอานอนไม่ได้ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่เหล่าประเทศต่างๆ จะลดความต้องการใช้น้ำมัน จนทำให้โอเปกต้องปรับลดการคาดการณ์ตามไปด้วย

ดังนั้นแล้วในสายตาของนักวิเคราะห์และนักลงทุน ราคาน้ำมันที่ลดลงจึงไม่ใช่เรื่องที่น่ายินดีนัก เพราะเป็นสัญญาณการชะลอการเติบโตของเศรษฐกิจที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

อย่างไรก็ตาม เมื่อมีคนเสียประโยชน์ก็ย่อมต้องมีคนได้ประโยชน์ และคนที่ได้ประโยชน์จากราคาน้ำมันที่ลดลงไปเต็มๆ ก็คือประเทศที่ต้องพึ่งพาน้ำมันเพื่อกระตุ้นการผลิตและการบริโภคอย่าง สหรัฐและยุโรป

ราคาน้ำมันที่สูงขึ้นก่อนหน้านี้ ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ฉุดภาคการบริโภคและภาคการผลิตอันเป็นฐานสำคัญทางเศรษฐกิจของทั้งสหรัฐและยุโรป เนื่องจากราคาน้ำมันที่แพงขึ้นทำให้ผู้บริโภคประหยัด งดการใช้จ่าย สินค้าที่ผลิตออกมาจึงขายไม่ได้ ร้อนถึงผู้ผลิตที่ต้องชะลอการลงทุน จนยิ่งซ้ำเติมเศรษฐกิจที่ชะลออยู่แล้ว ให้ชะลอหนักข้อขึ้นไปอีก

การผ่อนคลายความกังวลของตลาดที่มีต่อการสู้รบในลิเบีย จึงเป็นเรื่องที่น่ายินดีไม่น้อย สำหรับการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐและยุโรปในช่วงนี้

กระนั้น นักวิเคราะห์ทั้งหลายต่างเห็นพ้องต้องกันว่า ยังเร็วเกินไปที่จะดีใจ เนื่องจากลิเบียต้องใช้เวลาอย่างน้อย 2 เดือนกว่าที่จะกลับมาผลิตให้ได้ประมาณ 5 แสนบาร์เรลต่อวัน

ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญด้านน้ำมันในลิเบียยอมรับว่า ปริมาณดังกล่าวเพียงพอที่จะใช้ภายในประเทศเท่านั้น ไม่ใช่สำหรับการส่งออกและอาจจะต้องใช้เวลานานอีกหลายเดือนสำหรับเพิ่มปริมาณการผลิต เพราะต้องประเมินและฟื้นฟูความเสียหายที่ได้รับจากเหตุการณ์ความไม่สงบที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม หากราคาน้ำมันยังคงปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง บรรดารัฐบาลในสหรัฐและยุโรปคงสามารถผ่อนคลายความกดดันลงมาได้เปลาะหนึ่ง เป็นช่วงเว้นพักก่อนที่จะเดินหน้าหามาตรการแก้ไขภาวะเศรษฐกิจถดถอยต่อไป